วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เรื่่องที่ 29 : สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) เรียกอีกอย่างว่า ความเสียหายใกล้ชิด (Proximate Loss) ได้หรือเปล่า?



ในบทความที่ผ่านมา เราวิเคราะห์ความหมายของคำว่า “สาเหตุโดยตรง (directly caused or direct cause)” “สาเหตุโดยอ้อม (indirectly caused or indirect cause)” “ความเสียหายโดยตรง (direct loss)” และ “ความเสียหายโดยอ้อม (indirect loss)” ไปแล้ว

เราจะมาสรุปในชุดบทความนี้ด้วยคำว่า “สาเหตุใกล้ชิด (proximate cause)” ซึ่งได้เคยกล่าวถึงหลักการเรื่องนี้ไปบ้างแล้วในบทความเรื่องที่ 21 : พายุฝนฤดูร้อน - ทั้งลมพายุ ฝนตก ฟ้าผ่า และลูกเห็บเกิดในคราวเดียวกัน ประกันภัยคุ้มครองอย่างไร? คงไม่ขอกล่าวซ้ำ แต่จะพูดถึงอีกมุมมองหนึ่ง

อย่างที่เราเคยวิเคราะห์กัน “สาเหตุโดยตรง” มีความหมายเช่นเดียวกับ “สาเหตุใกล้ชิด” แล้ว “ความเสียหายโดยตรง” จะเรียกว่า “ความเสียหายใกล้ชิด” ได้หรือไม่?

ถ้าเราพิจารณาเรื่องเหตุ (cause) และผล (effect) เหตุ” หรือ “สาเหตุ” ให้ความหมายถึง สิ่งที่ก่อให้เกิด “ผล

ฉะนั้น ถ้าเรียกว่า “ความเสียหายใกล้ชิด” จะให้ความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจาก “ความเสียหายโดยตรง” อย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ที่ถูกต้องจึงควรเรียกว่า “สาเหตุใกล้ชิด” จะให้ความหมายที่ถูกต้องมากกว่า ยิ่งเมื่อดูความหมายจากพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น

หลักสาเหตุใกล้ชิดถือเป็นหลักการตีความของกฎหมาย แม้จะมิได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย ก็คงมีผลบังคับ เพราะบางครั้ง อาจวิเคราะห์เพียงจากถ้อยคำของข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ซึ่งไม่มีถ้อยคำในลักษณะยกเว้นซ้อนยกเว้นที่จะทำให้ข้อยกเว้นนั้นกลับมามีความคุ้มครองกำหนดไว้อย่างชัดเจน แล้วอาจทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่า เป็นข้อยกเว้นโดยเด็ดขาด ซึ่งจะส่งผลทำให้ภัยคุ้มครองอื่นที่เป็นต้นเหตุ หรือที่สืบเนื่องมานั้น ล้วนไม่อาจมีผลใช้บังคับได้เลย เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะถ้าสามารถแยกแยะความเสียหาย ซึ่งเป็นผลจากภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน ศาลมักจะตีความว่า ความเสียหายในส่วนของภัยที่คุ้มครองนั้น ยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่

ทั้งนี้ จำต้องพิจารณาถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัย ประกอบกับข้อความจริงที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญในการตีความด้วยเป็นสำคัญ

ยกตัวอย่าง

ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้คำว่า “มีสาเหตุมาจาก (caused by)” และ “เกิดขึ้นมาจาก (arising from)” แนวคำวินิจฉัยของศาลต่างประเทศ ให้ความหมายเช่นเดียวกับ “มีสาเหตุใกล้ชิดมาจาก (proximately caused by)” หรือ “มีสาเหตุโดยตรงมาจาก (directly caused by)

ส่วนคำว่า “มีความเกี่ยวเนื่องไม่ว่าในทางใด (in anyway involving)” หมายความถึง “มีสาเหตุโดยอ้อมมาจาก (indirectly caused by)

ขณะที่คำว่า “เกิดขึ้นเนื่องมาจาก (arising out of)” จะให้ความหมายกว้างกว่าสาเหตุโดยตรง หรือสาเหตุใกล้ชิด

(อ้างอิงมาจาก UK: Aggregation Words, Clyde & Co LLP, 17 June 2016)

ในทางปฎิบัติ ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยอาจเขียนด้วยการใช้ถ้อยคำที่หลากหลายมากกว่านี้ หากไม่ชัดเจน หรือขัดแย้งกันเอง ศาลก็จำต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์เฉพาะจุดนั้น หรือจากกรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับ ประกอบข้อความจริงที่เกิดขึ้นเป็นเกณฑ์ บ่อยครั้งที่ศาลอาจใช้ดุลยพินิจยกประโยชน์ของความไม่ชัดเจนนั้นให้แก่คู่สัญญาฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้ร่างถ้อยคำนั้น คือ ผู้เอาประกันภัยไปเลย

การศึกษาทำความเข้าใจเรื่องราวของการประกันภัย คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้ให้มาก อ่านให้มาก และนำมาไตร่ตรอง พินิจพิเคราะห์ บทความที่ผู้เขียนพยายามรวบรวมมา จึงถือเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่อาจจุดประกายให้แก่ท่านที่ได้มีโอกาสแวะเวียนเข้ามาอ่านเท่านั้น

ฤดูนี้เป็นช่วงฤดูฝน บทความต่อไปจะนำเสนอความหมายของคำว่า “น้ำท่วม (Flood)” ที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยต่าง ๆ จะให้ความหมายเป็นเช่นไรกันบ้าง? ติดตามต่อไปนะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น