วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 40 : การกินยาเกินขนาดจนเสียชีวิต เป็นอุบัติเหตุหรือเปล่า?



(ตอนที่สอง)

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มีสองประเด็นหลักที่จำต้องพิจารณาในคดีนี้ คือ
1) การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยนี้เป็นอุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่?
2) ผู้เอาประกันภัยนี้เจตนาฆ่าตัวตายหรือเปล่า?

ประเด็นแรก ศาลพิเคราะห์ความหมายของคำว่า “อุบัติเหตุ” นั้น หมายความถึง เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยผู้เอาประกันภัยมิได้ตั้งใจ หรือมุ่งหวัง ในอันที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือการเสียชีวิตขึ้นมา โดยความมุ่งหวังนั้นไปไกลเกินกว่าการรับรู้ถึงโอกาสความเสี่ยงภัยที่อาจจะก่อให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้นมา ดังคนที่กระทำกิจกรรมที่มีภาวะอันตราย เช่น เล่นกีฬาอันตราย หรือกระทั่งการขับขี่รถยนต์ เป็นต้น ล้วนต่างรับรู้ถึงโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตตามมา แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะคาดหวังว่า ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้น จึงต้องอาศัยมุมมองจากฝั่งของผู้เอาประกันภัยเป็นเกณฑ์ ซึ่งเชื่อมั่นโดยบริสุทธิ์ใจว่า ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้นมาดังกล่าวในการพิจารณา

ในเรื่องภาระการพิสูจน์ทั้งสองประเด็นหลักนั้น ตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายทายาทผู้เรียกร้อง ซึ่งจะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน หรืออย่างน้อยก็จะต้องพิสูจน์ออกมาให้เชื่อมั่นได้โดยอาศัยพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมมาประกอบการพิจารณาด้วยว่า บุคคลในสภาวะเช่นนั้นเป็นเช่นไร?

ทั้งนี้ ได้มีการจำลองสถานการณ์อย่างกว้าง ๆ สามกรณีขึ้นมา ดังนี้

(ก) ผู้เอาประกันภัยกินยาเกินขนาด เพื่อตั้งใจ หรือมุ่งหวังให้ตนเองได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต
(ข) ผู้เอาประกันภัยกินยาเกินขนาด โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือมุ่งหวังให้ตนเองได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต
(ค) ผู้เอาประกันภัยกินยาตามคำสั่งของแพทย์ โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือมุ่งหวังให้ตนเองได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต

ถ้าเข้าข่ายสองกรณีหลัง (ข) กับ (ค) ถือเป็นอุบัติเหตุ ขณะที่กรณีแรก (ก) จะไม่ใช่อุบัติเหตุ ทั้งนี้จากการพิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกันแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นคล้อยตามน้ำหนักพยานหลักฐานของฝ่ายทายาทว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตนั้นน่าจะเข้าข่ายสองกรณีหลังมากกว่า

ศาลอุทธรณ์มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ผู้เอาประกันภัยได้กินยาตามคำสั่งแพทย์หรือไม่? เพราะแม้เขาจะทำเช่นนั้น ก็มิได้ส่งผลทำให้เขาไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยแต่ประการใด หรือกระทั่งเขาอาจจะกินยาเกินขนาดไปก็ตาม แต่ตราบใดที่เขาไม่ได้เจตนา หรือมุ่งหวังให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ก็ต้องถือเป็นอุบัติเหตุตามความคุ้มครองแล้ว

เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของผู้เอาประกันภัยเองก่อนเสียชีวิต ก็มิได้มีสัญญาณของความซึมเศร้าจนสิ้นหวังในชีวิตจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรังดังกล่าว ตัวผู้เอาประกันภัยเองยังคงดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ ทั้งยังวางโครงการทางธุรกิจในอนาคต และจัดเตรียมจะซื้อรถยนต์ใหม่ให้แก่ตนเองอีกด้วย ศาลจึงรับฟังได้ว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้มีเจตนาฆ่าตัวตาย

ขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยมิได้แสดงพยานหลักฐานมาหักล้างให้ศาลมีความเห็นเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาให้บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

(อ้างอิงคดี Quek Kwee Kee Victoria (executor of the estate of Quek Kiat Siong, deceased) and another v American International Assurance Co Ltd and another [2017] SGCA 10)

เนื่องจากเพิ่งมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ออกมาต้นปีนี้เอง ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมไม่มีข้อมูลว่า จะมีการฎีกาต่อไปอีกหรือเปล่า? ถ้ามีก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ แต่เชื่อว่า หลายเรื่องราวที่กล่าวถึงไปแล้วคงสามารถให้แง่มุมที่แตกต่างออกไปในเรื่องความหมายของอุบัติเหตุได้บ้าง เพื่อเป็นกรณีศึกษาในบ้านเรา ซึ่งอาจจะมิได้มีคดีขึ้นสู่ศาลให้เห็นกันมากนัก

อันที่จริง ยังมีข้อมูลคำพิพากษาศาลต่างประเทศในเรื่องของการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่น่าสนใจอีกมากมาย แต่จะขอเว้นช่วง เพื่อจะได้คุยการประกันภัยอย่างอื่นสลับกันบ้างนะครับ

รถกับปืน ถ้ามาอยู่ด้วยกัน ในแง่ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะเป็นอย่างไรบ้าง? ถ้าไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น