เรื่องที่ 19 : ข้อยกเว้นที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น เงื่อนไขที่ไม่ใช่เงื่อนไข ตกลงเป็นข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขกันแน่?
(ตอนที่สอง)
เป็นยังไงบ้างครับ เมื่อคุณอ่านเงื่อนไขข้อที่ 9 การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับมาตรฐานใหม่ล่าสุดแล้ว คุณเข้าใจว่าอย่างไรบ้างครับ
เรามาพิจารณาย่อหน้าแรกข้อนี้กัน มีข้อน่าสังเกต คือ หัวข้อจะใช้คำว่า "สัญญาประกันภัย" พอในย่อหน้าแรกกลับใช้คำว่า "กรมธรรม์ประกันภัย" สองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของสองคำนี้ว่า
ก) สัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายให้ หากเกิดเหตุการณ์ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา โดยอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้เอาประกันภัยจะให้เงินตอบแทน ซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861)
ข) กรมธรรม์ประกันภัย คือ ตราสารที่มีลายมือชื่อของผู้รับประกันภัย และมีรายการแสดงวัตถุที่เอาประกันภัย จำนวนเงินเอาประกันภัย ชื่อผู้เอาประกันภัย ชื่อผู้รับประกันภัย วันที่สัญญาเริ่มต้นและสิ้นสุด และอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบังคับ ตลอดจนเงื่อนไขเกี่ยวกับประโยชน์ สิทธิ และหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย และผู้รับประกันภัย
เมื่อดูความหมายแล้ว คุณคิดว่า สองคำนี้เหมือนกัน หรือต่างกันครับ ประเด็นนี้ มีมุมมองที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก
มองว่า สัญญาประกันภัยไม่มีรูปแบบกำหนดไว้ชัดเจนแน่นอน ปกติ จะเกิดขึ้นด้วยวาจา เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้ว คู่สัญญาต่างมีข้อผูกพันระหว่างกันตามข้อตกลง ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยยึดถือเป็นหลักฐานเอาไว้ อนึ่ง ในทางปฎิบัติ บริษัทประกันภัยมักใช้เวลาออกกรมธรรม์ประกันภัยค่อนข้างนาน โดยเฉพาะกับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง และมีเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ อีกมากมาย ระหว่างรอกรมธรรม์ประกันภัย หากเกิดเหตุการณ์ หรือข้อพิพาทใด ๆ ขึ้นมา คู่สัญญาจะใช้กรมธรรม์ประกันภัยมาอ้างอิงได้หรือไม่ ในเมื่อผู้เอาประกันภัยยังไม่เคยรับทราบว่า กรมธรรม์ประกันภัยจะมีข้อความอย่างไร จะเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่
ในความเห็นกลุ่มแรกนี้ มองว่า เวลาทำสัญญาประกันภัย หากบริษัทประกันภัยมิได้ชี้แจงถึงเงื่อนไขถึงเงื่อนไขข้อ 9 ให้ผู้เอาประกันภัยรับทราบก่อน ก็ไม่น่าจะมีผลใช้บังคับได้ จะให้ผู้เอาประกันภัยเข้าใจถึงการมีอยู่ของเงื่อนไขข้อนี้เอง โดยอ้างว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐานที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ดูแล ไม่น่าจะได้ เพราะคำเสนอกับคำสนองไม่น่าจะตรงกัน แต่ถ้ามีกรมธรรม์ประกันภัยออกมาแล้ว ผู้เอาประกันภัยจะปฎิเสธภายหลังว่า ไม่ได้อ่าน ไม่ทราบเงื่อนไขข้อนี้ คงไม่ได้ เท่าที่ค้นคว้ามา กฎหมายประกันภัยบางประเทศจะเขียนไว้ชัดเจนว่า สองคำนี้มีความหมายต่างกันดังกล่าว
กลุ่มที่สอง
เห็นว่า สองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน สัญญาประกันภัย ก็คือ กรมธรรม์ประกันภัยนั่นเอง โดยเห็นว่า ข้อความที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยเป็นข้อตกลงในสัญญา เสมือนสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาสำเร็จรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้น แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะยังมิได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย หากเกิดข้อพิพาท บริษัทประกันภัยก็สามารถหยิบยกข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยมาโต้แย้งได้ และผู้เอาประกันภัยควรรับรู้ได้เองอยู่แล้ว กฎหมายประกันภัยบางประเทศจะระบุชัดเจนไว้เลยว่า สัญญาประกันภัย คือ กรมธรรม์ประกันภัย
ในกฎหมายไทยมิได้ระบุประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจน จำต้องอาศัยการตีความ ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายให้ความเห็นสนับสนุนไปทางกลุ่มที่สอง โดยตีความว่า กรมธรรม์ประกันภัย คือ สัญญาประกันภัยแบบสำเร็จรูป เพราะได้มีการกำหนดข้อความไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ด้วยความเคารพ ผมยังไม่เห็นคล้อยตาม เนื่องจากบางประเภทของกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความซับซ้อน ประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่า "เงื่อนไขพิเศษ หรือเอกสารแนบท้าย" ต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะกับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินมีเงื่อนไขพิเศษเป็นออฟชั่นให้สามารถเลือกได้เป็นร้อยข้อ บางข้อเป็นส่วนขยาย เป็นข้อจำกัด ซ้ำร้ายบางข้อ เป็นข้อยกเว้นเพิ่มเติมที่ทำให้ความคุ้มครองปกติลดลงไปกว่าเดิม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ถ้าบริษัทประกันภัย หรือคนกลางประกันภัยที่มีความรู้ดีจะสามารถรับรู้เองได้ แต่หากไม่แนะนำให้ผู้เอาประกันภัยรับทราบด้วย ผู้เอาประกันภัยก็จะไม่อาจทำความเข้าใจได้เองเลย แต่สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยบางประเภทที่ปราศจากความซับซ้อน ผมก็ยอมรับได้ว่า ถือเป็นสัญญาสำเร็จรูปแบบหนึ่งได้
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเคยเสนอไปว่า ทำไมไม่กำหนดให้ชัดเจนไปเลยในกฎหมายไปเลยว่า สัญญาประกันภัย คือ กรมธรรม์ประกันภัย และควรกำหนดหน้าที่ของบริษัทประกันภัยให้ทำความเข้าใจถูกต้องตรงกันกับผู้เอาประกันภัยด้วยในเวลาทำสัญญา เหมือนดังเช่นแนวความคิดปัจจุบันที่ว่า เอกสารแนบท้าย หรือข้อรับรองจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยได้ลงลายมือชื่อให้ความเห็นชอบไว้แล้วเท่านั้น ถ้าสามารถทำได้จริง ผมเชื่อว่า น่าจะลดข้อโต้แย้งลงได้มาก เพราะอย่างที่เกริ่นไว้ในตอนที่หนึ่ง การอ่านทำความเข้าใจถึงถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย
ดังนั้น ในเวลานี้ สำหรับเงื่อนไขข้อ 9 นี้ คงยังต้องโต้แย้งกันต่อไปว่า การที่เขียนให้ "กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับสิ้นไปโดยทันทีเมื่อ" นั้น จะส่งผลทำให้สัญญาประกันภัยต้องระงับสิ้นไปตามไปด้วยเหมือนอย่างที่ระบุไว้ในหัวข้อนี้หรือไม่ เพราะถ้าถึงขนาดทำให้สัญญาประกันภัยทั้งฉบับต้องสิ้นสุดลงไปนั้น ผมเห็นว่า รุนแรงมากกว่า การที่กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่คุ้มครองเสียอีก
คราวหน้า เราจะมาพิจารณาในแต่ละหัวข้อกันนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น