วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 19 : ข้อยกเว้นที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น เงื่อนไขที่ไม่ใช่เงื่อนไข ตกลงเป็นข้อยกเว้น หรือเงื่อนไขกันแน่?

(ตอนที่หก)

หลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 ผมเคยได้รับคำถามจากผู้เสียหายรายหนึ่ง และได้นำมาเปิดประเด็นเวลาไปบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย ซึ่งได้ปฎิกิริยาตอบรับจากผู้เข้ารับฟังแตกต่างกันไป ลองพิจารณาเรื่องราวดูนะครับ

ผู้เสียหายได้ทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินคุ้มครองสต็อกสินค้าที่ผลิตของตนเองมาหลายปีแล้วกับบริษัทประกันภัยแห่งเดียวกัน ตลอดระยะเวลาก็ต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยเช่นเดิมมาด้วยดี โดยโชคดีที่ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นมาเลย จวบจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยดังกล่าวขึ้น สร้างความเสียหายโดยสิ้นเชิงแก่สต็อกสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ในวงเงินทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ผู้เอาประกันภัยคิดว่า แม้จะโชคร้าย แต่ก็มีประกันภัยคุ้มครองภัยน้ำท่วมอยู่ด้วย คาดหวังจะได้รับค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัยของตนเต็มตามความเสียหายที่แท้จริง 100 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า กลับได้รับคำตอบว่า สามารถได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเพียงหนึ่งล้านบาทเท่านั้น ไม่ว่าบริษัทประกันภัยจะพยายามชี้แจงอย่างไร ตอนนั้น ผู้เสียหายก็หูอื้อแล้ว ครั้นพอทำใจได้บ้าง ก็พยายามค้นหาคำตอบจากผู้รู้ต่าง ๆ บังเอิญผมได้รับการสอบถามมา พอขอรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยนี้ ผู้เสียหายมิได้นำติดตัวมาด้วยในเวลานั้น ผมจึงสอบถามเพิ่มเติมว่า คุณทำประกันภัยโดยมีเงื่อนไขแบบกระแสรายวันด้วยมั้ย ผู้เสียหายทำหน้างง ๆ และตอบว่า คืออะไร เพิ่งเคยได้ยิน ผมเลยพอเดาออกว่า ทำไมทำประกันภัยไว้ในวงเงิน 100 ล้านบาท พอเกิดความเสียหายจริง 100 ล้านบาท แต่กลับจะได้รับการชดใช้เพียงหนึ่งล้านบาทนั้นเกิดจากอะไร?

ผมได้อธิบายโดยยกตัวอย่างประกอบ ดังนี้
บริษัทประกันภัยตกลงรับประกันภัยสต็อกสินค้าที่มีอยู่จริงในโกดัง จำนวน 100 ล้านบาท โดยขยายภัยน้ำท่วมไว้ด้วย และเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป เป็นเวลาหนึ่งปี

ต่อมา ในวันที่ 1 มีนาคม ปีเดียวกัน ผู้เอาประกันภัยขายสต็อกสินค้านั้นออกไป 99 ล้านบาท คงเหลือสต็อกสินค้าเก็บอยู่ในโกดังเพียงหนึ่งล้านบาท สมมุติ คืนวันนั้น เกิดไฟไหม้สต็อกสินค้าในโกดังทั้งหมด คุณจะได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัยเท่าไหร่? ผู้เสียหายก็ตอบว่า หนึ่งล้านบาทตามความเสียหายที่แท้จริง แต่บังเอิญไม่มีไฟไหม้เกิดขึ้นมาเลย สต็อกสินค้าหนึ่งล้านบาทนั้น ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

ครั้นในวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน ผู้เอาประกันภัยผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่เพิ่มเติม 99 ล้านบาท บวกกับสต็อกสินค้าเดิมหนึ่งล้านบาท รวมกันเป็น 100 ล้านบาท ถัดมาอีกสามวัน เกิดน้ำท่วม สต็อกสินค้านั้นได้รับความเสียหายทั้งหมด คุณคิดว่า จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้เท่าไหร่? ผู้เสียหายตอบว่า ต้องได้ 100 ล้านบาทตามความเสียหายที่แท้จริงสิ

ผมชี้แจงให้รับฟังว่า เปล่า คุณจะได้รับการชดใช้เพียงหนึ่งล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นสต็อกสินค้าที่มีอยู่เดิมตั้งแต่เวลาที่ทำประกันภัย และคงมีอยู่ในเวลาที่เสียหายด้วย เพราะโดยหลักการประกันภัยเรื่องส่วนได้เสีย และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ระบุว่า "อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด" ซึ่งในการตีความส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัย อันจะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยนั้น จะต้องเป็นส่วนได้เสียทั้งเวลาที่ทำประกันภัย และเวลาที่เกิดความเสียหายควบคู่กันไปด้วย กล่าวคือ ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย ถ้าผู้เอาประกันภัยได้ขายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นออกไปบางส่วน ในที่นี้ คือ ขายออกไป 99 ล้านบาท ก็เป็นเหตุผลที่ว่า ถ้าเกิดไฟไหม้ ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้เพียงตามจริงหนึ่งล้านบาทเท่านั้น ส่วนสต็อกสินค้าที่ผลิตขึ้นมาใหม่ภายหลังอีก 99 ล้านบาทนั้น เมื่อผู้เอาประกันภัยมิได้แจ้งต่อบริษัทประกันภัยขอให้คุ้มครองเพิ่มเติมเสียก่อน บริษัทประกันภัยก็จะไม่รับผิดชอบแต่ประการใด เพราะถือเป็นส่วนได้เสียที่เกิดขึ้นมาใหม่  หลักการประกันภัยทรัพย์สินจะให้ความคุ้มครองโดยเฉพาะเจาะจงแก่ส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น มิใช่เป็นการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินใด ๆ ของผู้เอาประกันภัยก็ได้ ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่นเป็นพิเศษ

ทางปฎิบัติที่ถูกที่ควรสำหรับกรณีนี้ เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงส่วนได้เสียของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของตนให้แก่บริษัทประกันภัย อย่างในกรณีตัวอย่างนี้ เมื่อผู้เอาประกันภัยขายสต็อกสินค้าออกไป 99 ล้านบาท ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งขอลดทุนประกันภัยจากเดิม 100 ล้าน เหลือหนึ่งล้านบาทตามจริง และขอรับเบี้ยประกันภัยคืนตามส่วน ครั้นพอมีสต็อกสินค้าใหม่เพิ่มขึ้น 99 ล้านบาท ผู้เอาประกันภัยก็ต้องแจ้งเพิ่มทุนประกันภัยจำนวนดังกล่าวแก่บริษัทประกันภัย พร้อมชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มตามส่วนเช่นกัน แต่เมื่อผู้เอาประกันภัยมิได้ทำหน้าที่เช่นว่านั้น ก็จะเกิดปัญหานี้ตามมา 

ทางแก้ปัญหานี้ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของบริษัทประกันภัย หรือคนกลางประกันภัยที่จะต้องให้คำแนะนำแก่ผู้เอาประกันภัยในเวลาทำประกันภัยว่า เนื่องจากสต็อกสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การแจ้งกลับไปกลับมาของทั้งสองฝ่ายเช่นว่านั้นทุกครั้ง เสียทั้งเวลาและเงิน จำต้องอาศัยเงื่อนไขพิเศษ แบบ อค./ทส. การประกันภัยแบบกระแสรายวันเข้ามาช่วย โดยที่เงื่อนไขพิเศษนี้จะกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสต็อกสินค้าคงคลังในกำหนดเวลาแล้วแต่จะตกลงกันก็ได้ เป็นต้นว่า เป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส และให้ถือจำนวนเงินที่ทำประกันภัยเป็นวงเงินความคุ้มครองสูงสุด โดยบริษัทประกันภัยจะไม่เอาเปรียบในเรื่องเบี้ยประกันภัย จะขอเรียกเก็บเป็นมัดจำล่วงหน้าเพียง 75% เท่านั้น ครั้นเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเอาประกันภัย ก็จะนำตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังตามที่ได้รับแจ้งทั้งหมด มาคำนวณเบี้ยประกันภัยที่แท้จริงกันอีกครั้ง ผู้เอาประกันภัยก็จะสบายใจได้ว่า จะมีความคุ้มครองอยู่ตลอดเวลาทั้งสต็อกสินค้าเก่าและใหม่ แต่หากบริษัทประกันภัย หรือคนกลางประกันภัยไม่แนะนำทางออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็จะไม่อาจรู้ได้เองเลย

อย่างที่เกริ่นไว้แต่ตอนต้น ปฎิกิริยาของผู้รับฟังเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับผม หรือกระทั่งกับบริษัทผู้รับประกันภัยรายนั้น และหลายท่านก็บอกว่า ไม่เคยเจอปัญหานี้เลย เกิดเหตุทีไร บริษัทประกันภัยก็จ่ายให้ทุกครั้ง ไม่เห็นจะต้องมีเงื่อนไขพิเศษดังว่านั้นเลย ผมก็ยินดีน้อมรับความเห็นต่างครับ แต่ส่วนตัวของผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าความเสียหายเล็กน้อย อะไรก็พอคุยเจรจากันได้ แต่ถ้าความเสียหายมันใหญ่มาก จะคุยเจรจากันนั้น ยากมาก เพราะจะมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะแยะไปหมด อีกทั้งสิ่งที่ผมอธิบายนั้น เป็นหลักการที่ถูกต้อง หากเราทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรก ปัญหาน่าจะไม่มีหรอกครับ

กรณีนี้ ยังถือว่าที่บริษัทประกันภัยยอมชดใช้ให้หนึ่งล้านบาท ก็พอรับฟังได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเขาหยิบยกเงื่อนไขข้อ 9 การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัย ในข้อที่ 9.4 ที่ยังค้างกันอยู่มาอ้างอิง ซึ่งกำหนดว่า

     "ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับไปทันทีเมื่อ

     9.4 ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ได้เปลี่ยนมือจากผู้เอาประกันภัยโดยวิธีอื่น นอกจากทางพินัยกรรมหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

    ข้อ 9.1 ถึง 9.4 จะได้รับความคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบก่อนเกิดความเสียหายขึ้น และบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะออกใบสลักหลังแนบท้ายไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้"        


คุณยังคิดว่า ผู้เสียหายรายนี้จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ครับ?  

ถ้าจะเอาให้สบายใจ ผมขอแนะนำให้ขอใบสลักหลังตามย่อหน้าสุดท้ายของเงื่อนไขข้อ 9 นี้ พร้อมกับขอเงื่อนไขพิเศษการประกันภัยแบบกระแสรายวันเป็นดีที่สุดครับ

สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น