วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 31 : คนกลางประกันภัยไม่แนะนำ หรือจัดประกันภัยให้ไม่เหมาะสม หรือไม่เพียงพอ ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือไม่?



(ตอนที่หนึ่ง)

คนกลางประกันภัยในที่นี้ ได้แก่ ตัวแทนประกันวินาศภัย และนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกันภัยวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขล่าสุด พ.ศ. 2558 ให้ความหมายไว้ในมาตรา 4 ดังนี้

“ตัวแทนประกันวินาศภัย” หมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท

“นายหน้าประกันวินาศภัย” หมายความว่า ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น

โดยตัวแทนประกันวินาศภัยถือเป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยในการชักชวนคนให้มาทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ขณะที่นายหน้าประกันวินาศภัยถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยในการให้คำแนะนำเรื่องการประกันภัยต่าง ๆ หรือในการเข้าไปตกลงทำสัญญาประกันภัยในนามของผู้เอาประกันภัย ตามแต่กรณีที่จะได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ คนกลางประกันภัยทั้งคู่จะต้องมีใบอนุญาตในการกระทำหน้าที่ดังกล่าวนั้นด้วย

เมื่อคนกลางประกันภัยละเลยไม่ทำหน้าที่ที่ตนควรจะต้องกระทำ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง

นายหน้าประกันวินาศภัยไม่ทำหน้าที่ชี้แจงเงื่อนไขความคุ้มครอง

สัปดาห์ที่แล้ว เราพูดถึงคดี Elilade Pty Ltd v Nonpareil Pty Ltd (2002) 124 FCR 1 ซึ่งเกิดน้ำท่วมเป็นสองระลอก โดยระลอกแรกไม่อยู่ภายใต้คำนิยามภัยน้ำท่วม ศาลตัดสินให้ได้รับความคุ้มครอง ส่วนน้ำท่วมระลอกสองที่ตามมา เข้าข่ายคำนิยามดังกล่าว ศาลตัดสินให้ไม่ได้รับความคุ้มครอง

เรื่องนี้น่าจะจบลงได้ แต่ผู้เอาประกันภัยในคดีนี้ไม่ยอมจบด้วย ได้นำคดีไปฟ้องร้องต่อนายหน้าประกันวินาศภัยของตนเองเป็นอีกคดีหนึ่ง Elilade Pty Ltd v Nonpareil Pty Ltd & CIC Insurance Limited [2002] FCA 909 โทษฐานที่ไม่แจ้งว่า สามารถซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ และมิได้ชี้แจงอย่างชัดแจ้งว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่นั้น ไม่คุ้มครองภัยน้ำท่วม

ศาลในประเทศออสเตรเลียเห็นว่า นายหน้าประกันวินาศภัยมีหน้าที่ต้องดูแลผู้เอาประกันภัย ด้วยการบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งเคยมีประวัติเหตุการณ์น้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำอยู่ด้วย ทั้งนายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ยังรับรู้ว่า ผู้บริหารของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ใคร่มีความรู้ด้านการประกันภัย หากนายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้หยิบยกเรื่องที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมเอาไว้ แต่สามารถเลือกซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมได้มาชี้แจงให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบ และพิจารณาตัดสินใจที่จะเลือกซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมหรือไม่ตั้งแต่ต้น ก็คงจะไม่เกิดประเด็นปัญหานี้ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ศาลได้ค้นพบว่า แม้นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้มิได้ทำหน้าที่ของตนตามสมควรก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นสาเหตุที่จะส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยมิได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ผู้บริหารของผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้พิจารณาตัดสินใจทำประกันภัยโดยอ้างอิงความคุ้มครองเช่นเดิมที่เคยทำกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว (เป็นการต่ออายุความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยเดิม มิใช่ทำประกันภัยใหม่) สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ งบประมาณที่ตั้งไว้ในการซื้อประกันภัยก็เป็นจำนวนเงินเท่าเดิม ดังนั้น ถึงแม้นายหน้าประกันวินาศภัยจะได้ทำหน้าที่แนะนำให้เลือกซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติม ก็น่าเชื่อว่า ผู้เอาประกันภัยคงจะไม่ทำ เพราะเกินกว่างบประมาณค่าเบี้ยประกันภัยที่ตั้งไว้ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงวินิจฉัยว่า นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ไม่จำต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยในคดีนี้

กรุณาติดตามข้อพิพาทประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น