วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 19 : ข้อยกเว้นที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น เงื่อนไขที่ไม่ใช่เงื่อนไข ตกลงเป็นข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขกันแน่?

(ตอนที่สาม)

ในตอนที่สอง เราพิจารณากันถึงความหมายระหว่าง "สัญญาประกันภัย" กับ "กรมธรรม์ประกันภัย" กันไปแล้ว จากนี้เราจะมาพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยภายใต้เงื่อนไขข้อที่ 9 การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน โดยเริ่มจากข้อที่ 9.1 ที่ระบุว่า

     "ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับไปทันทีเมื่อ
      9.1 มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการค้า การผลิตหรือลักษณะการใช้สถานที่หรือสภาพแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลกระทบต่ออาคารหรือสถานที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและทำให้ความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น"


โดยหลักการ ถ้าภายหลังการทำประกันภัยไปแล้ว ปรากฏมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม จะด้วยเจตนาของผู้เอาประกันภัยหรือไม่ก็ตาม จะส่งผลกระทบต่อความคุ้มครองของผู้เอาประกันภัยด้วย โดยระดับความรุนแรงของผลกระทบนั้น ก็แล้วแต่ที่จะได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างเบาะ ๆ ก็จะไม่คุ้มครองอุบัติภัยที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่อย่างหนัก ก็จะเหมือนกับที่ระบุไว้ในข้อ 9 นี้ คือ ความคุ้มครองทั้งฉบับสิ้นสุดลงไปทันที เว้นเสียแต่ถ้าผู้เอาประกันภัยจะได้รับความเห็นชอบล่วงหน้าจากบริษัทประกันภัยเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนดังในย่อหน้าสุดท้ายที่เขียนว่า

"ข้อ 9.1 ถึง 9.4 จะได้รับความคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบก่อนเกิดความเสียหายขึ้น และบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะออกใบสลักหลังแนบท้ายไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้"


ข้อสังเกต คือ 

1) ในย่อหน้าแรกของข้อ 9 จะโปรยข้อความในลักษณะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ความคุ้มครองจะสิ้นสุดลงไปทันที เสมือนหนึ่งไม่คำนึงว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วหรือยัง แต่ย่อหน้าสุดท้ายกลับพูดถึงว่า ถ้าบริษัทได้ให้ความเห็นชอบก่อนเกิดความเสียหายแล้ว บริษัทจะยังคงคุ้มครองให้สำหรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ผมเห็นว่า ข้อความในสองย่อหน้านี้ขัดแย้งกันเอง เพราะทันทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ความคุ้มครองก็จบไปแล้วตั้งแต่เวลานั้น จะมาปลุกให้ความคุ้มครองกลับคืนมาอีกได้อย่างไร 
2) การเปลี่ยนแปลงในข้อ 9.1 นี้ ผู้เอาประกันภัยต้องรับรู้แล้วเท่านั้นหรือไม่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ผู้เอาประกันภัยอาจยังไม่รับรู้เลยก็ได้ และจะส่งผลทำให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลงไปโดยทันทีหรือยัง ยกตัวอย่างเช่น จู่ ๆ สถานที่ข้างเคียงกับสถานที่เอาประกันภัยได้มีการนำวัตถุอันตรายมาเก็บไว้ โดยส่งผลทำให้สภาพแวดล้อมมีความเสี่ยงภัยเพิ่มสูงขึ้น และตัวผู้เอาประกันภัยมิได้รับทราบเลย หรือการที่ผู้เอาประกันภัยให้ช่างมาซ่อมหลังคาโกดัง โดยเปิดหลังคาออกทิ้งไว้ข้ามคืน ดังตัวอย่างที่ยกขึ้นมาในบทความก่อนหน้านี้ที่ว่า ถ้าเกิดฝนตกทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เก็บไว้ในโกดังนั้น ได้รับความเสียหาย จะตีความว่า ไม่คุ้มครองเพราะอยู่ในข้อยกเว้นทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ขณะอยู่กลางแจ้งดี หรือถือว่า ความคุ้มครองสิ้นสุดลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นดี การตีความให้เข้าข้อยกเว้นนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อความคุ้มครองของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในส่วนอื่นของกรมธรรม์ประกันภัย แต่ถ้าตีความตามเงื่อนไขข้อ 9.1 นี้ ก็จะส่งกระทบต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยทั้งหมด
3) ระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า เป็นชั่วอึดใจหนึ่ง เป็นช่วงเวลาหนึ่ง หรือถาวรตลอดไป ทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้นมากมาย สำหรับในประเทศไทย ผมยังไม่ได้ยิน แต่ในต่างประเทศ เกิดคดีฟ้องร้องเยอะแยะ ยกตัวอย่างเช่น การจุดเทียนในบ้านนับสิบเล่มในวันเดียว แล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้บ้าน บริษัทประกันภัยปฎิเสธไม่คุ้มครอง เพราะมีความเสี่ยงภัยเพิ่มสูงขึ้นแล้ว แต่ศาลไม่เห็นพ้องด้วย ศาลตีความว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเป็นช่วงระยะเวลาตามสมควร แต่บางคดี ศาลก็ตีความต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยถาวรเท่านั้น

ผมเคยนำเรื่องข่าวมาใช้ประกอบการบรรยายในประเด็นนี้ อย่างในกรณีข่าวผู้เช่าอพาร์ตเมนต์นำระเบิดมาประกอบในห้องพัก แล้วเกิดระเบิดขึ้นมา โดยชัดเจนว่า เจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่เป็นผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับรู้หรือเห็นชอบด้วย อย่างนี้จะเข้าเงื่อนไขข้อนี้หรือไม่ ทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ ผมได้แนะนำไปว่า ให้ร้องขอให้ติดเอกสารแนบท้าย แบบ อค./ทส. 1.46 เจ้าของสถานที่ หรือแบบ อค./ทส. 1.82 ผู้เช่า เพิ่มเติมแล้วแต่กรณีล่วงหน้าตั้งแต่ต้น น่าจะช่วยได้ในประเด็นนี้ได้ มิฉะนั้น ก็ต้องร้องขอให้บริษัทประกันภัยออกใบสลักหลังให้ความเห็นชอบล่วงหน้าไปเลย เพราะการตีความว่า มีความเสี่ยงภัยเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่นั้น อาจมีความเห็นแตกต่างกันก็ได้ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย

ตอนต่อไป จะมาคุยกันในเงื่อนไขข้อที่ 9.2     
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น