ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
(Personal
Accident Insurance Policy) ซึ่งให้ความคุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหาย จนทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายแก่ผู้เอาประกันภัยโดยอุบัติเหตุ
ได้มองเรื่องการถูกฆาตกรรม หรือถูกทำร้ายร่างกาย เป็นอุบัติเหตุ อันจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว
เนื่องจากเข้าองค์ประกอบคำนิยามเฉพาะของอุบัติเหตุ ซึ่งระบุว่า
“1.5 อุบัติเหตุ หมายความถึง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา
หรือมุ่งหวัง”
เพราะผู้เอาประกันภัยมิได้มีเจตนา หรือมุ่งหวังให้ตนเองต้องถูกฆ่าตาย (ฆาตกรรม
ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายความถึงการฆ่าคน) หรือถูกทำร้ายร่างกายโดยบุคคลอื่น
เพียงแต่ถ้าบริษัทประกันภัยไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองเต็มวงเงินความคุ้มครองโดยปกติ
ก็สามารถตกลงลดวงเงินความคุ้มครองในส่วนของการถูกฆาตกรรม
หรือถูกทำร้ายร่างกายลดน้อยลงไปได้
แต่ไม่อาจลดจนไม่เหลือวงเงินความคุ้มครองส่วนนี้ได้
โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยในส่วนนี้ลงไปตามส่วนเป็นการตอบแทน
สำหรับการทะเลาะวิวาท
ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมาย “ทะเลาะ หมายความถึง
ทุ่มเถียงกันด้วยความโกรธโต้เถียงกัน เป็นปากเป็นเสียงกัน” และ “วิวาท
หมายความถึง ทะเลาะ เช่น เด็กวิวาทกัน มักใช้เข้าคู่กับคำทะเลาะ
เป็นทะเลาะวิวาทกัน” กล่าวโดยสรุปคือ เป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทลงไม้ลงมือต่อกัน
จึงไม่เข้าองค์ประกอบคำนิยามเฉพาะของอุบัติเหตุดังกล่าว
เพราะผู้เอาประกันภัยมีเจตนา หรือมุ่งหวังได้ว่า
จะบังเกิดผลอะไรแก่ตนเองขึ้นมาได้บ้าง ถ้าสมัครใจต่อสู้กันกับบุคคลอื่น
และได้ถูกระบุเป็นข้อยกเว้นเอาไว้อย่างชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนี้
“การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง
...................................
2. ความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้
ก. ..................................
จ.
ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท”
ทั้งในแง่ของกฎหมายเอง
ผู้ที่สมัครใจต่อสู้กันนั้น
ไม่ถือเป็นผู้เสียหายที่จะไปเรียกร้องจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่
10294/2546 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อศาลฎีกาพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์คดีนี้กับจำเลยที่ 1 และพวกต่างมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
และได้มีการด่าว่าโต้เถียงกัน จนในที่สุดได้มีการทำร้ายร่างกายกัน จึงเป็นเรื่องสมัครใจวิวาทกัน
ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว เมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยที่
1 สมัครใจทะเลาะวิวาท และทำร้ายร่างกายกัน เป็นกรณีที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตราย
หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ตนจากการทะเลาะวิวาทนั้น แม้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่
1 กระทำละเมิดต่อโจทก์
แต่กรณีใดจะถือเป็นการเข้าร่วมทะเลาะวิวาท
หรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาทนั้น
เป็นปัญหาในเรื่องข้อความจริงแล้วแต่กรณี มิได้หมายความว่า
เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทต่อสู้กันขึ้นมาแล้ว
ล้วนจะต้องตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวทั้งสิ้น เพราะอาจเป็นการป้องกันตัว
หรือการทำร้ายร่างกายโดยบันดาลโทสะก็ได้ หรือกระทั่งเหตุทะเลาะวิวาทจบไปแล้วก็ได้
เทียบเคียงได้กับตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2541
จำเลยที่
1
กับพวกเพียง 5 คน นั่งมาด้วยกันบนรถโดยสารประจำทาง
ส่วนผู้ตายกับพวกมีจำนวนประมาณ 30 คนที่ยืนคอยรถโดยสารประจำทางอยู่
การที่ฝ่ายผู้ตายกับพวกอาศัยพวกมาก ขึ้นไปทำร้ายจำเลยที่ 1 ถึงที่
5 จึงเป็นการ ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงจำเป็นต้องป้องกันสิทธิของตนเอง
หาใช่เป็นการสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ถอดเข็มขัด และใช้หัวเข็มขัดป้องกันขัดขวาง
มิให้ฝ่ายผู้ตายขึ้นมาบนรถทางประตูหน้าและประตูหลัง แสดงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1
กับพวกได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และไม่ได้ความว่า การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลยที่
1 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 1 ถึงที่
5 จึงไม่ต้องรับโทษฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2535
จำเลยและจำเลยที่
1
ที่ 2 ในสำนวนคดีอื่นเข้าไปกลุ้มรุมทำร้าย ส.ฝ่ายเดียวโดยจำเลยเข้าไปรัดคอ
ส. จำเลยที่ 2 ที่ 1 เข้าไปใช้ขวดน้ำอัดลมตีศีรษะ
และต่อย ส. ส.ซึ่งอยู่ในสภาพที่ถูกรัดคอและถูกทำร้ายเช่นนี้ ย่อมไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงจากถูกทำร้ายได้
ดังนั้น การที่ ส. ใช้อาวุธปืนที่ติดตัวมายิงถูกจำเลย และพลาดไปถูกบุคคลซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุถึงแก่ความตาย
และได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นเรื่องที่
ส. กระทำไปเพื่อให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของจำเลยกับพวก
โดย ส. ไม่มีเจตนาหรือสมัครใจที่จะเข้าต่อสู้ทำร้ายร่างกายจำเลยกับพวก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3655/2530
ผู้ตายถือขวดแตกจะแทงจำเลยที่
1
จำเลยที่ 1 วิ่งหนีผู้ตายไล่ตาม จำเลยที่ 1
คว้าไม้ท่อนจะตีผู้ตาย ผู้ตายวิ่งหนีไป จึงถือได้ว่าสิทธิในการป้องกันตนของจำเลยที่
1 ขาดตอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 โมโหวิ่งไล่ตามไปตีผู้ตายจนถึงแก่ความตาย
จึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา
คำพิพากษาฎีกาที่ 1333/2510
จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธจะไปทำร้ายเพื่อนผู้ตาย
เมื่อพบผู้ตายกับเพื่อน พวกของจำเลยได้ใช้ปืนยิง ผู้ตายกับเพื่อนวิ่งหนี
โดยไม่ได้ต่อสู้อย่างใด จำเลยตามไปตีผู้ตาย
และพวกของจำเลยใช้ปีนยิงจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้กัน
แต่เป็นเรื่องจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้ตาย แม้จำเลยจะไม่ใช้ปืนยิงผู้ตาย
ก็ถือว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกของจำเลยฆ่าผู้ตาย จึงมีความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนา
คำพิพากษาฎีกาที่ 2508/2529
ต. กับพวกเข้าชกต่อยทำร้ายจำเลยกับเพื่อน แล้ววิ่งหนีไป จำเลยกับเพื่อนวิ่งไล่ตาม โดยจำเลยถือปืนไปด้วย แต่เมื่อไล่ไม่ทัน จำเลยก็วิ่งกลับนำเพื่อนขึ้นนั่งบนรถยนต์สองแถว เพื่อจะกลับบ้าน แสดงว่าจำเลยไม่สมัครใจที่จะวิวาททำร้ายกับ ต. และพวกต่อไปแล้ว เมื่อ ต. ไปตามผู้เสียหายกับพวก 7-8 คน ซึ่งมีมีดเป็นอาวุธติดตัว ทุกคนวิ่งกรูกันกลับมายังจำเลยซึ่งกำลังอยู่บนรถสองแถว จำเลยพูดห้ามไม่ให้เข้ามา แต่ผู้เสียหายกับพวกไม่ฟังเสียงกลับถือมีดเข้ามาจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้ปืนยิงผู้เสียหายกับพวก ในขณะที่จำเลยอยู่ห่างผู้เสียหายประมาณ 10 เมตร และอยู่ห่าง ต. ประมาณ 5 เมตรเท่านั้น หากผู้เสียหายกับพวกวิ่งเข้ามาถึงตัว อาจทำร้ายจำเลยถึงตายได้ นับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
อนึ่ง
หากท่านใดมีโอกาสได้เห็นคำพิพากษาศาลฎีกาสองฉบับที่ได้ถูกตัดสินออกมาในแนวทางเดียวกันในเรื่องของข้อยกเว้นการทะเลาะวิวาท
ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5085/2558
แม้ตามกรมธรรม์จะมีข้อยกเว้นระบุว่า
"การประกันภัยตามกรมธรรม์ฉบับนี้ไม่คุ้มครอง... 2. ความสูญเสียหรือความเสียหาย
อันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้... ง.
ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท"
มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงกรณีเสียชีวิตหรือถูกฆาตกรรม ดังนั้น ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องรับผิดดังกล่าวต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า
ย่อมหมายถึง เฉพาะความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บทางร่างกายที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เสียชีวิต
การที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เพราะถูกฆาตกรรม จึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามตารางกรมธรรม์
จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2541
ตามกรมธรรม์ประกันภัย ระบุข้อยกเว้นที่การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองว่า "2. ความสูญเสียหรือความเสียหาย
อันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้ ง.
ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท"
ดังนี้ ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องรับผิดดังกล่าวต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า ย่อมหมายถึงเฉพาะความสูญเสียหรือความเสียหาย
อันเกิดจากความบาดเจ็บทางกายที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เสียชีวิต เพราะตามกรมธรรม์มีข้อตกลงคุ้มครอง
6 ข้อ ข้อ 1. เสียชีวิต ข้อ 2. สูญเสียอวัยวะและสายตา ข้อ 3. ทุพพลภาพถาวรข้อ 4.
และข้อ 5. ทุพพลภาพชั่วคราว ข้อ 6. ค่ารักษาพยาบาล และกรณีผู้เอาประกันภัยถูกฆาตกรรม หรือถูกลอบทำร้ายร่างกาย
จำนวนเงินเอาประกันภัยข้อ 1 และข้อ 2 จะเป็น
250,000 บาท ข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าวไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงกรณีเสียชีวิต
หรือถูกฆาตกรรม กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นการประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
ต้องขอเสริมว่า
เมื่อดูจากถ้อยคำของข้อยกเว้นที่อ้างอิงของทั้งสองคดีนั้นแล้ว น่าจะเป็นถ้อยคำเก่า
จนทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่า
ข้อยกเว้นเรื่องการทะเลาะวิวาทนั้นยกเว้นความคุ้มครองเฉพาะที่เกิดความบาดเจ็บต่อร่างกายของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น
ส่วนถ้าทำให้เกิดการเสียชีวิตแล้วจะไม่อยู่ในข้อยกเว้น เพราะปัจจุบัน
ข้อยกเว้นนี้ได้ถูกปรับปรุงให้มีความชัดเจนขึ้นมา โดยใช้ถ้อยคำเพียง
“2. ความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ
ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้”
ไม่มีคำว่า “อันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้”
อีกต่อไปอีก
ทั้งในคำนิยามเฉพาะยังระบุด้วยว่า
“1.12 ความสูญเสียหรือความเสียหายใด ๆ หมายความถึง ความบาดเจ็บทางร่างกายของผู้เอาประกันภัยโดยอุบัติเหตุ
และทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา ทุพพลภาพ
หรือต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น