(ตอนที่สอง)
นายหน้าประกันวินาศภัยไม่ทำหน้าที่ในการจัดประกันภัยให้เหมาะสม
เจ้าของโรงแรมตั้งอยู่ร่องน้ำริมฝั่งทะเลแห่งหนึ่ง โดยมีท่าจอดเรืออยู่ในน้ำ
ซึ่งได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่จัดงานบันเทิง และเต้นรำด้วย ประสงค์จะจัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนเอง
จึงได้ไปติดต่อนายหน้าประกันวินาศภัยรายหนึ่ง พร้อมกล่าวย้ำเป็นพิเศษว่า ตนเองกังวลเรื่องโอกาสความเสี่ยงภัยน้ำท่วมอย่างมาก
โดยเฉพาะน้ำที่จะเอ่อล้นเข้ามาทางร่องน้ำ รวมทั้งโอกาสที่จะเกิดภัยลมพายุ และยินดีรับพิจารณาราคาค่าเบี้ยประกันภัยที่อาจจะแพงขึ้น
นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้จึงได้ไปจัดความคุ้มครองกับบริษัทประกันภัยตามความประสงค์ของผู้เอาประกันภัย
ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมแห่งนี้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
โดยได้มีการขยายความคุ้มครองเพิ่ม ให้รวมถึงภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ และภัยเนื่องจากน้ำเอาไว้ด้วย
ครั้นต่อมา ได้เกิดพายุไซโคลนใกล้ชายฝั่ง
แต่ไม่มีฝนตกอย่างใด ด้วยกำลังแรงของลมได้ก่อให้เกิดคลื่นปั่นป่วนในท้องทะเล จนน้ำทะเลทะลักผ่านเข้ามาทางร่องน้ำที่โรงแรมตั้งอยู่
ทำให้น้ำยกตัวสูงขึ้นเอ่อล้นเข้าไปสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยรายนี้
ทั้งส่งผลทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักไปด้วย
เมื่อผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย
บริษัทยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะความเสียหายจากแรงลมพายุ แต่ปฎิเสธชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนของภัยน้ำท่วมครั้งนี้
เนื่องจากในเงื่อนไขข้อหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า ไม่คุ้มครองความเสียหาย
ซึ่งมีสาเหตุทั้งโดยตรง และโดยอ้อมจากน้ำทะเล ผู้เอาประกันภัยได้โต้แย้งว่า
ไม่ทราบว่า มีเงื่อนไขนี้ระบุไว้เช่นนั้น เข้าใจว่า
ภัยน้ำท่วมที่มีอยู่จะให้ความคุ้มครองทุกกรณี ทั้งนายหน้าประกันวินาศภัยของตนก็ไม่ได้ชี้แจงอะไรเป็นพิเศษให้รับรู้ด้วย
อนึ่ง ความเสียหายเองก็มีต้นเหตุมาจากภัยลมพายุที่คุ้มครองอยู่ อย่างไรก็ดี
ศาลเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัย
ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจำต้องนำคดีมาฟ้องร้องนายหน้าประกันวินาศภัยของตน
กรณีที่มิได้จัดความคุ้มครองให้ตรงตามความประสงค์ ซึ่งศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า
นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ประมาทเลินเล่อที่มิได้ตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองภัยน้ำท่วมให้ชัดเจนเสียก่อน
จึงวินิจฉัยให้นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย สำหรับความเสียหายในส่วนที่มิได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย
อ้างถึงคดี Mitor Investments Pty Ltd v General Accident Fire &. Life Assurance Corporation Ltd [1984] WAR 365
บทบาทหน้าที่ของนายหน้าประกันวินาศภัย
ยังมีอีกหลายประเด็น
จะทยอยนำตัวอย่างคดีข้อพิพาทมาเล่าสู่กันฟังให้ครบทุกประเด็นนะครับ โปรดติดตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น