วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 39 : การมีเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่?



(ตอนที่สาม)

ภายหลังจากพินิจพิเคราะห์เรื่องราว ประกอบกับพยานหลักฐานทั้งหมดของคู่ความทั้งสองฝ่าย ตลอดจนแนวทางคำพิพากษาในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุบัติเหตุมิได้หมายความถึง การที่สภาพร่างกายมีความอ่อนแอ หรือเสื่อมโทรมจากโรคภัย ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ตามปกติทั่วไป ด้วยเหตุนี้ การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจึงแตกต่างจากการประกันชีวิต หรือการประกันภัยสุขภาพ ดังนั้น ในการตีความจำต้องยึดถือตามเจตนารมณ์ดังกล่าวด้วย มิฉะนั้นแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจะกลายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพแบบรวมความคุ้มครองทุกอย่างไป (Comprehensive Health Insurance Policy) ซึ่งไม่สอดคล้องกับเบี้ยประกันภัยที่ค่อนข้างต่ำเช่นนั้น

คำว่า “อุบัติเหตุ” อันมีความหมายถึง สิ่งเลวร้ายที่มิได้คาดหวังเอาไว้ หรือการกระทำที่มิได้ให้ผลตามที่มุ่งหวังนั้น จึงไม่ได้หมายถึงการได้รับเชื้อโรคตามปกติทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ถ้าการยินยอมให้ภาวะ/โรคประสาทไขสันหลังอักเสบ (Transeverse Myletisis (TM)) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการป้องกัน ให้ตกอยู่ในความหมายของอุบัติเหตุด้วย ก็เสมือนเปิดช่องให้ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาตามปกติจากการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านการไอ การจาม หรือการสัมผัสเข้ามาได้เช่นกัน โดยไม่ใส่ใจถึงอุบัติเหตุ หรือความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกี่ยวข้องใด ๆ เลย

แต่หากเหตุการณ์มีต้นเหตุที่เกิดจากอุบัติเหตุขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเกิดการติดเชื้อโรคตามมา แม้การติดเชื้อโรคนั้นจะเกิดขึ้นตามปกติทั่วไปก็ตาม ก็ยังถือเป็นอุบัติเหตุอยู่

อย่างไรก็ตาม ผลการติดเชื้อโรคดังกล่าวของผู้เอาประกันภัยนี้มิได้ทำให้เขาไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้ แต่ประเด็นอยู่ที่เขาได้รับเชื้อโรคมาจากเหตุการณ์ตามปกติหรือเปล่า?   

ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่อ้างอิงคดีเรื่องยุงกัด (Kolbuc) เนื่องด้วยการวิเคราะห์เพียงผู้เอาประกันภัยติดเชื้อโรคโดยที่ตนเองไม่ได้คาดหวัง จากปัจจัยภายนอกนั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอ การแพร่กระจายของเชื้อโรคโดยมีสัตว์เป็นพาหะนั้น ไม่อาจพูดได้ว่า ถือเป็นอุบัติเหตุ จำต้องพิจารณาภาพเหตุการณ์โดยรวมทั้งหมดประกอบเสียก่อน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การติดเชื้อโรคผ่านการมีทางเพศสัมพันธ์ตามปกติทั่วไป จึงยังไม่อาจถือเป็นอุบัติเหตุขึ้นมาได้ แต่ถ้าเกิดจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เป็นต้นว่า การข่มขืน หรือการรักษาทางแพทย์ที่ผิดปกติ อาจถือเป็นอุบัติเหตุก็ได้

ศาลฎีกาได้กลับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ โดยตัดสินให้บริษัทประกันภัยรายนี้ไม่มีความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับนี้

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้?

ข้อสรุป

สิ่งที่น่าสังเกต คือ คำวินิจฉัยขององค์คณะศาลฎีกานี้ไม่เป็นเอกฉันท์ ฉะนั้น ในแต่ละคำวินิจฉัย แต่ละคดีจึงขึ้นอยู่กับข้อความจริง และประเด็นข้อต่อสู้ของแต่คดีเป็นสำคัญ การอ้างอิงคำพิพากษาศาลจึงอาศัยเพียงเป็นแนวทางเท่านั้น ขอให้ทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณ

การจำแนกเรื่อง “การได้รับเชื้อโรค” กับ “การติดเชื้อโรค” ก็คล้ายกับการค้นหาความแตกต่างระหว่างการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลกับการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งยังคงต้องเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปโดยไม่สามารถขีดเส้นแบ่งได้อย่างชัดเจน

การถูกยุงกัด แล้วติดเชื้อโรค แตกต่างเช่นไรกับการถูกสุนัขกัด แล้วติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า?

อย่างไรก็ดี ขอให้ทุกท่านมีความรักที่สุขสันต์ในวันวาเลนไทน์ครับ

ไหน ๆ พูดถึงเรื่องการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไปหลายเรื่องแล้ว ขอทิ้งท้ายอีกสักเรื่องก็แล้วกันในคราวต่อไป

คุณคิดว่า การกินยาเกินขนาดจนเสียชีวิต เป็นอุบัติเหตุหรือเปล่าครับ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น