วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 28 : ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยอ้อม (Indirect Loss or Damage) ความเหมือนที่แตกต่างระหว่างประกันภัยกับหลักกฎหมาย



(ตอนที่ห้า)

ผู้เอาประกันภัยซึ่งประกอบกิจการขายส่ง และขายปลีกเนื้อสัตว์ในเมืองนิวยอร์ก เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2002 จนทำให้อาคาร สต็อกสินค้า และทรัพย์สินอื่นที่ได้เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายอย่างมาก ถึงขนาดจำต้องหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อทำการซ่อมแซม โชคดีที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งมีระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหนึ่งปีเอาไว้ด้วย นอกเหนือจากการประกันภัยทรัพย์สิน

เมื่อผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไปจำนวนหนึ่ง บริษัทประกันภัยปฎิเสธว่า จำนวนเงินนั้นสูงเกินไป ขอชดใช้ล่วงหน้าเพียงจำนวนเงิน 163,161.92 ดอลล่าร์สหรัฐไปก่อน หลังจากเจรจาหาข้อสรุปกันเกินกว่าหนึ่งปี บริษัทประกันภัยก็ตกลงชดใช้ให้เป็นยอดเงินรวม 407,181 ดอลล่าร์สหรัฐ โดยเสนอชดใช้สำหรับความคุ้มครองการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักเพียงระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเจ็ดเดือน แทนที่จะเป็นหนึ่งปีตามที่ได้ตกลงกัน ตลอดระยะเวลาการเจรจาต่อรองกันนั้น ผู้เอาประกันภัยต้องปิดกิจการอย่างถาวร ไม่อาจกลับมาดำเนินธุรกิจของตนต่อไปได้เลย

ครั้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรายนี้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด รวมทั้งค่าเสียหายสืบเนื่อง(Consequential Damages) อื่น ๆ ทั้งหลายจากการประวิงในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันเป็นการผิดสัญญาประกันภัย จนถึงขนาดทำให้ธุรกิจของผู้เอาประกันภัยต้องล้มลงไป ไม่อาจกลับมาประกอบธุรกิจได้ดังเดิม ซึ่งค่าเสียหายสืบเนื่องดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่คู่สัญญาประกันภัยสามารถคาดหวังได้ตามสมควรในเวลาทำสัญญานั้นเอง

บริษัทประกันภัยปฎิเสธโดยอ้างว่า กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินระบุอย่างชัดแจ้งว่า ไม่คุ้มครองความเสียหายสืบเนื่อง (Consequential Loss)

ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับบริษัทประกันภัย ทั้งยังเห็นด้วยว่า ค่าเสียหายสืบเนื่องนั้น มิใช่สิ่งที่คู่สัญญาสามารถรับรู้ได้ในเวลาทำสัญญา

ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลสูงของเมืองนิวยอร์กต่อไป ซึ่งศาลสูงวินิจฉัยว่า คู่สัญญาฝ่ายที่ไม่ได้ผิดสัญญา จะสามารถเรียกร้องได้เพียงค่าเสียหายทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามปกติทั่วไปจากผลแห่งการผิดสัญญานั้นเอง ค่าเสียหายพิเศษ หรือค่าเสียหายสืบเนื่อง ซึ่งมิได้เป็นผลโดยตรงจากการละเมิดสัญญา จะสามารถเรียกร้องได้ต่อเมื่อคู่สัญญาได้รับรู้ หรือคาดหวังเช่นนั้นได้ในเวลาทำสัญญานั้นเอง แต่ก็มิได้ถึงขนาดต้องรับรู้ได้จริง เพียงแต่สามารถคาดหวังได้ และมีความเป็นไปได้ตามสมควรแก่กรณี มิใช่เป็นสิ่งที่เพ้อฝัน หรือเลื่อนลอยจนเกินไป อย่างเช่น ความคาดหวังผลกำไรที่คาดว่าจะได้มาในอนาคต จะต้องสามารถประเมินได้อย่างใกล้เคียงกับความน่าจะเป็นโดยอาศัยปัจจัยอันสมเหตุสมผล

จะเห็นได้ว่า ค่าเสียหายสืบเนื่อง (Consequential Damages) นั้น สามารถพิสูจน์ และประเมินมูลค่าได้ โดยมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากการละเมิดสัญญานั้นเอง ซึ่งแตกต่างจากค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages) ที่ไม่อาจวัดคำนวณได้ เพราะเจตนารมณ์มุ่งลงโทษผู้กระทำผิดให้หลาบจำมากกว่า

เนื่องจากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น มุ่งเน้นเพื่อทำให้ผู้เอาประกันภัยสามารถกลับคืนสู่สภาพดังเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นมาเลย โดยที่ทั้งการประกันภัยทรัพย์สินกับการประกันภัยหยุดชะงักต่างก็มีวัตถุประสงค์หลักเช่นนั้น เมื่อธุรกิจของผู้เอาประกันภัยมิได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนมาเพื่อเป็นทุนฟื้นฟูสภาพในการดำเนินธุรกิจต่อไป ดังนั้น การกำหนดให้บริษัทประกันภัยเพียงชดใช้เงินตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำต้องจ่ายออกมาตั้งแต่ต้น บวกด้วยค่าดอกเบี้ยตามกฎหมายเท่านั้น จึงไม่อาจทำให้ผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สภาพดังเดิมอีกได้เลย เว้นแต่บริษัทประกันภัยจะได้ปฎิบัติให้เป็นไปตามภาระผูกพันด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างถูกต้อง และในเวลาอันสมควรด้วย

เมื่อบริษัทประกันภัยมิได้กระทำการให้เป็นดังว่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรคาดหวังได้ว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายพิเศษเพิ่มเติมแก่ผู้เอาประกันภัยได้เช่นใดบ้าง ค่าเสียหายสืบเนื่องที่เกิดขึ้นนี้ มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นสิ่งที่ให้โอกาสผู้เอาประกันภัยสามารถต่อรองผลประโยชน์ที่ควรจะได้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดสำหรับค่าเสียหายสืบเนื่อง (Consequential Damages) ด้วย เพราะมิใช่เป็นความเสียหายสืบเนื่อง (Consequential Loss) อันอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัย

อ้างอิงคดี Bi-Economy Market, Inc. v. Harleysville Ins. Co. of New York, 210 N.Y. 3d 187 (N.Y. February 19, 2008)     

คุณรับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ? และเรื่องแบบนี้ หากเกิดเป็นคดีขึ้นมาในประเทศไทย ศาลไทยจะมีความเห็นเป็นเช่นไร? น่าสนใจครับ

บังเอิญ ผมไปเจอคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหนึ่ง น่าจะพอเข้าประเด็นนี้ได้ แต่ขอเวลาหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิดนึงครับ

ส่วนหนึ่งอ้างอิงมาจากบทความ Direct and Consequential Losses – A Single International Approach and Understanding? และ Consequential Damages Under the Insurance Contract – The New “Bad Faith”?, Carol M. Rooney

สำหรับบทความเรื่องความเสียหายโดยอ้อม หรือความเสียหายสืบเนื่องคงจบเพียงเท่านี้ เรื่องต่อไปคงเป็นเรื่องสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Loss) ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น