วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 20 : ภัยแล้งเอาประกันภัยได้หรือไม่?

ขณะนี้บ้านเรา และประเทศเพื่อนบ้านเราต่างก็ประสบปัญหาจากภัยแล้งกันถ้วนหน้า ทำให้เกิดคำถามว่า ภัยแล้งซึ่งเป็นภัยธรรมชาติลักษณะหนึ่ง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของสภาพภูมิอากาศที่เรียกว่า "Extreme Weather" นั้น สามารถจะเอาประกันภัยได้หรือไม่ เหมือนดังเช่นภัยธรรมชาติอื่น ๆ เป็นต้นว่า ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ

ด้วยลักษณะที่แตกต่างออกไปของภัยแล้งจากภัยน้ำท่วม หรือภัยลมพายุ ในแง่ของการประกันภัยมองว่า ภัยแล้งนั้นไม่เข้าองค์ประกอบที่สำคัญในคำนิยาม "อุบัติเหตุ" ของการประกันภัย ดังนี้

1) ต้องเกิดขึ้นโดยฉับพลัน
    ผลกระทบของภัยแล้งนั้น มิได้เกิดขึ้นโดยตรงอย่างฉับพลัน ลักษณะค่อย ๆ ส่งผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ทำให้โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร หรือการปศุสัตว์ลดปริมาณ หรือด้อยคุณภาพลงไป ลักษณะความเสียหายจะส่งผลกระทบโดยอ้อมมากกว่า

2) ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง
    แม้ภัยแล้งเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ผู้เอาประกันภัยสามารถคาดหวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ตนได้ มีเวลาเพียงพอที่จะบริหารจัดการทุเลาล่วงหน้าได้

เมื่อไม่เข้าองค์ประกอบของ "อุบัติเหตุ" ดังกล่าว บริษัทประกันภัยจึงไม่อาจพิจารณารับประกันภัยได้ ทั้งยังประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ยากอีกด้วย เว้นแต่ในการประกันภัยพืชผล ซึ่งอาศัยดัชนีของน้ำฝนเป็นเกณฑ์ชี้วัดความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรง

สำหรับการประกันภัยประเภทอื่น ภัยแล้งมักจะส่งผลกระทบโดยอ้อมมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น 

(1) ภัยไฟป่า มีปัจจัยทำให้เกิดได้ง่ายขึ้น เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งภายใต้การประกันอัคคีภัย หรือการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินล้วนต่างให้ความคุ้มครองภัยไฟป่าอยู่แล้ว 

(2) ภัยถนนแยก ดินยุบ เราได้เห็นภาพข่าวลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากชั้นดินข้างล่างเกิดเป็นโพรงจากน้ำใต้ดิน พอน้ำเหือดแห้งหายไป ก่อให้เกิดเป็นโพรง ส่งผลทำให้ถนนแยก ดินยุบตัวลงไป ซึ่งภัยลักษณะนี้ มิได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน แม้บางท่านอาจเห็นอยู่ ๆ มันก็ยุบตัวลงทันที แต่อันที่จริง มันค่อย ๆ เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว จึงไม่ถือเป็นอุบัติเหตุที่บริษัทประกันภัยจะให้ความคุ้มครองได้ กระทั่งในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัย ก็ได้ระบุเป็นข้อยกเว้นเอาไว้

ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ประสบปัญหาจากเหตุของดินยุบตัวที่เรียกว่า "sink hole" ค่อนข้างมาก แม้มิได้เกิดขึ้นบ่อย แต่มักสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และมิได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยเช่นกัน จนทำให้บางรัฐ จำต้องตรากฎหมายพิเศษกำหนดให้บริษัทประกันภัยขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมที่เรียกว่า "catastrophe ground cover collapse" โดยเฉพาะกับบ้านอยู่อาศัย เนื่องด้วยเทคโนโลยี่ปัจจุบัน ยังไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบว่า จุดใดมีความเสี่ยงภัยนี้หรือไม่

(3) ภัยน้ำท่วมอย่างเฉียบพลัน ภัยโคลนถล่ม และภัยดินถล่ม จากการวิเคราะห์ศึกษาของผู้เชี่ยวชาญ ประเมินว่า หลังจากภัยแล้งสิ้นสุดลงแล้ว พอมีฝนตกลงมา มักจะมีความเสี่ยงภัยเพิ่มสูงขึ้นจากภัยน้ำท่วมอย่างเฉียบพลัน ภัยโคลนถล่ม และภัยดินถล่ม เพราะไม้ยืนต้น และพืชปกคลุมดินได้แห้งตายไปจากภัยแล้งอย่างมากมาย เมื่อน้ำฝนตกลงมามาก ก็ไม่มีสิ่งใดมาชะลอการไหลของน้ำได้ จึงฝากเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในเส้นทางน้ำไหล หรือเชิงเขาให้ระมัดระวัง

(4) ผลกระทบของห่วงโซ่อุปทาน Supply Chain) ซึ่งมิได้ส่งผลต่อการประกันภัยทรัพย์สิน แต่จะเป็นในส่วนของการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เพราะภัยแล้งมิได้สร้างความเสียหายโดยตรงแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย แต่ผลกระทบโดยอ้อมของธุรกิจที่อาศัยวัตถุดิบจากพืชผลการเกษตร หรือการปศุสัตว์ หรืออุตสาหกรรมที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก อาจได้รับผลกระทบจนทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักลงไป กำไรลดลงไปจากที่ตั้งเป้าไว้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติได้

ในอดีตเคยมีการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมในเรื่องของภัยแล้ง (Drought) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก แต่ปัจจุบันนี้ ไม่ใคร่มีบริษัทประกันภัยไหนหาญกล้าที่จะขยายให้แล้ว เพราะในทางปฎิบัติประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ด้วยลักษณะของความเสี่ยงภัยไม่ชัดเจนเหมือนดังเช่นการขยายความคุ้มครองไปถึงภัยเพิ่มเติมอื่น ๆ ของการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ที่แม้ไม่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็ตาม อย่างเช่น Infectious Diseases, Murder & Suicide, Bomb Threats, Utilities เป็นต้น    
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น