เรื่องที่ 21 : พายุฝนฤดูร้อน - ทั้งลมพายุ ฝนตก ฟ้าผ่า และลูกเห็บเกิดในคราวเดียวกัน ประกันภัยคุ้มครองอย่างไร?
(ตอนที่ 1)
ช่วงนี้ เรามักจะพบเห็นข่าวพายุฝนฤดูร้อนสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเหตุการณ์พายุฝนฤดูร้อนนั้น มิได้เกิดแค่เพียงลมพายุ กับน้ำฝนเท่านั้น บางครั้งยังมีฟ้าผ่า ลูกเห็บตก ป้ายโฆษณาล้มทับ ต้นไม้หักโค่น ฯ เหล่านี้ ประกันภัยสามารถให้ความคุ้มครองเหตุการณ์ทั้งหมดหรือไม่? หรือจำต้องแยกแยะเป็นแต่ละภัยไป
กรณีเมื่อมีเหตุแห่งความเสียหายเกี่ยวข้องกับภัยต่าง ๆ ในคราวเดียวกัน บริษัทประกันภัยจะอาศัยหลักการประกันภัยที่เรียกว่า "หลักสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause)" ในการพิจารณา ซึ่งคล้ายคลึงกับที่คนทั่วไปใช้หลัก "เหตุ" และ "ผล" นั่นเอง
ดังนั้น ก่อนจะค้นหาคำตอบ จำต้องมาทำความเข้าใจถึงหลักสาเหตุใกล้ชิดนี้เสียก่อน
เวลามีภัยเดียวก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น การพิจารณาจะง่ายมาก เช่น ไฟไหม้บ้าน ภัย หรือเหตุที่สร้างความเสียหายในที่นี้ คือ ไฟไหม้ ส่วนผลของความเสียหาย ก็คือ บ้านถูกไฟไหม้ แต่บางครั้ง ในความเป็นจริง ยังมีภัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก ก็จะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นต้นว่า ขณะไฟกำลังไหม้บ้านอยู่นั้น มีพนักงานดับเพลิงใช้น้ำดับไฟ พนักงานบางคนก็ทำการทุบผนังบางส่วน เพื่อเข้าไปดับไฟได้สะดวก หรือเพื่อกันไม่ให้ไฟลุกลามไป เจ้าของบ้านก็ขนทรัพย์สินของตนเองออกมากองไว้นอกบ้าน ส่งผลทำให้ทรัพย์สินบางชิ้นแตกหักเสียหายจากการขน บางชิ้นถูกคนร้ายขโมยไป เหล่านี้ ถ้าบ้านของผู้เอาประกันภัยทำประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครองไฟไหม้เอาไว้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวทั้งหมดแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านหลังนี้ จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่? หรือจะได้รับความคุ้มครองเฉพาะที่ถูกไฟไหม้เท่านั้น
ถ้าคำตอบออกมาว่า คุ้มครองเฉพาะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งถูกไฟไหม้เท่านั้น คุณจะยอมรับได้หรือไม่? คุณจะคิดว่าเป็นธรรมแล้วหรือยัง? ในเมื่อกรมธรรม์ประกันภัยก็เขียนไว้ว่า จะคุ้มครองเพียงไฟไหม้เท่านั้น ไม่ได้ระบุเลยว่า คุ้มครองรวมถึงการเปียกน้ำจากการเข้าไปดับเพลิง การรื้อทำลายผนังบ้านโดยเจตนา การแตกหักจากการโยน หรือการถูกลักขโมย
ครั้นมามองอีกมุมในเรื่องของเหตุและผล ทุกอย่างล้วนมีที่มาจากจุดเดียวกัน คือ ไฟไหม้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของหลักสาเหตุใกล้ชิดของประกันภัยด้วย
ในหลักการประกันภัยทั้งหกข้อ หลักสาเหตุใกล้ชิดมักเป็นหลักข้อสุดท้าย อาจเป็นเพราะเข้าใจค่อนข้างยากหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะตนเองก็รู้สึกว่า ค่อนข้างยากเวลาเมื่อจะต้องพิจารณาตีความ โชคดีที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานด้านวิชาการ จึงพยายามศึกษา ค้นคว้า รวบรวม และทำความเข้าใจ จนพอสรุปเป็นหลักการที่สำคัญได้สองประการ ดังนี้
ประการแรก
ภัยหลายภัย หรือเหตุหลายเหตุในหนึ่งเหตุการณ์นั้น จะประกอบด้วย 3 ภัย ดังนี้
1.1) ภัยที่คุ้มครองตามที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย แทนสัญญลักษณ์เป็น "A"
1.2) ภัยที่ระบุยกเว้นไว้โดยชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย แทนสัญญลักษณ์เป็น "B"
1.3) ภัยที่ไม่ได้เขียนว่าคุ้มครอง หรือไม่ได้ระบุยกเว้นไว้โดยชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย แทนสัญญลักษณ์เป็น "C"
ประการที่สอง
ต้องเข้าใจว่า หลักสาเหตุใกล้ชิดจะมีอยู่ 3 ลักษณะของการเกิดเหตุ คือ
2.1) ลักษณะมีหลายภัย (เหตุ) เข้ามาเกี่ยวข้องที่เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดตอน (Chain of Events) หรือเรียกเข้าใจให้ง่ายว่า "หลักโดมิโน" เมื่อผลักตัวแรกล้ม ตัวอื่น ๆ ที่วางเรียงต่อกัน ก็จะพลอยล้มตามไปด้วยทั้งหมด ฉะนั้น หลักการนี้ถือเหตุแรกสุดเป็นเกณฑ์ เพราะถ้าเหตุแรกสุดไม่เกิด หรือตัวแรกไม่ล้ม ก็จะไม่มีเหตุต่อ ๆ มา
2.2) ลักษณะคล้ายกับหลักโดมิโน แต่ระหว่างนั้น มีเหตุอื่นเข้ามาสอดแทรก (Intervened Events) ถ้าเหตุอื่นที่มาสอดแทรกนั้นไม่ทำให้ผลกระทบเบี่ยงเบนไป ก็ยึดเหตุแรกสุดเป็นเกณฑ์ได้ตามปกติ แต่ถ้าเหตุอื่นนั้นก่อให้เกิดผลกระทบเบี่ยงเบนไปจากเดิม ดังนั้น ผลสุดท้ายที่เกิดนั้น จึงมีสาเหตุมาจากเหตุอื่นที่เข้ามาสอดแทรกนั้นต่างหาก มิใช่เหตุแรกสุดอีกต่อไปแล้ว
2.3) ลักษณะมีหลายภัย (เหตุ) เข้ามาเกี่ยวข้อง ในเวลาพร้อมกัน หรือในเวลาเดียวกัน (Concurrent Events) ถือว่า ทุกภัยมีน้ำหนักเท่ากัน
การที่พิจารณาตีความหลักสาเหตุใกล้ชิดจะอาศัยภัยหลายภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ประกอบด้วยภัยอะไรบ้าง? เป็น A, B และ/หรือ C และลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีลักษณะแบบใด? โดมิโน สอดแทรก หรือเกิดพร้อมกัน
สัปดาห์หน้า เราจะมานำตัวอย่างมาทดลองกันดูนะครับ เพื่อค้นหาคำตอบตามหัวเรื่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น