วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 30 : น้ำท่วม (Flood) ความหมายในแง่การประกันภัย



(ตอนที่สอง)

ในแง่ของการประกันภัยที่จัดแบ่งลักษณะความคุ้มครองอย่างกว้าง ๆ เป็น 

1. ความคุ้มครองแบบระบุภัย ซึ่งจะกำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ให้ความคุ้มครองเฉพาะตามภัยที่ระบุไว้เท่านั้น โดยทั่วไป มักจะกำหนดคำนิยามเอาไว้ด้วยว่า ภัยที่ระบุไว้นั้น มีความหมายเฉพาะอย่างไร? ดังเช่น ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ฉบับมาตรฐาน ทั้งประเภทอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย กับประเภทอัคคีภัยทั่วไป ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัย จะกำหนดคำนิยามภัยน้ำท่วมไว้ดังนี้

คำว่า น้ำท่วมหมายถึง น้ำซึ่งไหลล้นหรือไหลออกจากทางน้ำปกติซึ่งจะเป็นทางน้ำธรรมชาติ หรือจะเป็นทางน้ำที่สร้างขึ้นก็ดี (ไม่รวมถึงรางน้ำบนหลังคา) หรือเกิดจากท่อน้ำสาธารณะแตก ทำให้เกิดการท่วมของน้ำจากภายนอกของอาคารที่เอาประกันภัยไว้ หรืออาคารที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ รวมถึงน้ำท่วมอันเกิดจากลมพายุ น้ำป่า และโคลนถล่ม

ทั้งนี้ ไม่คุ้มครอง
(1) ความเสียหายโดยตรงหรือโดยทางอ้อมที่เกิดจากคลื่นใต้น้ำ   
      (Tidal Wave) หรือสึนามิ (Tsunami) และ/หรือน้ำหนุน 
      (High Water) และ/หรือน้ำที่ไหลล้น (Overflow) และ/หรือ  
     น้ำท่วมอันมีสาเหตุจากแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด
(2) ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เคลื่อนย้ายได้ (สำหรับภัยน้ำท่วม
     ภายใต้ อค.1.18 ของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป ใช้เพียง
     คำว่า “ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้”) ซึ่งเก็บอยู่ในอาคารโปร่ง 
     หรืออาคารที่มีผนังด้านหนึ่งเปิดโล่ง หรือเก็บอยู่กลางแจ้ง ไม่
     ว่าจะมีการปกคลุมด้วยผ้าใบ หรือวัสดุปกคลุมใด ๆ หรือไม่ว่า
     จะอยู่ภายในเต็นท์ก็ตาม  
    
    สำหรับภัยลมพายุ ให้คำนิยามเอาไว้ว่า
       ภัยจากลมพายุ ให้หมายความถึง
        2.7.1 ความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากน้ำใน
                ทะเล ทะเลสาบ หรือมหาสมุทร ซึ่งถูกพัดหรือหอบมา 
                พร้อมกับลมพายุแล้วทำให้เกิดคลื่นซัดเข้าท่วมชายฝั่ง
    2.7.2 ความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (สำหรับภัย
            ลมพายุภายใต้ อค. 1.17 ของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
            ทั่วไป ใช้เพียงคำว่า ทรัพย์สิน”) ภายในตัวอาคารที่ได้
            เอาประกันภัยไว้ เนื่องจากน้ำฝน น้ำค้างแข็ง หิมะ ทราย 
            หรือฝุ่นละอองที่ผ่านเข้าไปภายในอาคาร ตามร่องแตก
            ร้าวของอาคารสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งได้รับความเสียหายอัน
            เกิดจากลมพายุโดยตรงเท่านั้น
    2.7.3 ความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (สำหรับภัย
            ลมพายุภายใต้ อค. 1.17 ของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่ว
               ไป ใช้เพียงคำว่า ทรัพย์สิน”) ภายในตัวอาคารที่ได้เอา
               ประกันภัยไว้ เนื่องจากเครื่องพรมน้ำ หรือท่อน้ำอื่น ๆ ซึ่ง
               ได้รับความเสียหายจากลมพายุโดยตรงเท่านั้น

               ทั้งนี้ ไม่คุ้มครอง
  (1) ความเสียหายโดยตรงหรือโดยทางอ้อมที่เกิดจาก 
       คลื่นใต้น้ำ (Tidal Wave) หรือสึนามิ (Tsunami)  
       และ/หรือน้ำหนุน (High Water) และ/หรือน้ำที่ไหล
       ล้น (Overflow) และ/หรือน้ำท่วม
           (2) ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เคลื่อนย้ายได้ (สำหรับภัย
                ลมพายุภายใต้ อค. 1.17 ของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
                ทั่วไป ใช้เพียงคำว่า “ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้”) ซึ่ง
                เก็บอยู่ในอาคารโปร่ง หรืออาคารที่มีผนังด้านหนึ่งเปิด
                โล่ง หรือเก็บอยู่กลางแจ้ง ไม่ว่าจะมีการปกคลุมด้วย
                ผ้าใบ หรือวัสดุปกคลุมใด ๆ หรือไม่ว่าจะอยู่ภายใน
                เต็นท์ก็ตาม 

ส่วนภัยแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด ก็ให้คำนิยามไว้ ดังนี้
       ภัยแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นใต้น้ำ หรือสึนามิ ที่มี
       สาเหตุจากธรรมชาติ และให้หมายความรวมถึงน้ำท่วม อันมี
       สาเหตุจากแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดที่มีสาเหตุจาก
       ธรรมชาติ
 
       ทั้งนี้ ไม่คุ้มครองความเสียหายโดยตรงหรือโดยทางอ้อมที่เกิด
       จากภัยแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดอันเกิดจากวัตถุใด ๆ จาก
       อวกาศ

    อนึ่ง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จำต้องกล่าวถึงภัยเนื่องจากน้ำ (Water Damage) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายในลักษณะใกล้เคียงกับภัยน้ำท่วมได้เช่นกัน โดยได้ระบุไว้ ดังนี้

   ภัยเนื่องจากน้ำ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล 
   หรือการล้นออกมา ของน้ำหรือไอน้ำ จากท่อน้ำ ถังน้ำ ระบบทำ
   ความร้อน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ และ
   รวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในอาคารจากการเสียหายของ
   หลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบประตู หน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสง
   สว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ 

แต่ไม่รวมถึง
        2.6.1 ความเสียหายที่เกิดจากน้ำไหลบ่า น้ำท่วมจากภายนอก
                อาคาร หรือน้ำที่ซึมผ่านเข้ามาทางผนัง ฐานรากและพื้น
                ของอาคาร
        2.6.2 การล้างท่อระบายน้ำ การแตกหรือการรั่วไหลจากระบบ
                ท่อประปาใต้ดิน หรือท่อน้ำดับเพลิงใต้ดิน ซึ่งเป็นท่อ
                เมนอยู่นอกสถานที่เอาระกันภัย หรือระบบพรมน้ำดับ
                เพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System)
 

2. ความคุ้มครองแบบสรรพภัย ซึ่งให้ความคุ้มครองจากอุบัติเหตุใด ๆ ที่มิได้อยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัย โดยที่ภัยน้ำท่วม และภัยธรรมชาติอื่นไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นแต่ประการใด ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย ในกรมธรรม์ประกันภัยลักษณะนี้ รวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไม่ว่า จะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญา (หรือกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง/ติดตั้ง) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ฯลฯ มิได้กำหนดคำนิยามเฉพาะสำหรับภัยธรรมชาติดังกล่าวเอาไว้เลย ในการตีความ มักใช้อ้างอิงจากความเข้าใจของคนทั่วไปมากกว่า แต่หลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย ส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยไม่สามารถรับความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติได้อย่างเต็มที่เหมือนเดิม ทำให้อย่างในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ได้มีข้อกำหนดในทางปฎิบัติไว้ว่า หากบริษัทประกันภัยแห่งใด ไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองสำหรับภัยธรรมชาติเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย เพียงให้เป็นวงเงินน้อยลงมาที่เรียกว่า “การจำกัดจำนวนเงินความรับผิด (Sub Limit)”จะต้องแนบคำนิยามภัยธรรมชาติเช่นเดียวกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยในข้อที่ 1. ข้างต้น

เมื่อเทียบเคียงกับคำจำกัดความทั่วไปของภัยน้ำท่วม และสาเหตุการเกิดน้ำท่วมในตอนที่หนึ่งของบทความนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ความคุ้มครองที่ได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยชนิดที่กำหนดคำนิยามภัยธรรมชาติเอาไว้ รวมถึงภัยเนื่องจากน้ำ จะแตกต่างจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นจริงอย่างมีประเด็น แตกต่างเช่นไร? ขออนุญาตไปคุยกันต่อในตอนที่สามนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น