เรื่องที่ 19 : ข้อยกเว้นที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น เงื่อนไขที่ไม่ใช่เงื่อนไข ตกลงเป็นข้อยกเว้น หรือเงื่อนไขกันแน่?
(ตอนที่เจ็ด)
จากที่เราคุยกันมาในเงื่อนไขข้อที่ 9.1 ถึง 9.4 หากคุณอ่านแล้วตีความ การทำผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด ส่งผลทำให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับต้องสิ้นสุดลงตามที่กำหนดไว้ นั่นคือ ถือเป็นเงื่อนไข แต่ถ้าคุณตีความเพียงเป็นการส่งผลทำให้ไม่คุ้มครองเฉพาะกรณี หรือเฉพาะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยบางอัน นั่นหมายความเป็นเพียงข้อยกเว้นเท่านั้น ส่วนอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบ ก็ยังคงคุ้มครองต่อ ทำไมประเด็นเงื่อนไขนี้ ถึงไม่เคยได้รับฟังว่า เคยเป็นประเด็นข้อโต้แย้ง เพราะโชคดีที่ส่วนใหญ่ตีความให้เป็นเพียงข้อยกเว้นหรือเปล่า? แต่ถ้ามิได้โชคดีถึงขนาดนั้น เวลาเกิดความเสียหายขึ้นมา กรรมนั้นจะตกแก่ผู้ใด?
ก่อนอื่น เราลองมาทบทวนเงื่อนไขดังกล่าวกันอีกครั้ง
ก) ย่อหน้าแรกที่ระบุว่า "ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับไปทันทีเมื่อ"
ไม่ชัดเจนว่า หมายความถึง ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยต้องสิ้นสุดลงไปบางส่วน หรือทั้งฉบับ สมมุติต้องสิ้นสุดลงทั้งฉบับภายหลังจากทำประกันภัยไปได้เพียงสามเดือน เบี้ยประกันภัยที่ชำระไว้เต็มปี จะขอเรียกคืนเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลืออีกเก้าเดือนจากบริษัทประกันภัยได้หรือไม่? ผมเคยยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูด แต่มีความเห็นแตกต่างเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมองว่า เป็นการทำผิดเงื่อนไขของผู้เอาประกันภัยเอง บริษัทประกันภัยไม่จำต้องคืนเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือให้ แต่กลุ่มที่สอง บอกว่า ไม่เป็นธรรม ควรต้องคืนให้เขาไป ส่วนตัวของผมเห็นคล้อยตามกลุ่มที่สองครับ มิฉะนั้น ทะเลาะกันยาวแน่ครับ
ข) ข้อที่ 9.1 การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นนั้น ไม่ชัดเจนว่า ต้องเปลี่ยนแปลงถึงขนาดเป็นการถาวร หรือเพียงชั่วคราว แนวคำพิพากษาศาลต่างประเทศ ก็ออกมาทั้งคู่ ในคู่มือตีความของประเทศอังกฤษเขียนว่า ต้องถาวรเท่านั้น ถ้าตีความเช่นนั้น กรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับต้องสิ้นสุดลง ก็ยอมรับกันได้ แต่ถ้าชั่วคราว อาจดูโหดร้ายเกินไป แค่เพียงไม่คุ้มครองในช่วงเวลานั้นน่าจะพอแล้ว ครั้นพอกลับคืนสู่สภาพเดิม ก็มาคุ้มครองต่อเนื่องไปได้เลย ไม่เห็นจำเป็นจะต้องให้ผู้เอาประกันภัยไปซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่อีก
ผมค่อนข้างกังวลกับการตีความว่า อะไรที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงถึงขนาดทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น ผู้เอาประกันภัยอาจนึกไม่ถึงว่า มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นมากมายอะไร แต่บริษัทประกันภัยอาจไม่คิดเช่นนั้นก็ได้ เคยอ่านข้อพิพาทในต่างประเทศ การนำคนเข้ามาอยู่ในบ้านเพิ่มขึ้น ก็ทำให้เกิดโต้แย้งประเด็นนี้กันแล้ว จึงห่วงที่ปัจจุบันมีโครงการให้คนเข้ามาเช่าพักอยู่ในบ้านได้ ซึ่งเริ่มเป็นที่สนใจทำกันบ้างแล้วในบ้านเรา หรือแม้กระทั่ง โยงไปถึงเรื่องของประกันภัยรถยนต์ที่มีรถบ้านไปเข้าร่วมโครงการนำรถไปรับจ้างเป็นครั้งคราวนั้น ผมขอแนะนำให้รีบไปตรวจสอบกับบริษัทประกันภัยที่ใช้บริการอยู่ให้มั่นใจก่อนนะครับว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา เขาจะไม่ถือว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงถึงขนาดทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น
ค) ข้อที่ 9.2 การปราศจากผู้อยู่อาศัย หรือผู้ดูแลติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 30 วัน สมมุติผู้เอาประกันภัยกลับมาอยู่อาศัยดังเดิมในวันที่ 35 กรมธรรม์ประกันภัยยังคงให้ความคุ้มครองต่อเนื่องไปหรือเปล่า? ถ้าใช่ มันก็ถือเป็นเพียงข้อยกเว้น เช่นนั้น ทำไมไม่กำหนดให้ชัดเจนให้เป็นข้อยกเว้นเหมือนดั่งกรมธรรม์ระกันภัยโจรกรรมเสียเลยเล่า
ฆ) ข้อที่ 9.3 การโยกย้ายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยออกไปจากสถานที่เอาประกันภัย มิได้ระบุชัดเจนว่า ต้องเป็นการโยกย้ายจำนวนกี่ชิ้น นำออกไปเพียงชิ้นเดียว แล้วส่งผลทำให้ความคุ้มครองทั้งหมดของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งยังคงอยู่ ต้องสิ้นสุดลงไปด้วย มันถูกต้อง และเป็นธรรมหรือไม่? สมมุติ ถ้าตัดเงื่อนไขข้อนี้ออกไปเลย ผลของการตีความจะชัดเจนกว่าไหม?
ง) ข้อที่ 9.4 การเปลี่ยนแปลงส่วนได้เสียของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (ยกเว้นกรณีพินัยกรรม หรือเข้าข้อบังคับตามกฎหมายอื่นใด) เป็นต้นว่า การซื้อขาย ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่เขียนเงื่อนไขข้อนี้เอาไว้เลย การตีความว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยขายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยออกไปบางชิ้น จะส่งผลทำให้กรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับต้องสิ้นสุด หรือจะไม่คุ้มครองเฉพาะชิ้นนั้นเอง ง่ายขึ้นกว่าไหม? หรือกระทั่งจะเขียนให้ชัดเจนไปเลยเหมือนอย่างในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เพราะถ้ายังคลุมเครือ ผู้เอาประกันภัยที่ทำธุรกิจซื้อมา ขายไป ก็คงมีประเด็นต่อไปไม่รู้จบ
ถึงแม้ในย่อหน้าสุดท้ายของเงื่อนไขนี้ จะเปิดช่องให้ขอความเห็นชอบล่วงหน้าจากบริษัทประกันภัยได้ แต่จะมีใครสักกี่คนที่ตระหนัก คงเฝ้ารอให้โชคดีเกิดขึ้นอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ เงื่อนไขข้อนี้ที่เป็นคำแปลภาษาอังกฤษของเราจะใช้คำว่า
"Under any of the following circumstances this insurance ceases to attach"
ต้นฉบับของประเทศอังกฤษที่เรานำมาปรับใช้ ก็จะอยู่ในหมวดเงื่อนไขเหมือนกัน โดยจะเขียนไว้ว่า
"This policy shall be avoided...."
พร้อมกับในคู่มือตีความของเขาเขียนเอาไว้ ดังนี้ "this clause applies only to the item the subject of the alteration, not the whole policy."
เจตนารมณ์ของเขาชัดเจนว่า จะไม่เหมารวมทำให้กรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับต้องสิ้นสุดลง จะเป็นด้วยการใช้คำระหว่าง "cease" กับ "avoid" ที่แตกต่างกันหรือเปล่า? ผมมิใช่ผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ไม่บังอาจไปวิเคราะห์หรอกครับ ก็ว่าตามกันไป
แต่ที่จำต้องหยิบยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ก็เพื่อขจัดข้อโต้แย้งในการตีความว่า มันควรจะเป็นเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ หรือควรจะเป็นข้อยกเว้น ถ้าถือเป็นข้อยกเว้น แล้วเอาไปใส่อยู่ในเงื่อนไข ก็สับสนกันอย่างนี้ล่ะครับ ผมเคยมีโอกาสเสนอแนวความคิดว่า ทำไมเราไม่ทำให้มันชัดเจนเหมือนอย่างกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัยของประเทศออสเตรเลีย ที่เรียกว่า "Industrial Special Risks" กันเล่า ซึ่งเขาได้โยกย้ายเงื่อนไขข้อนี้ให้ไปรวมอยู่ในข้อยกเว้นแห่งเดียวกันเลย ให้เงื่อนไขก็เป็นเรื่องของเงื่อนไข ข้อยกเว้นก็เป็นของข้อยกเว้น ไม่ต้องสับสนงงงวยกันเช่นนี้อีกต่อไป แต่สุดท้าย ก็ไม่มีใครสนับสนุน จำต้องปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วล่ะครับ หรือคุณคิดว่าอย่างไร?
ตอนต่อไป เป็นตอนจบของบทความนี้แล้วครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น