วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 28 : ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยอ้อม (Indirect Loss or Damage) ความเหมือนที่แตกต่างระหว่างประกันภัยกับหลักกฎหมาย



(ตอนที่สี่)

เมื่อผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายโดยตรงต่อวัตถุที่เอาประกันภัย อันมีสาเหตุมาจากภัยที่คุ้มครอง หลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือ ชดใช้ให้ผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สภาพดังเดิมเสมือนหนึ่งมิได้เกิดเหตุขึ้นมา โดยบริษัทประกันภัยอาจจะเลือกการชดใช้ให้เป็นเงินตามมูลค่าเสียหายที่แท้จริง หรือทำการซ่อมแซมให้ หรือจัดสร้างให้ใหม่ หรือซื้อของใหม่ให้ แล้วแต่กรณีที่ได้ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย หากชดใช้ล่าช้า บริษัทประกันภัยอาจจำต้องรับผิดชดใช้ค่าดอกเบี้ยตามกฎหมายเพิ่มเติม

แต่สำหรับความเสียหายโดยอ้อมอย่างอื่น ซึ่งเป็นความเสียหายทางการเงินสืบเนื่องมาจากความเสียหายโดยตรงต่อวัตถุที่เอาประกันภัยนั้น มักจะกำหนดเป็นข้อยกเว้นไม่คุ้มครองเอาไว้ ดังที่ยกตัวอย่างในช่วงท้ายของบทความตอนที่ผ่านมา (ซึ่งข้อยกเว้นกำหนดไม่คุ้มครองความเสียหายต่อเนื่อง ทั้งที่ในคำนิยามใช้คำว่า “ความเสียหายสืบเนื่อง” อาจจะก่อให้เกิดปัญหาพิพาทขึ้นมาได้ว่า มิได้ยกเว้นความเสียหายสืบเนื่องทางการเงินตามคำนิยาม คงต้องขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขโดยด่วนด้วยครับ) เป็นต้นว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้งาน การสูญเสียรายได้ การสูญเสียกำไร หรือการต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพิ่มขึ้น ซึ่งคนทั่วไป เข้าใจว่า ไม่สามารถเรียกร้องเพิ่มเติมจากบริษัทประกันภัยได้ เว้นแต่จะมีการขยาย หรือระบุเพิ่มเติมเอาไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยนั้น หรือจำต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะเพิ่มเติมอีกฉบับ

ยกตัวอย่าง

1)   ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยรวมภัยธรรมชาติ ได้กำหนดขยายความคุ้มครองความเสียหายสืบเนื่องไว้เฉพาะในส่วนของค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว โดยจำกัดเพียงภัยคุ้มครองพื้นฐาน ไม่รวมถึงภัยธรรมชาติแต่อย่างใด
2)   กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล อาจขยายค่าชดเชยรายสัปดาห์ได้เฉพาะกรณีความคุ้มครองทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง หรือบางส่วน ทั้งในเงื่อนไขการจ่ายค่าทดแทนทั้งหมดตามกรมธรรม์ประกันภัย ยังมีข้อกำหนดว่า ถ้าบริษัทประกันภัยไม่จ่ายให้แล้วเสร็จในกำหนดเวลาที่ระบุ ให้บริษัทปรันภัยรับผิดชอบค่าดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี
3)   กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1 ผู้เอาประกันภัยส่วนใหญ่เข้าใจว่า สำหรับความคุ้มครองตัวรถยนต์ที่เอาประกันภัย หากเกิดเหตุแล้ว บริษัทประกันภัยปฎิเสธความรับผิด เมื่อฟ้องร้องคดีกันแล้ว บริษัทประกันภัยแพ้คดี บริษัทประกันภัยเพียงรับผิดชำระค่าดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น จริงหรือไม่? ทั้งที่ในเงื่อนไขความคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ กลับไปพูดถึงในข้อยกเว้นข้อ 7 ว่า
การยกเว้นความเสียหายต่อรถยนต์ การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง  
           7.5 ความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ เว้นแต่
       การขาดการใช้รถยนต์นั้นเกิดจากบริษัทประวิงการซ่อม หรือ
      ซ่อมล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ในกรมธรรม์ประกันภัยอื่น หรือส่วนความคุ้มครองอื่นของกรมธรรม์ประกันภัยข้างต้น ผู้เอาประกันภัยยังจะสามารถเรียกร้องความเสียหายสืบเนื่องได้อีกหรือไม่? โดยอ้างอิงหลักกฎหมายดังที่กล่าวไว้ในตอนที่สอง และที่สาม

ลองเทียบเคียงกับคดีของการประกันชีวิตของไทยดังต่อไปนี้ เป็นเกณฑ์ดีไหมครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2543 ตามบทบัญญัติมาตรา 37 และมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มุ่งคุ้มครองผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ เพราะบริษัทประกันชีวิตที่มี นิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย มีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
                 การฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มาตรา 37 ของบริษัทประกันชีวิต โดยประวิงการใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ มิใช่เพียงเป็นการผิดสัญญาประกันภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์อีกด้วย ดังนั้น หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
                 โจทก์บรรยายฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 37 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงิน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 กำหนดในข้อ 7 ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้บริษัทใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับ เป็นการประวิงการใช้เงินตามมาตรา 37 วรรคสอง โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย ระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ แต่จำเลยไม่ใช้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์แต่จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับ จำเลยก็ยังไม่ใช้เงินแก่โจทก์ จนโจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดี จำเลยจึงยอมใช้เงินให้ ทำให้โจทก์ต้องเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้างทนายความในการบังคับคดี และขอให้จำเลยใช้เงินดังกล่าว การกระทำของจำเลยตามฟ้อง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากการเยียวยาความเสียหาย โดยการดำเนินการบังคับคดีตามปกติอย่างคดีแพ่งทั่วไปแล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับการละเมิดได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้ แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป

ส่วนคดีทางด้านการประกันวินาศภัยของไทย ผมยังไม่เจอ แต่ไปเจอของต่างประเทศ จะคัดมาให้ประกอบการพิจารณาในตอนต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น