วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 30 : น้ำท่วม (Flood) ความหมายในแง่การประกันภัย



(ตอนที่หนึ่ง)

ฤดูนี้เป็นช่วงฤดูฝน เรามักจะเห็นภาพข่าวเรื่องน้ำท่วมที่นั่น ที่โน่นบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งแก่ชีวิต ร่างกายของคน และสัตว์ ความเสียหายแก่ทรัพย์สินต่าง ๆ ตลอดจนความเสียหายทางเศรษฐกิจ แล้วเราเคยสงสัยไหมครับ คำว่า “น้ำท่วม” ที่พูดถึงบ่อยครั้ง มีความหมายอย่างไร? คำกล่าวที่ว่า “น้ำรอการระบาย” มันแตกต่างจาก “น้ำท่วม” หรืออย่างไร? ทั้งเราอาจเคยได้ยินคำว่า “น้ำเจิ่งนอง” มันใช่ “น้ำท่วม” หรือเปล่า?

งั้นเรามาทำความเข้าใจความหมายทั่วไปของคำว่า “น้ำท่วม” กันก่อนที่จะไปวิเคราะห์ความหมายในแง่ของการประกันภัย

ความหมายทั่วไป

ถ้าไปเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะไม่พบคำว่า “น้ำท่วม” จะต้องค้นหาแยกคำ “น้ำ” หมายความถึง สารประกอบซึ่งมีองค์ประกอบเป็นธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจนในอัตราส่วน 1 : 8 โดยนํ้าหนัก เมื่อบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี กลิ่น รส มีประโยชน์มาก เช่น ใช้ดื่ม ชําระล้างสิ่งสกปรก ใช้เรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะเป็นนํ้าหรือเหลวเหมือนนํ้า เช่น นํ้าตา นํ้าปลา นํ้าพริก นํ้าส้ม และคำว่า “ท่วม” หมายความถึง ไหลหลาก บ่า หรือเอ่อท้นจนลบพื้นที่หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น นํ้าท่วมทุ่ง นํ้าท่วมบ้าน

เมื่อรวมความหมาย คือ น้ำที่ไหลหลาก บ่า หรือเอ่อล้นจนลบพื้นที่นั้น

โดยในวิกิพจนานุกรม พจนานุกรมเสรี ระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อนำ 2 คำนี้มาบ่งบอกความหมายที่ชี้ชัด ได้ความ “น้ำท่วม” ดังนี้
1.   ระดับน้ำ น่าจะตั้งแต่ 30 ซม.ขึ้นไป
2.   คือน้ำที่มาจากที่อื่น ไหลท่วมพื้นที่ ที่ผ่าน อาจมีบริเวณเล็กๆ  
     หรือกว้างก็ได้
3.   คือน้ำฝนที่ตกลงมา ณ พื้นที่นั้น อาจมีบริเวณเล็กๆ หรือกว้างก็
     ได้
ลักษณะที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม เช่น หลังจากน้ำลดลงและพื้นที่แห้ง บางพื้นที่อาจมีน้ำนอง หรือน้ำขัง

คำว่า “นอง” หมายความถึง ค้างขังอยู่บนพื้น (ใช้แก่น้ำ) เช่น น้ำนองถนน น้ำนองบ้าน

เมื่อนำคำว่า “น้ำ” มาผสมกัน จะบ่งบอกความหมายที่ชี้ชัด ได้ความ “น้ำนอง” ดังนี้
1.   ระดับน้ำ น่าจะไม่สูงกว่า 30 ซม.
2.   น้ำที่เกิดจากน้ำฝนที่ตกลงพื้นที่ ณ ที่นั้น เรียกน้ำขังก็ได้
3.   น้ำที่ไหลล้นจากแม่น้ำ ลำคลอง ไปตามพื้นที่ริมลำน้ำนั้นๆ
4.   ปริมาณน้ำไหลนอง เมื่อมากขึ้นระดับหนึ่ง อาจเป็นน้ำท่วมได้

อนึ่ง ถ้าผสมกับคำว่า “เจิ่ง” ซึ่งหมายความถึง แผ่ไปมากกว่าปรกติ (ใช้แก่นํ้า) ก็ให้ภาพน้ำที่ค้างขังอยู่บนพื้นในบริเวณกว้างออกไป

คำว่า “ขัง” หมายความถึง ให้อยู่ในที่ล้อมเช่นกรง คอก หรือเล้า เป็นต้น, ให้อยู่ในที่ซึ่งกันไว้ เช่น ขังน้ำ

เมื่อนำคำว่า “น้ำ” มาผสมกัน จะบ่งบอกความหมายที่ชี้ชัด ได้ความ “น้ำขัง” ดังนี้
1.   ระดับน้ำอยู่ในพื้นที่ ที่ทำขึ้น อาจเป็นที่เก็บกักน้ำก็ได้ มีความ 
     ลึกตามลักษณะของพื้นที่เก็บกักน้ำ
2.   น้ำที่เกิดจากน้ำฝนที่ตกลงพื้นที่ ณ ที่นั้น เช่น ถนน บางทีเรียก
     น้ำนอง ก็ได้

และผลของน้ำขัง ในบางพื้นที่ อาจมาจากหลังน้ำลดของน้ำท่วมก็ได้

ส่วนคำว่า “อุทกภัย หมายความถึง ภัยและอันตรายที่เกิดจากสภาวะน้ำท่วม (กรมอุตุนิยมวิทยา)

สาเหตุการเกิดอุทกภัย

การเกิดอุทกภัยนั้น สามารถจำแนกออกได้สองสาเหตุใหญ่ ๆ คือ
1. สาเหตุจากธรรมชาติ ได้แก่
    1.1) ฝนตก หรือพายุฝนฟ้าคะนอง
    1.2) ลมพายุที่เกิดขึ้นในทะเล หรือมหาสมุทร ทำให้คลื่นลมปั่น
           ป่วน หรือลมพายุยกตัวขึ้นฝั่ง หอบเอาน้ำมาด้วยที่กองอุตุ
           นิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เรียกว่า “ภาวะน้ำ
           เอ่อล้นฝั่งและคลื่นซัดฝั่ง (Storm Surge)
    1.3) น้ำทะเลหนุน
    1.4) แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิดที่ส่งผลทำให้เกิดคลื่นปั่น
           ป่วนในแม่น้ำ ทะเล หรือมหาสมุทร หรืออาจทำให้เขื่อนแตก
           ก็ได้
    1.5) อุกาบาตก็ให้ผลคล้ายคลึงกันกับกรณีแผ่นดินไหว หรือภูเขา
           ไฟระเบิด
    1.6) แผ่นดินทรุดตัว
    1.7) เมื่อระดับน้ำภายใต้พื้นดินยกตัวสูงขึ้นกว่าระดับปกติจนถึงพื้น
           ผิวดิน  

2. สาเหตุจากน้ำมือมนุษย์ ได้แก่
    2.1) การก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ
    2.2) ท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กไม่เพียงพอรับปริมาณน้ำ
    2.3) การตัดไม้ทำลายป่า
    2.4) การก่อวินาศกรรม
    2.5) การทิ้งเศษสิ่งของกีดขวางทางน้ำ
    2.6) การบริหารจัดการน้ำไม่ดีพอ

เมื่อเราทำความเข้าใจถึงความหมายทั่วไป และสาเหตุที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมแล้ว ต่อไปจะมาพิจารณาดูถึงความหมายในแง่ของการประกันภัยบ้างว่า จะเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร? ในตอนต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น