วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 19 : ข้อยกเว้นที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น เงื่อนไขที่ไม่ใช่เงื่อนไข ตกลงเป็นข้อยกเว้น หรือเงื่อนไขกันแน่?

(ตอนที่แปด)

อันที่จริงเงื่อนไขข้อที่ 9.5 ดูไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในหัวข้อที่หยิบยกมาพูดกันไปแล้วในข้อที่ 9.1 ถึง 9.4 เพียงแต่บังเอิญเป็นข้อที่มาอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้เท่านั้นเอง จึงขอแสดงความคิดเห็นพร้อมกันไปด้วย

เงื่อนไขข้อที่ 9.5 นี้ ซึ่งระบุว่า

      "9.5 ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัย เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาเอาประกันภัย โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว"

เดิมทีไม่มี แต่เพิ่งถูกนำใส่เข้ามาใหม่เพิ่มเติมในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับล่าสุด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้เสมือนเป็นเงื่อนไขเด็ดขาด เพราะในย่อหน้าท้ายของเงื่อนไขนี้ ที่จะยืดหยุ่นให้สำหรับการทำผิดเงื่อนไขตั้งแต่ข้อที่ 9.1 ถึง 9.4 ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากบริษัทประกันภัยก่อนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเท่านั้น โดยมิได้ยืดหยุ่นให้แก่ข้อ 9.5 เลย

แม้ถือเป็นเจตนาที่ดี เพื่อเร่งให้บริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์ประกันภัยเร็วขึ้น ผู้เอาประกันภัยจะได้ชำระเบี้ยประกันภัยเร็วขึ้นตามไปด้วย เนื่องด้วยในทางปฎิบัติ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินนั้นมักเป็นกรณีที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ถึงสูงมาก มีรายละเอียด และการขยายเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ อีกมากมาย รวมทั้งการจัดทำประกันภัยต่อ หรือกระทั่งการเอาประกันภัยร่วมกันระหว่างหลายบริษัทประกันภัยด้วยกัน จึงใช้ระยะเวลาออกกรมธรรม์ประกันภัย กินเวลานับเดือน หรือหลายเดือน ฉะนั้น เมื่อออกกรมธรรม์ประกันภัยช้า กว่าจะส่งถึงมือคนกลางประกันภัย หรือผู้เอาประกันภัยตรวจสอบความถูกต้อง อาจต้องแก้ไขคำผิดตกหล่นกันไปมาหลายครั้ง เมื่อถูกต้องทั้งหมดแล้ว ผู้เอาประกันภัยจึงจะพิจารณาชำระเบี้ยประกันภัยให้ บางรายก็นับช่วงเวลาการให้เครดิตชำระเบี้ยประกันภัยตั้งแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องครบถ้วนแล้วเท่านั้น ผมรู้สึกแปลกใจว่า นำเงื่อนไขข้อที่ 9.5 มาใส่ไว้ ในทางปฎิบัติจะสามารถทำได้จริงอย่างที่คิดกันหรือไม่ ทั้งยังเกิดคำถามขึ้นในใจ ดังนี้

1)  ถ้าในช่วง 60 วันที่ให้เครดิตในการชำระเบี้ยประกันภัยดังกล่าว หากมีความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองเกิดขึ้น บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชดใช้ไป ทั้งที่ผู้เอาประกันภัยยังมิได้ชำระเบี้ยประกันภัยใช่หรือไม่?

2)  ครั้นเมื่อบริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว พอเลยกำหนด 60 วันดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยยังละเลยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยให้อีก กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ก็จะสิ้นสุดความคุ้มครองลง 
     2.1) บริษัทประกันภัยจะสามารถทวงเบี้ยประกันภัยอีกได้หรือไม่?
     2.2) บริษัทประกันภัยจะสามารถเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนที่ได้
            จ่ายไปแล้วได้หรือไม่?
     2.3) ผู้เอาประกันภัยจะถือโอกาสชำระเบี้ยประกันภัยเพียงตาม
            ส่วนของระยะเวลา 60 วันได้หรือไม่? หากไปชำระเอาเมื่อ
            เลยกำหนด 60 วันไปแล้ว และกรมธรรม์ประกันภัยก็สิ้นผล
            บังคับไปแล้วด้วย

3)  ผู้รับประกันภัยต่อยอมรับเงื่อนไขนี้ด้วยหรือไม่? เพราะปกติแล้ว 
ถ้าไม่ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยต่อ เขาก็จะปฎิเสธความรับผิดชอบ

4)  ผมแปลกใจมาก ๆ ที่ทำไมการใช้ถ้อยคำของเงื่อนไขนี้ถึงมีความแตกต่างกันมากมายกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งระบุไว้ ดังนี้
     4.1) ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย รวมภัย
            ธรรมชาติ ฉบับล่าสุด เขียนไว้ในเงื่อนไขข้อที่ 6.13 การ
            ระงับไปแห่งสัญญาประกันภัย โดยใช้ถ้อยคำว่า
            "6.13.3 ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยเมื่อพ้น
            กำหนด 60 วัน นับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาเอาประกันภัย โดย
            ให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะ
            เวลาดังกล่าว"
            (ไม่ยืดหยุ่นให้เช่นกัน)
     4.2)  ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป เขียนไว้ในเงื่อนไขข้อที่ 
            6 การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัยเช่นกัน ดังนี้
            "6.5 ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยเมื่อพ้นกำหนด 
            60 วัน นับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาเอาประกันภัย
            
            อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขข้อ 6 นี้ (ทุกข้อตั้งแต่ข้อที่ 6.1 ถึง 
            6.5) จะไม่นำมาบังคับใช้ หากผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้
            บริษัททราบ และบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป 
            โดยได้บันทึกการแก้ไขแสดงไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับ
            นี้แล้ว"  
 


ทำไมการใช้ถ้อยคำถึงไม่นำของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไปมาเป็นต้นแบบอ้างอิง ถ้าเห็นว่า มีความจำเป็น เพราะลักษณะความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยมีความใกล้เคียงกันมากกว่า เพียงแต่ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไปมิใช่เป็นแบบสรรพภัยเท่านั้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้สามารถยืดหยุ่นกันได้ทุกข้อ แต่นี่กลับไปเอาของบ้านอยู่อาศัย ซึ่งลักษณะความเสี่ยงภัยน้อยกว่ามาใช้อ้างอิงแทน

ข้อน่าสังเกตอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ เวลาผมอ่านถ้อยคำตรงที่ขีดเส้นใต้ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไปแล้ว ผมอยากจะตีความเสมือนหนึ่งจะสื่อความหมายว่า เมื่อครบกำหนด 60 วันแล้ว ผู้เอาประกันภัยก็ยังไม่ชำระเบี้ยประกันภัยอีก ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยจะสิ้นสุดย้อนหลังไปตั้งแต่วันแรก เพราะมิได้เขียนไว้อย่างชัดแจ้งเหมือนอย่างในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย รวมภัยธรรมชาติ และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน 

คุณเห็นเช่นนั้นหรือเปล่าครับ?

ปัญหาต่าง ๆ ที่หยิบยกขึ้นมา ก็เพื่อให้มุมมองเพิ่มเติมเท่านั้น ส่วนเรื่องการรับความเสี่ยงภัย ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ที่รับความเสี่ยงภัยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เอาประกันภัย คนกลางประกันภัย บริษัทประกันภัย หรือกระทั่งผู้รับประกันภัยต่อจะต้องเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจเองเป็นสำคัญแล้วล่ะครับ ผมคงขอแสดงความห่วงใยไว้เพียงเท่านี้ครับ 
 

 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น