วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

บทความเรื่อง ".... ประกันภัย เป็นเรื่อง ..." เป็นสิ่งที่รวบรวมความรู้และประสบการณ์ที่อยู่ในธุรกิจประกันวินาศภัยมา โดยมีเจตนาเพื่อเผยแพร่แง่คิด หรือมุมมองส่วนตนในรูปแบบบันทึกส่วนบุคคล โดยหัวเรื่องที่เว้นช่องว่างข้างหน้ากับข้างหลังไว้ ก็เพื่อให้สามารถเพิ่มเติมลงไปเป็นประเด็น ๆ ไป หรือท่านใดที่มีโอกาสอ่านผ่านตา อาจจะเติมข้อความตามประสงค์ก็ได้

สำหรับคราวนี้ เป็นประเด็นเรื่อง "ถ้อยคำประกันภัย เป็นเรื่องชวนคิด"

เนื่องด้วยการประกันภัยเป็นเรื่องคำมั่นสัญญาระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย บ่อยครั้งที่ถ้อยคำที่ระบุไว้อาจสร้างความเข้าใจไม่ตรงกันก็เป็นได้

อย่างเช่นที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลต่างประเทศมีประเด็นข้อโต้แย้งคำว่า "ก่อสร้าง (construct)" กับ "การก่อสร้าง (construction)" หมายถึงอะไร

เมื่อเทียบเคียงกับความหมายในพจนานุกรมไทยจะมีความหมายคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า "ก่อสร้าง หมายความถึง ก่อและสร้างโดยใช้อิฐและปูนเป็นส่วนใหญ่" ซึ่งเมื่อพิจารณาแยกคำว่า "ก่อ" หมายถึง ทำให้เกิดขึ้น มีขึ้น หรือเป็นรูปขึ้น ขณะที่คำว่า "สร้าง" หมายถึง ทำให้มี ให้เป็นขึ้นด้วยวิธีต่าง ๆ กัน ดังนั้น การก่อสร้างจะเป็นการทำขึ้นมาใหม่จากเดิมที่ไม่เคยมี หรือที่อยู่อย่างหนึ่ง ทำให้เป็นอีกสภาพหนึ่ง เช่น การนำวัสดุที่เป็นอิฐมาผสมกับวัสดุที่เป็นปูนมาก่อสร้างขึ้นเป็นบ้าน เป็นต้น ซึ่งพจนานุกรมของต่างประเทศก็ให้ความหมายทำนองเดียวกัน อย่างเช่น Black's Law Dictionary ให้ความหมาย "construction" ว่า "(t)he creation of something new, as distinguished from the repair or improvement of something already existing"

ดังนั้น คำว่า "ก่อสร้าง" หรือ "การก่อสร้าง" จึงหมายถึง การสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา มิใช่เป็นการปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะเรียกกรณีนั้นว่า "renovation (ปฎิสังขรณ์ ทำให้มีสภาพดีเหมือนเดิม ซ่อมแซมใหม่ บูรณะ (พจนานุกรมแปลอังกฤษ-ไทย ฉบับอาจารย์สอ เสถบุตร))" หรือ "alteration (แก้ไข ดัดแปลง เปลี่ยน แปลง ผันแปร (พจนานุกรมแปลอังกฤษ-ไทย ฉบับอาจารย์สอ เสถบุตร))" โดยคำหลังจะให้ความหมายเป็นการเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิม

ถ้อยคำในความหมายดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัย ลองมาพิจารณาจากกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน หมวดที่ 3 ข้อยกเว้น ข. ที่ระบุว่า "การประกันภัยนี้ ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้
10. ทรัพย์สิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในระหว่างการรื้อถอน (demolition) การก่อสร้าง (construction) หรือการติดตั้ง (erection) รวมทั้งวัตถุ หรือวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการนั้น   
..............
15. ทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงแก้ไข (altertion) ซ่อมแซม (repair) ทดลอง (testing) การติดตั้ง (installation) หรือการซ่อมบำรุง (servicing) รวมทั้งวัตถุ หรือวัสดุที่จัดหามาเพื่อการดังกล่าว ซึ่งได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายอื่นที่เกิดขึ้นตามมาโดยที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมานั้นต้องเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้"

ประเด็นพึงพิจารณาในข้อยกเว้นข้างต้นในเรื่องนี้ คือ
1) ข้อยกเว้นการก่อสร้างในข้อ 10 เสมือนเป็นข้อยกเว้นโดยเด็ดขาด เพราะมิได้กำหนดว่า ความเสียหายอื่นที่ตามมาจะได้รับความคุ้มครองได้หรือไม่
2) ข้อยกเว้นในข้อ 15 พูดถึงการให้ความคุ้มครองความเสียหายอื่นที่เกิดขึ้นตามมาด้วย หากเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นเอาไว้

หากระหว่างการก่อสร้างอาคารใหม่ เกิดไฟไหม้ลามไปไหม้อาคารเดิมที่เอาประกันภัยไว้ที่อยู่ข้างเคียงจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ เพราะมิได้เขียนให้คุ้มครองความเสียอื่นที่ตามมาไว้ด้วย ตามหลักสาเหตุใกล้ชิดแล้ว อาคารที่อยู่ข้างเคียงที่ได้เอาประกันภัยไว้ต้องได้รับความคุ้มครองด้วย เนื่องจากได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ที่เป็นสาเหตุที่ได้รับความคุ้มครองอยู่แล้วตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่อาคารก่อสร้างที่เป็นต้นเหตุจะมิได้รับความคุ้มครองตามข้อยกเว้นดังกล่าว

แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นการบูรณะห้องหนึ่งในอาคารเดิมที่เอาประกันภัยไว้แล้ว โดยคนงานของผู้รับเหมาได้ทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นมา ลามไปไหม้ห้องอื่น เช่นนี้ ห้องอื่นจะได้รับความคุ้มครองด้วยตามเงื่อนไขตอนท้ายของข้อยกเว้นที่ 15 ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าติดตามในคราวต่อไปว่า

1) ข้อยกเว้นในข้อ 15 พูดถึงแต่ความเสียหายอื่นที่เกิดขึ้นตามมาเพียงจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น โดยมิได้พูดให้ชัดเจนว่า ทรัพย์สินอื่นที่ได้รับความเสียหายตามมานั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้ระบุเอาประกันภัยไว้ด้วยหรือไม่
2) เอกสารแนบท้าย อค./ทส. 1.25 ว่าด้วยการปรับปรุงต่อเติมและซ่อมแซม (Alterations and Repairs) ที่มักจะขยายเพื่อให้ครอบคลุมไปถึงการก่อสร้างด้วยนั้น จะมีผลบังคับได้หรือไม่ในเมื่อการก่อสร้างมิได้มีความหมายรวมถึงการปรับปรุงด้วย 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น