วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 28 : ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยอ้อม (Indirect Loss or Damage) ความเหมือนที่แตกต่างระหว่างประกันภัยกับหลักกฎหมาย



(ตอนที่สอง)

คำว่า “ความเสียหายโดยอ้อม (Indirect Loss) หรือความเสียหายสืบเนื่อง (Consequential Loss)” ตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป มักถูกตีความอย่างกว้าง ๆ ว่า หมายความถึง การสูญเสียรายได้ (loss of revenue) การสูญเสียกำไร (loss of profit) การสูญเสียประโยชน์ในการใช้งาน (loss of use) การสูญเสียโอกาส (loss of opportunity) การสูญเสียชื่อเสียง (loss of reputation) ฯลฯ ในขณะที่การตีความทางกฎหมายจะให้ความหมายที่แตกต่างไป จำต้องอาศัยการพิจารณาเทียบเคียงกับหลักกฎหมายเป็นแนวทางด้วย เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงประเด็นปัญหา เวลาเกิดข้อพิพาทเป็นคดีฟ้องร้องกันขึ้นมา โดยในบทความเรื่องนี้ จะอาศัยการเทียบเคียงตัวอย่างหลักกฎหมายของประเทศไทย ประเทศอังกฤษ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาพอสังเขป ดังนี้

ความเสียหายโดยอ้อมนั้น มิได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้ในหลักกฎหมายทั้งของไทยและเทศ แต่สามารถเทียบเคียงได้กับ ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษซึ่งในประเทศไทยได้บัญญัติเอาไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสองที่ระบุว่า

    มาตรา 222  การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่ เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติ ย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
     เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว

เนื่องด้วยตามหลักกฎหมายไทยได้จัดแบ่งความเสียหายออกเป็นสองประเภท คือ
1)  ความเสียหายปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการไม่ชำระหนี้โดยตรง
2) ความเสียหายพิเศษ ซึ่งคู่กรณีที่เกี่ยวข้องสามารถคาดหวัง หรือพอที่จะมุ่งหวังได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ในเวลาทำสัญญา

การที่จะพิจารณาสิ่งใดถือเป็นความเสียหายปกติ หรือความเสียหายพิเศษนั้น ไม่อาจฟันธงลงไปได้อย่างแน่นอนชัดเจน จำต้องพิจารณาถึงวิธีปฎิบัติทั่วไป หรือความคาดหวัง หรือความเข้าใจของคู่สัญญาในเวลาที่ตกลงทำสัญญากัน ประกอบกับแนวทางคำพิพากษาของศาลเป็นเกณฑ์ด้วย

ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ซึ่งแม้มิใช่คดีเกี่ยวกับการประกันภัยโดยตรง แต่สามารถเทียบเคียงให้เห็นภาพได้บ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2538 เมื่อโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาไม่ยอมรับซื้อที่ดินพิพาทตามสัญญา ความเสียหายตามปกติที่เกิดขึ้น ก็คือ จำเลยทั้งสองไม่ได้รับชำระราคาที่เหลือหรือค่าเสียหายใด ๆ อันได้ตกลงไว้ในสัญญาชัดแจ้ง แต่ถ้าหากเป็นความเสียหายอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็ได้แก่ความเสียหาย อันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองถูกริบมัดจำก็ดี หรือการที่จะได้รับกำไร หากโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทตามสัญญาตามที่คาดหวังล่วงหน้าไว้ก่อนก็ดี ล้วนเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองได้กระทำไปส่วนตัวหรือคาดหวังไปเอง จึงถือได้ว่าเป็นค่าเสียหาย อันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากโจทก์ทั้งสองจะต้องรับผิด ก็ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองได้คาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้คาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้ามาก่อน โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4844/2545 (ค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ปพพ. มาตรา 222 วรรค 2)
โจทก์ประกอบธุรกิจขายสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโจทก์ได้สั่งซื้อสินค้ามา เพื่อขายหากำไรในประเทศไทย ซึ่งน่าเชื่อว่าจำเลยเองก็ทราบดีอยู่แล้วถึงความในข้อนี้ เพราะสินค้าดังกล่าวมีจำนวนมาก และจำเลยได้ติดต่อทำธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว การที่สินค้าของโจทก์สูญหายไป จำเลยควรจะคาดเห็นได้ว่าโจทก์จะต้องได้รับความเสียหายในส่วนที่เป็นค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าดังกล่าว เพราะเป็นพฤติการณ์ที่คาดเห็นได้ ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง และจำเลยยังต้องเสียดอกเบี้ยตามมาตรา 225 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5243/2550 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าพระพิมพ์จิตรลดาชุดทองคำที่พิพาทดังกล่าว  ได้จัดทำจำกัดเพียง 2,539 ชุด ผู้จัดสร้างได้แจกจ่ายจัดสรรให้ผู้ดำเนินการรับจองต่าง ๆ ไปหมดแล้ว  จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ดำเนินการรับจองเท่านั้นมิใช่ผู้จัดสร้าง โดยเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับมอบมาแล้ว  ก็มิได้ส่งให้สาขาของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ได้สั่งจองไว้  แต่กลับส่งมอบให้แก่บุคคลอื่น ๆ ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่ามีสิทธิไปจนหมดสิ้น พระพิมพ์จิตรลดาชุดทองคำที่พิพาทจึงไม่มีเหลืออยู่อีกแล้ว ทั้งที่ผู้จัดสร้างและที่ธนาคารจำเลยที่ 1 ดังนั้น การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์จึงกลายเป็นการชำระหนี้ที่พ้นวิสัยจะทำได้ เพราะพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ผิดสัญญาจะต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เพื่อค่าเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218 วรรคหนึ่ง พระพิมพ์จิตรลดาชุดทองคำที่พิพาทมีจำนวนจำกัด หากโจทก์มีไว้ในความครอบครอง ก็ย่อมทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทาน และต้องมีราคามากกว่าราคาในขณะที่สั่งจองชุดละ 19,999 บาท ซึ่งผลต่างของราคาดังกล่าว เป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติ ย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคแรก การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายชุดละ 25,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว

สองคดีแรกวินิจฉัยว่า การสูญเสียกำไรของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งนั้น จะสามารถเรียกร้องได้ต่อเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในเวลาตกลงทำสัญญา คาดหวัง หรือควรจะคาดหวังได้ล่วงหน้า หากตนเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงจะถือเป็นความเสียหายพิเศษตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยที่คดีที่หนึ่งเป็นกรณีที่คาดหวังไม่ได้ ขณะคดีที่สองสามารถคาดหวังได้โดยพฤติการณ์        

ส่วนคดีที่สาม ศาลกลับมองว่า การสูญเสียรายได้และกำไร ถือเป็นความเสียหายปกติ มิใช่ความเสียหายพิเศษแต่อย่างใด

ดังนั้น แม้ประเด็นจะอยู่ที่คู่สัญญาสามารถคาดหวัง หรือควรจะคาดหวังได้ในเวลาทำสัญญาหรือเปล่านั้น แต่โดยข้อเท็จจริงแห่งคดีแล้ว อาจวินิจฉัยเป็นได้ทั้งความเสียหายปกติ หรือความเสียหายพิเศษก็ได้ แล้วแต่กรณี

ตอนต่อไป ลองมาพิจารณาเทียบเคียงกับคดีต่างประเทศกันบ้างนะครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. ลมพัด ทำให้กิ่ง ต้นไม้ใหญ่ หัก ลงมา ทับอาคารหลังคา อาคารจอดรถ เสียหาย ขอสอบถามว่า ความเสียหายจากอาคาร จอดรถ ถือว่าเป้น ความเสียหายจาก อุบัติเหตุ หรือ ภัยจากลมครับ

    ตอบลบ
  2. กรณีนี้ ถ้ากรุณาย้อนกลับไปอ่านบทความเรื่องที่ ๒๑ จะช่วยทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ โดยผมจะขอสรุป ดังนี้ หลักสาเหตุใกล้ชิดจะพิจารณาโดยอาศัย ๒ ปัจจัยหลัก คือ
    ๑) ภัย ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจะประกอบด้วยสามรูปแบบ คือ (A) ภัยที่ระบุคุ้มครองเอาไว้ (B) ภัยที่ระบุยกเว้นเอาไว้ และ (C) ภัยที่มิได้ระบุอะไรเอาไว้เลย
    ๒) ลักษณะของเหตุการณ์ ประกอบด้วย เหตุที่ต่อเนื่องไม่ขาดตอน เหตุสอดแทรก และเหตุที่เกิดขึ้นพ้องกัน
    จากคำถามจะเห็นว่ามีลักษณะต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน โดยมีภัยลมพัด กิ่งไม้หัก การแตกหักของหลังคา
    เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นอุบัติเหตุนะครับ เพราะเป็นสิ่งที่มิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง
    กรณีนี้เปรียบเสมือนการล้มของโดมิโน ให้ยึดภัยแรกสุดเป็นหลัก คือ เหตุการณ์ทั้งหมดมีสาเหตุมาจากลมพัด
    ถ้าโยงเข้ากับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยบ้านเรา ภัยทั้งหมดเป็น C คือ มิได้ระบุคุ้มครองหรือยกเว้น
    ถ้าโยงเข้ากับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งคุ้มครองอุบัติภัยทุกอย่างที่ไม่อยู่ในข้อยกเว้น คงพอจะได้คำตอบแล้วนะครับว่า มีภัยใดที่เกี่ยวข้องระบุยกเว้นไว้หรือเปล่า โดยเฉพาะภัยแรกสุด ลองพิจารณาดูจากบทความดังกล่าวอีกทีครับ
    สงสัยอะไร สอบถามเพิ่มเติมได้นะครับ ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ