(ตอนที่ห้า)
เวลาบรรยายความรู้ด้านการประกันวินาศภัย ผมเคยตั้งคำถามสองข้อแก่ผู้เข้าอบรมว่า สมมุติผู้เอาประกันภัย คือ ผู้เช่าห้องอบรมเปล่า ต้องการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ตนนำมาใช้ภายในห้องอบรมขณะนั้น อันได้แก่ โต๊ะหนึ่งตัวกับเก้าอี้สิบตัวของตนเอง โดยกำหนดสถานที่เอาประกันภัย คือ ห้องที่อบรมนั้น หลังจากบริษัทประกันภัยตกลงรับประกันภัยเรียบร้อยแล้ว ต่อมา ปรากฏว่า เก้าอี้ตัวหนึ่งชำรุด ผู้เอาประกันภัยจึงนำเก้าอี้ตัวนั้นออกไปเก็บไว้ยังสถานที่แห่งอื่น เพื่อรอซ่อมแซม และได้นำเก้าอี้ตัวใหม่ที่ตนเพิ่งไปซื้อมาเปลี่ยนทดแทน เพื่อให้มีจำนวนเก้าอี้ในห้องนั้นเต็มสิบตัวดังเดิม
คำถามแรก
หากเก้าอี้ตัวที่นำไปเก็บไว้นั้นถูกไฟไหม้เสียหาย จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้หรือไม่?
คำถามแรก ผู้เข้าอบรมทั้งหมดสามารถตอบได้ไม่มีปัญหาว่า ไม่คุ้มครอง เพราะกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองภายในสถานที่เอาประกันภัยเท่านั้น แต่กรณีนี้ไปเกิดเหตุนอกสถานที่เอาประกันภัย
คำถามที่สอง
ถ้าเกิดไฟไหม้โดยอุบัติเหตุภายในห้องอบรมนั้น แล้วทำให้โต๊ะกับเก้าอี้ทั้งหมดถูกไฟไหม้เสียหายโดยสิ้นเชิง ผู้เอาประกันภัยรายนี้จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอะไรได้บ้าง? โดยมีคำตอบให้เลือกสามข้อ แต่ให้เลือกคำตอบข้อที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว ดังนี้
ก) โต๊ะหนึ่งตัวกับเก้าอี้สิบตัว
ข) โต๊ะหนึ่งตัวกับเก้าอี้เก้าตัว
ค) ไม่ได้รับการชดใช้เลย
สมมุติ คุณเป็นหนึ่งในผู้เข้าอบรมในวันนั้นด้วย คุณจะเลือกคำตอบข้อใดเป็นข้อที่ถูกต้องที่สุดครับ
สำหรับคำถามที่สอง มีคนเลือกคำตอบระหว่างข้อ ก) กับ ข้อ ข) เยอะมาก
โดยคนที่เลือกข้อ ก) ให้เหตุผลว่า ทั้งหมด คือ ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายจากภัยไฟไหม้ที่เป็นภัยที่คุ้มครอง ทั้งยังเกิดเหตุภายในสถานที่เอาประกันภัยด้วย
ส่วนคนที่เลือกข้อ ข) ก็อธิบายเสริมว่า เนื่องจากเก้าอี้ตัวที่เพิ่งซื้อมาใหม่ภายหลัง มิได้แจ้งเอาประกันภัยเพิ่มเติมแก่บริษัทประกันภัย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองแต่ประการใด ตามหลักส่วนได้เสีย
แต่ปรากฏว่า ไม่มีใครเลือกตอบข้อ ค) เลย
ผมคงยังไม่เฉลย แต่ขอนำคุณกลับมาพิจารณาถึง เงื่อนไขข้อที่ 9 การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ในข้อที่ 9.3 ที่ค้างอยู่ ซึ่งระบุไว้ดังนี้
"ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับไปทันทีเมื่อ
9.3 มีการโยกย้ายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไปยังอาคาร หรือสถานที่อื่นใด นอกจากสถานที่ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
ข้อ 9.1 ถึง 9.4 จะได้รับความคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบก่อนเกิดความเสียหายขึ้น และบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะออกใบสลักหลังแนบท้ายไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้"
เมื่ออ่านเงื่อนไขข้างต้นแล้ว คุณเข้าใจว่าอย่างไร และคุณคิดว่า ได้คำตอบแล้วหรือยังว่า คำตอบในข้อใดข้างต้นน่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดครับ
กรณีคำถามที่สอง อาจดูจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเล็กน้อย แต่ถ้าคุณเคยได้ฟังนิทานเรื่องแจ้คผู้ฆ่ายักษ์ และนำมาเปรียบเทียบกับกรณีนี้ โดยสมมุติตัวเลขให้สูงขึ้น อาจเป็นมูลค่าที่เอาประกันภัยสูงนับพันล้านบาท หรือหมื่นล้านบาท เปรียบเสมือนเป็นยักษ์หนึ่งตน ส่วนเก้าอี้หนึ่งตัวอาจมีมูลค่าที่เอาประกันภัยเพียงหลักร้อย เปรียบได้เป็นแจ้ค ครั้นเมื่อนำเก้าอี้เพียงหนึ่งตัวออกไปจากสถานที่เอาประกันภัย คุณเห็นด้วยกับผมไหมว่า แจ้คฆ่ายักษ์ได้
ด้วยเหตุนี้ เมื่อผมได้เป็นที่ปรึกษาการประกันภัยนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยรายหนึ่ง ผมจึงแนะนำให้ร้องขอให้บริษัทประกันภัยเวลาออกกรมธรรม์ประกันภัยนี้ ให้ออกใบสลักหลังมาพร้อมกัน โดยระบุด้วยว่า จะยังคงความคุ้มครองต่อไป แม้ผู้เอาประกันภัยจะมีการโยกย้ายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยออกไปนอกสถานที่เอาประกันภัย ส่วนจะใช้วิธีการร้องขอให้แนบเงื่อนไขพิเศษที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า แบบ อค./ทส. 1.09 การโยกย้ายทรัพย์สิน หรือ แบบ อค./ทส. 1.20 การเก็บสินค้าชั่วคราว หรือ แบบ อค./ทส. 1.58 การเก็บทรัพย์สิน ณ สถานที่แห่งอื่น แล้วแต่กรณีนั้น วิธีหลังผมยังไม่ใคร่มั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ เพราะบังเอิญในย่อหน้าท้ายของข้อ 9 ดังกล่าว เขียนไว้ค่อนข้างชัดว่า "ออกใบสลักหลังแนบท้าย" ซึ่งผมยังกังวลอยู่ว่า "ใบสลักหลัง" กับ "เงื่อนไขพิเศษ" นั้น จะมีความหมายเหมือนกัน เพื่อความสบายใจ ขอใช้ทั้งสองวิธีจะดีกว่าครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น