วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 19 : ข้อยกเว้นที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น เงื่อนไขที่ไม่ใช่เงื่อนไข ตกลงเป็นข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขกันแน่?

(ตอนที่สี่)

สำหรับเงื่อนไขข้อที่ 9 การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัยของ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ในข้อที่ 9.2 ระบุดังนี้

     "ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับไปทันทีเมื่อ

     9.2 สิ่งปลูกสร้างซึ่งเอาประกันภัยหรือสถานที่ตั้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตกอยู่ในสภาพไม่มีผู้อยู่อาศัย หรือไม่มีผู้ดูแลรักษา และยังคงอยู่ในสภาพนั้นเป็นเวลาเกินกว่า 30 วันติดต่อกัน"

การที่สิ่งปลูกสร้างที่เอาประกันภัย หรือสถานที่เอาประกันภัยถูกปล่อยทิ้งร้างไว้โดยปราศจากผู้อยู่อาศัย หรือผู้ดูแลรักษานั้น ในแง่การประกันภัยถือเป็นการทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มสูงขึ้น เพราะโอกาสมีอุบัติภัยต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ ยิ่งถ้าถูกปล่อยทิ้งร้างไว้เป็นชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็เสมือนผู้เอาประกันภัยละทิ้งสถานที่แห่งนั้นโดยนัยสำคัญไปแล้ว ดังในกรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ที่ให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัย หากถูกทอดทิ้งติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน จะส่งผลทำให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งหมดเลยทันที แต่ถ้าถูกละทิ้งเป็นครั้งคราว ไม่ได้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 30 วันนั้น ก็ดูเสมือนผู้เอาประกันภัยยังคงหมั่นไปจัดการดูแลบ้าง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความคุ้มครองตามเงื่อนไขข้อนี้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยก็มีเงื่อนไขลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน แต่จำกัดระยะเวลาดังกล่าวไว้เนิ่นนานกว่า คือ 60 วันติดต่อกัน เพราะความคุ้มครองของ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจะน้อยกว่า มิได้เป็นลักษณะสรรพภัย 

ปัญหาของเงื่อนไขข้อนี้ จะอยู่ที่การตีความคำว่า "ไม่มีผู้อยู่อาศัย" หรือ "ไม่มีผู้ดูแลรักษา" นั้น กินความถึงขนาดไหน อย่างไร เคยมีคำถามเทียบเคียงกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยว่า บ้านที่เอาประกันภัยเป็นบ้านพักตากอากาศอยู่ในหมู่บ้านที่ต่างจังหวัด ปรากฏเจ้าของกับครอบครัวอาจเดินทางไปพักเพียงปีละหนสองหน แต่ในหมู่บ้านมียามขี่จักรยานคอยตะเวนดูแลรักษาความเรียบร้อยอยู่ในบริเวณหมู่บ้านทุกวันเป็นระยะ ๆ หรืออาจเป็นห้องคอนโดมิเนียมที่ผู้เอาประกันภัยซื้อทิ้งไว้ในจังหวัดท่องเที่ยวชายทะเล ปีหนึ่งก็แวะเวียนไปครั้งสองครั้งเช่นกัน แต่ในคอนโดมิเนียมมีคนจัดการดูแลตลอดเวลา ทั้งห้องอื่นก็มีคนพักอยู่ตลอดเวลาด้วย หรืออย่างช่วงเวลาใกล้เทศกาลสงกรานต์ จะมีโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ เช่นนี้ จะตีความว่า ทั้งบ้านดังกล่าว หรือห้องคอนโดมิเนียมนั้น ปราศจากผู้อยู่อาศัย หรือผู้ดูแลรักษาหรือเปล่า  

เจตนารมณ์ดั้งเดิมของเงื่อนไขข้อนี้ หมายความถึง จะต้องมีคนอยู่อาศัย หรือคนเข้าไปดูแลภายในสิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่นั้นจริง ๆ เพื่อตรวจตราความเรียบร้อยที่อยู่ภายใน มิได้หมายความถึง การดูแลเพียงภายนอกเท่านั้น เพราะไม่น่าจะช่วยปกป้องความเสี่ยงภัยอะไรให้เป็นผลได้มากนัก อย่างกรณีห้องคอนโดมิเนียมที่เอาประกันภัย แม้ห้องอื่น หรือในตึกจะมีคนอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ห้องที่เอาประกันภัยนั้น มิได้มีคนอยู่ หรือมอบหมายให้พนักงานประจำตึกเข้าไปตรวจสอบความเรียบร้อย และทำความสะอาดเป็นระยะเลย (ไม่เกินกว่า 30 วัน หรือ 60 วันติดต่อกัน แล้วแต่ชนิดของกรมธรรม์ประกันภัย) กรณีนี้จึงตกอยู่ในเงื่อนไขข้อที่ 9.2 นี้ได้

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขข้อนี้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นในต่างประเทศมากมาย โดยเฉพาะครอบครัวต่างประเทศเป็นครอบครัวเล็ก เมื่อลูกโตแล้ว อาจโยกย้ายแยกไปอยู่ต่างหาก ปล่อยพ่อแม่พักอยู่กันตามลำพัง หากเกิดเหลือพ่อหรือแม่อยู่เพียงคนเดียวในบ้าน เนื่องจากอีกฝ่ายเสียชีวิตไปแล้ว แล้วสมมุติแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ตามลำพังนั้น เกิดไม่สบาย ถูกนำตัวไปพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน บ้านของแม่หลังนั้นถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล หากเกิดอุบัติภัยขึ้นมาหลังจากครบช่วงเวลา 60 วันติดต่อกันแล้ว บริษัทประกันภัยจะหยิบยกเงื่อนไขข้อนี้มาปฎิเสธความรับผิด ดูจะเป็นธรรมหรือไม่

ศาลต่างประเทศเลยตีความหมายว่า การพิจารณาประเด็นนี้จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงแล้วแต่กรณีประกอบเป็นสำคัญ คำว่า "ไม่มีผู้ดูแลรักษา (vacancy)" หมายถึง ลักษณะที่ไม่สามารถพักอาศัยอยู่ได้ ซึ่งต่างกับคำว่า "ไม่มีผู้ครอบครอง (unoccupancy)" ที่อยู่ในสภาพพักอาศัยอยู่ได้ เพียงแต่ไม่มีผู้พักอาศัยอยู่เท่านั้น เทียบเคียงกับคดี Heheman v. Michigan Miller's Mutual Insurance Company, 240 So. 2d 851 (fla. 4th DCA 1970) ไม่อาจตีความลักษณะเหมารวมไปได้ ฉะนั้น กรณีแม่ที่ป่วยอยู่โรงพยาบาล ปล่อยบ้านทิ้งไว้ จึงต้องตีความว่า ยังไม่ถึงขนาดปราศจากผู้ดูแลรักษาดังเงื่อนไข้อ 9.2 นี้ 

บังเอิญเท่าที่ทราบ ยังไม่เคยเกิดข้อพิพาทในประเด็นนี้ขึ้นในศาลไทย และถ้ามีขึ้น ศาลไทยจะตีความอย่างไร หากบริษัทประกันภัยยกเงื่อนไขข้อนี้มาปฏิเสธ

ตอนต่อไป เราจะมาพูดถึงข้อต่อไปของเงื่อนไขนี้ และตอนท้ายสุดก็จะมาสรุปถึงประเด็นตามชื่อบทความนี้กันครับ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น