วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 30 : น้ำท่วม (Flood) ความหมายในแง่การประกันภัย



(ตอนที่สาม)

หากเรานำเอาสาเหตุการเกิดน้ำท่วมในตอนที่หนึ่งมาเทียบเคียงกับคำนิยามของน้ำท่วมตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย (อค.) และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (ทส.) ในตอนที่สอง จะเห็นภาพออกมาได้ดังนี้ครับ

สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม
ภัยที่คุ้มครองของการประกันภัย
1.2)     ฝนตก หรือ


        พายุฝนฟ้าคะนอง
ถ้าเกิดจากฝนตกหนัก ไม่ได้รวมถึงน้ำท่วมขังบนพื้นดิน หรือน้ำที่เอ่อล้นจากหนองบึง แอ่งน้ำ ทะเลสาบ
ถ้าลมพายุทำให้เกิดน้ำท่วม จัดอยู่ในภัยน้ำท่วม
1.2) ลมพายุที่เกิดขึ้นในทะเล หรือ
       มหาสมุทร
จัดอยู่ในภัยลมพายุ
1.3) น้ำทะเลหนุน
ไม่ได้รวมถึง
1.4) แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด
จัดอยู่ในภัยแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด
1.5) อุกาบาต
ไม่ได้รวมถึง
1.6) แผ่นดินทรุดตัว
ไม่ได้รวมถึง
1.7) เมื่อระดับน้ำภายใต้พื้นดินยกตัว
       สูงขึ้น
ไม่ได้รวมถึง
2.1) การก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ
ไม่ได้รวมถึง
2.2) ท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กไม่
       เพียงพอรับปริมาณน้ำ
ไม่ได้รวมถึง แม้จะตีความให้ท่อระบายน้ำเป็นทางน้ำปกติ แต่ลักษณะมิใช่เป็นการเอ่อล้น น่าจะเป็นการระบายลงไม่ทัน หรือรองรับน้ำไม่เพียงพอมากกว่า
2.3) การตัดไม้ทำลายป่า
จัดอยู่ในภัยน้ำท่วม ลักษณะเป็นน้ำป่า
2.4) การก่อวินาศกรรม
ไม่ได้รวมถึง เพราะอยู่ในข้อยกเว้น
2.5) การทิ้งเศษสิ่งของกีดขวางทางน้ำ
จัดอยู่ในภัยน้ำท่วมได้
2.6) การบริหารจัดการน้ำไม่ดีพอ
จัดอยู่ในภัยน้ำท่วมได้
2.7) ความประมาทเลินเล่อของมนุษย์
จัดอยู่ในภัยน้ำท่วมได้ ถ้าเกิดจากท่อน้ำสาธารณะแตก

ความรู้สึกของคนทั่วไปอาจคิดว่า น้ำท่วม คือ น้ำท่วม ทำไมจะต้องมานั่งตีความกันด้วย เพราะความเข้าใจของแต่ละคน อาจไม่ตรงกัน กอปรกับภัยน้ำท่วมเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงอยู่บ่อยครั้ง ถึงขนาดบางประเทศอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศออสเตรเลียกำหนดเป็นข้อยกเว้นมาตรฐานเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เนื่องจากไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงภัยนี้เอาไว้เองโดยลำพังได้ จำต้องอาศัยการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมารับความเสี่ยงภัยนี้แทน เพื่อจะได้ช่วยกันแบ่งเบาภาระความเสี่ยงภัยนี้ อย่างในประเทศไทย ซึ่งก็พยายามกำหนดคำนิยาม และวงเงินความรับผิดเอาไว้ เพื่อจำกัดขอบเขตมิให้คุ้มครองภัยน้ำท่วมกว้างจนเกินไป อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเภทของกรมธรรม์ประกันภัยที่ปราศจากการกำหนดคำนิยามเอาไว้ จึงต้องอาศัยจากความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นเกณฑ์

เรามาลองพิจารณาเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยของศาลในประเทศไทยเป็นแนวทางกันนะครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5744/2534 จำเลยรับประกันภัยอาคารโรงงานและทรัพย์สินต่าง ๆ ในโรงงานของโจทก์ต่อมาภายในกำหนดเวลาประกันภัย ฝนตกหนัก น้ำฝนที่ไหลจากหลังคาโรงงานลงมาในบริเวณโรงงานไม่สามารถระบายออกไปสู่นอกโรงงานได้ เพราะโจทก์ก่อกำแพงและเอากระสอบทรายปิดกั้นท่อระบายน้ำไว้เพื่อป้องกันมิให้น้ำภายนอกโรงงานไหลเข้ามา เนื่องจากขณะนั้นเกิดเหตุน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้น้ำฝนดังกล่าวท่วมขังอาคารโรงงาน ทำให้ทรัพย์สินโจทก์เสียหายความเสียหายดังกล่าวหาใช่เกิดจากน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปในสิ่งปลูกสร้างจากการชำรุดของหลังคา ประตู หน้าต่าง ช่องลม ท่อน้ำหรือรางน้ำ และหาใช่ความเสียหายซึ่งเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากอุบัติเหตุจากการล้นออกมาของน้ำจากท่อน้ำ อันจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยไม่

คดีนี้ เมื่อเทียบเคียงกับคำนิยามในตอนที่สอง จะไม่เข้าข่ายภัยน้ำท่วม หากเกิดจากฝนตกหนัก แต่ถ้าเกิดจากพายุฝนเป็นต้นเหตุ ก็เข้าข่ายภัยน้ำท่วมได้ ซึ่งเป็นส่วนของคำนิยามที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ภายหลังเหตุการณ์มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ดังนั้น สำหรับคดีนี้ ในเวลานั้น จึงยังไม่อยู่ในคำนิยามของภัยน้ำท่วม และภัยเนื่องจากน้ำ เพราะมิฉะนั้นแล้ว โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้มีการก่อสร้างกำแพงป้องกันในลักษณะเดียวกัน อาจจะมีปัญหาไม่ได้รับความคุ้มครองเหมือนอย่างในคดีนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม คือ ถ้าเพียงฝนตกหนัก ไม่ถึงขนาดเป็นพายุฝนล่ะ แต่ระบายน้ำไม่ทัน ก็ยังไม่เข้าข่ายความคุ้มครองนี้อยู่ดี

งั้นลองมาพิจารณาอีกคดีหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 ที่วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติอาคารชุดฯ ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุด อันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตน แต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่า เป็นกรรมสิทธิ์รวม ระหว่างเจ้าของห้องชุด ซึ่งมีไว้เพื่อใช้ หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งกฎหมาย และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด เมื่อสาเหตุที่น้ำท่วมห้องชุดของโจทก์ เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุด เนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา แม้โจทก์มิได้นำสืบว่า เหตุใดท่อน้ำจึงอุดตันและจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้น หรือบริเวณที่อุดตันนั้น ไม่อาจตรวจพบได้ โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เช่นนี้ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

หากทั้งนิติบุคคลอาคารชุด และ/หรือเจ้าของห้องชุดนี้ มีกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยรวมภัยธรรมชาติ หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินตามที่อ้างอิงไว้ในตอนที่สอง จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนได้หรือไม่? อย่างไร?   

ตอนต่อไป เราค่อยมาหาคำตอบเรื่องนี้กัน และพูดคุยกันต่อถึงความหมายของภัยน้ำท่วมกับการประกันภัยในต่างประเทศกันบ้างครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น