(ตอนที่สี่)
กรณีน้ำท่วมห้องชุดของเจ้าของห้อง เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุด
เนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของนิติบุคคลอาคารชุดดังว่านั้น
เมื่อเรามาพิจารณาดูภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
สำหรับที่อยู่อาศัยรวมภัยธรรมชาติ ซึ่งได้ให้ความคุ้มครองรวมถึงภัยน้ำท่วม
และภัยเนื่องจากน้ำไว้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้คำนิยามของภัยน้ำท่วมที่มุ่งเน้นไปที่น้ำท่วมพื้นดินจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในอาคาร
หรือสถานที่ตั้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมากกว่า ครั้นพิจารณาจากคำนิยามของภัยเนื่องจากน้ำ
จะเห็นได้ว่า เข้าข่ายคำนิยามนี้ที่ระบุว่า “ภัยเนื่องจากน้ำ
อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมา ของน้ำหรือไอน้ำ
จากท่อน้ำ…”
หากกรณีเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ผลเป็นเช่นเดียวกัน ถ้าแนบคำนิยามของภัยน้ำท่วม (ทส.) เนื่องจากภัยเนื่องจากน้ำ
มิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ และเหตุที่เกิดขึ้น ก็มิได้อยู่ในข้อยกเว้น
จึงได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ด้วย
ปัญหาที่จะต้องมองต่อไป คือ เมื่อบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของห้องชุดนั้น
ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว บริษัทประกันภัยนั้น
ก็จะสวมสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปไล่เบี้ยเอาจากนิติบุคคลอาคารชุด
ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายในครั้งนี้อีกทอดหนึ่ง
ถ้านิติบุคคลอาคารชุดมีกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกคุ้มครองอยู่
บริษัทประกันภัยนั้นของนิติบุคคลอาคารชุด ก็จะช่วยชดใช้ให้แทนได้ ถ้าไม่มี นิติบุคคลอาคารชุดนั้นจำต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง
แต่ถ้าไปเกิดน้ำท่วมห้องชุดที่อยู่ชั้นล่างสุดระดับพื้นดินล่ะ
เนื่องจากฝนตกหนักจนน้ำท่วมเอ่อล้นบ่อพักน้ำชั้น G เข้าไปทำความเสียหายให้แก่ห้องชุดนั้น เมื่อนิติบุคคลอาคารชุดไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนมาชดใช้แทนให้แก่เจ้าของห้องชุดรายนี้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว
ปรากฏว่า ถูกปฎิเสธ เนื่องจากตกอยู่ในข้อยกเว้นที่ระบุว่า
“6. ความรับผิดตามกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำความเสียหายใดๆ
อันเกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องจาก หรือเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมจากน้ำท่วม”
โดยที่ในกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายนี้
มิได้กำหนดคำนิยาม “น้ำท่วม” เอาไว้
บริษัทประกันภัยจึงอาศัยเทียบเคียงกับคำนิยามของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินข้างต้นมาอ้างอิง
แต่เมื่อเป็นคดีข้อพิพาทกันขึ้นมา อนุญาโตตุลาการไม่เห็นพ้องด้วย
แม้ภัยที่เกิดขึ้นเป็นภัยที่เกิดจากน้ำก็ตาม แต่ก็เป็นภัยที่เกิดจากน้ำฝนตกลงมาตามธรรมชาติอย่างผิดปกติ
และมีปริมาณมากทั้งภายนอก และภายในอาคาร จนไม่สามารถป้องกันได้
มิใช่เรื่องจากน้ำไหลจากทางน้ำธรรมชาติภายนอกอาคารเข้ามาท่วมภายในอาคารแต่อย่างใด และจะถือว่าเป็นการเข้าท่วมจากภายนอกเข้ามาในอาคารแต่ทางเดียวไม่ได้
เพราะเป็นการท่วมทั้งภายในภายนอกในเวลาเดียวกัน (ภายในก็ระบายน้ำออกไม่ทัน ครั้นไปอาศัยท่อระบายน้ำสาธารณะภายนอกก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน)
จึงไม่อาจอ้างปฎิเสธความรับผิดได้ (ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 4/2553 คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
สำนักงาน คปภ.)
อย่างไรก็ตาม ถึงนิติบุคคลอาคารชุดจำต้องรับผิดแก่เจ้าของห้องชุด
ผลแห่งความเสียหายก็ย้อนกลับมาที่เจ้าของห้องชุดทุกรายอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
หากบริษัทประกันภัยไม่คุ้มครอง หรือคุ้มครอง แต่ไม่เพียงพอ
อาจเนื่องจากวงเงินความคุ้มครองต่ำไป หรือถูกหักค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) หรือกระทั่งต้องไปเพิ่มวงเงินความคุ้มครองให้กลับคืนดังเดิม
ด้วยการชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมภายหลัง เพราะเงินทั้งหมดที่นิติบุคคลอาคารชุดจ่ายออกไปนั้น
เป็นเงินที่สมทบมาจากเจ้าของห้องชุดทุกรายนั่นเอง
เปรียบเสมือนเหตุที่เกิดขึ้นในอาคารชุด
เจ้าของร่วมทุกรายมีส่วนร่วมรับผิดด้วยกันทั้งสิ้น
บริษัทประกันภัยอาจเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระได้บ้างในระดับหนึ่ง ส่วนที่ขาดหายไป
ตกเป็นภาระไปยังเจ้าของร่วมทุกรายดังกล่าว อันที่จริง ส่วนที่ขาดหายไปนี้
ในต่างประเทศ ซึ่งมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะสำหรับอาคารชุด (Condominium
Insurance หรือ Strata Insurance) สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม
เพื่ออุดช่องว่างตรงนี้ได้ แต่บ้านเรา ยังไม่มีกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะเช่นนั้น
ดังนั้น เจ้าของร่วมทุกรายจำต้องบริหารจัดการปัญหาด้วยตนเองต่อไป
ตอนต่อไป เราจะมาลองพิจารณาดูเรื่องการตีความภัยน้ำท่วมในต่างประเทศกันเสียทีนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น