เรามาคุยกันต่อเรื่องการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
(Personal
Accident Insurance) กันหน่อยนะครับ พอดีไปอ่านเจอประเด็นที่น่าสนใจ
เลยขอนำมาเล่าสู่กันฟัง
ผมเคยเจอคำถามหลายครั้งว่า
ยุงกัดถือเป็นอุบัติเหตุหรือเปล่า?
เมื่อพิจารณาจากคำนิยามเฉพาะของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งระบุดังนี้
“1.5 อุบัติเหตุ หมายความถึง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา
หรือมุ่งหวัง”
ยุงเป็นปัจจัยภายนอก
การกัดของยุงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และทำให้เกิดความบาดเจ็บแก่ร่างกายของผู้เอาประกันภัย
โดยที่เจ้าตัวมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง
ดูแล้วเข้าองค์ประกอบของคำนิยามนี้อย่างครบถ้วน จากนั้นไปพิจารณาต่อว่า
ตกอยู่ในข้อยกเว้นหรือไม่? ซึ่งไม่ปรากฏข้อยกเว้นเรื่องแมลง สัตว์ กัด
ต่อยเอาไว้เลย จึงตอบได้ว่า กรณีนี้เป็นอุบัติเหตุอยู่ในความคุ้มครอง
เพียงแต่เป็นความเสียหายเล็กน้อยมาก คงไม่ใคร่มีใครสนใจมาเรียกร้องกันมากกว่า
แต่ถ้ายุงที่กัดนั้นปล่อยเชื้อโรคร้ายแรงออกมาด้วย
จนส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยในคดีนี้ ซึ่งเป็นช่างปูน ได้ป่วยเป็นโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nine Virus) โดยมียุงเป็นพาหะ
ถึงขนาดทำให้เกิดภาวะอันพาตของร่างกายส่วนล่าง
ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงมาเรียกร้องเงินค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัย
บริษัทประกันภัยรายนี้ปฎิเสธว่า การเจ็บป่วยของผู้เอาประกันภัยมิได้มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ
ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ศาล ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัย คดีนี้มีการอุทธรณ์
ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิจารณากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า การเจ็บป่วยของผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดหวัง
ซึ่งเกิดขึ้นมาจากปัจจัยภายนอก อันเข้าอยู่ในความหมายของคำว่า “อุบัติเหตุ” แล้ว
บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ (อ้างอิงคดี
Kolbuc v.
ACE INA Insurance,
2007
ONCA 364, 85 O.R. (3d) 652)
เมื่อนำมาเทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับมาตรฐานของประเทศไทย
บางท่านอาจไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของคดีต่างประเทศนี้ เพราะภายใต้ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของไทยได้ระบุไว้ดังนี้
“การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง
1. ความสูญเสีย หรือความเสียหายใด ๆ อันเกิดจาก หรือสืบ
เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้
.................................
ค. การได้รับเชื้อโรค เว้นแต่การติดเชื้อโรค หรือบาดทะยัก หรือ
โรคกลัวน้ำ ซึ่งเกิดจากบาดแผลที่ได้รับมาจากอุบัติเหตุ”
ฉะนั้น
การได้รับเชื้อโรคใดก็ตาม ล้วนตกอยู่ในข้อยกเว้นนี้
นอกเหนือจากสองโรคดังกำหนดไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น
ส่วนตัวยังไม่ใคร่มั่นใจนัก
ถ้าเกิดเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นมาจริง ศาลท่านจะมีความเห็นอย่างไร? เพราะการเขียนถ้อยคำในข้อยกเว้นนี้มีการใช้ถ้อยคำต่างกันระหว่าง
“การได้รับเชื้อโรค” กับ “การติดเชื้อโรค” คุณคิดว่า ความหมายจะแตกต่างกันบ้างหรือเปล่า? ทำไมคนร่างถึงใช้ถ้อยคำต่างกันเช่นนั้น?
ขอฝากเป็นแง่คิดนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น