วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

ข้อยกเว้นสังหาริมทรัพย์/ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ขณะอยู่กลางแจ้ง ฯ มีผลใช้บังคับได้จริงหรือ? 

(ตอนที่หนึ่ง)

บทความ "..... ประกันภัย เป็นเรื่อง ....." ครั้งนี้ จะพูดถึงในเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ผู้เอาประกันภัยหลายรายที่ได้ซื้อประกันภัยทรัพย์สินไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน มีความรู้สึกไม่เป็นธรรมนัก เมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของตนเองถูกน้ำท่วมเสียหาย แต่ไม่ได้รับความคุ้มครองในขณะอยู่กลางแจ้ง อาคารเปิดโล่ง หรืออาคารโปร่ง 

ประเด็นปัญหาเรื่องนี้ แม้จะผ่านมาหลายปี แต่เชื่อว่า ไม่สายจนเกินไป ถ้าจะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาอีกในอนาคต ก็คงจะมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเช่นเดิม เนื่องด้วยปัจจุบันนี้หลังจากเกษียณอายุ ผมมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นส่วนตนมากขึ้น และจากข้อมูลที่ได้ค้นคว้า จึงนำมาเพื่อเล่าสู่กันฟัง 



ทำไมบริษัทประกันภัยถึงปฎิเสธไม่คุ้มครองให้ในประเด็นนี้ ทั้งที่ได้กำหนดให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้ว และภัยที่เกิดขึ้นก็เป็นภัยที่คุ้มครองด้วยเช่นกัน


ก่อนอื่นจำต้องทำความเข้าใจถึงหลักการประเมินความเสี่ยงภัยของบริษัทประกันภัยก่อนว่า บริษัทประกันภัยจะประเมินความเสี่ยงภัย หรือโอกาสที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยตามสภาวะ หรือสภาพการณ์ปกติที่น่าจะเป็นที่ภาษาประกันภัยเรียกว่า “สภาวะภัย” หากสภาวะ หรือสภาพการณ์นั้นเกิดความผันแปรในทางเลวร้ายไปมากกว่าที่คาดการไว้ ก็อาจจะส่งผลรุนแรงถึงขนาดไม่ได้รับความคุ้มครองอีกต่อไป หรือกระทั่งส่งผลทำให้กรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับสิ้นผลบังคับไปเลยทีเดียว 


ดังข้อยกเว้นในเรื่องของ “สังหาริมทรัพย์/ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ขณะอยู่กลางแจ้ง หรือในอาคารเปิดโล่ง หรืออาคารโปร่ง” ที่ปรากฏอยู่ทั้งในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งให้ถ้อยคำที่เขียนไว้แตกต่างกัน เนื่องด้วยเนื้อหาค่อนข้างยาว จึงจะแบ่งออกเป็นตอน ๆ เป็นลำดับ ดังนี้

1) วิเคราะห์ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
2) วิเคราะห์ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
3) บทสรุปความคิดเห็น 



1) ลำดับแรก เราลองมาวิเคราะห์ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินกันก่อนที่ระบุไว้ในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้น ซึ่งประกอบด้วยข้อยกเว้นในเรื่องสาเหตุที่ยกเว้น กับข้อยกเว้นในเรื่องทรัพย์สินที่ยกเว้น โดยประเด็นนี้อยู่ภายใต้หัวข้อ ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครองที่ระบุว่า

1. ความเสียหายอันเกิดจาก

     ........................

  1.15 ลม ฝน ลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง หิมะ น้ำท่วม ทราย หรือฝุ่น ซึ่ง
         ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังหาริมทรัพย์ (movable 
         property) ซึ่งอยู่กลางแจ้ง (in the open) หรือที่เก็บอยู่ใน
            อาคารโปร่ง หรืออาคารที่มีผนังด้านใดด้านหนึ่งเปิดโล่ง  
            (in open sided buildings) หรือต่อรั้ว (fences) หรือประตู
            รั้ว (gates)

หมายเหตุ 
(1) จากการที่เงื่อนไขต้นฉบับของกรมธรรม์ประกันภัยถูกนำมาจากต่างประเทศ จึงจำต้องเพิ่มคำภาษาอังกฤษในวงเล็บกำกับในบางถ้อยคำที่สำคัญ
(2) ตรงข้อ 1. เดิมจะใช้ถ้อยคำว่า "ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้" เพิ่งแก้ไขให้เหลือเพียง "ความเสียหายอันเกิดจาก"

จากที่เข้าใจ เจตนารมณ์ของข้อยกเว้นนี้ ไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ขณะอยู่กลางแจ้ง หรืออยู่ในอาคารโปร่ง หรือเปิดโล่ง แม้กระทั่งต่อรั้ว หรือประตูรั้วที่ได้รับความเสียหายจากภัยบางภัยที่กำหนดไว้ เพราะทรัพย์สินดังกล่าวที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้นมีความเสี่ยงภัยสูงกว่าปกติจากภัยเหล่านั้น ทั้งเพื่อประสงค์จะให้ผู้เอาประกันภัยพยายามใช้ความระมัดระวังในการปกป้องดูแลเป็นพิเศษ โดยที่ทรัพย์สินในลักษณะดังกล่าวน่าจะสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ง่ายให้ปลอดภัยจากภัยเหล่านั้น ข้อน่าสังเกต คือ ภัยบางภัยที่มีความรุนแรงอย่างเช่น ลมพายุมิได้ถูกยกเว้นเอาไว้ คงยกเว้นเพียงลมธรรมดา ๆ เท่านั้น ดังนั้น หากทรัพย์สินดังกล่าวเสียหายจากลมพายุ ก็จะไม่อยู่ในข้อยกเว้นนี้ แล้วขนาดไหนถึงจะถือเป็นลมพายุ ประเด็นนี้ ขอพูดถึงในคราวหลัง มิฉะนั้น บทความนี้อาจจะยืดยาวจนเกินไป

ในต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า "movable property" ภาษาไทยใช้คำแปลว่า "สังหาริมทรัพย์" ซึ่งแตกต่างจากในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่ใช้คำว่า "ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้" การใช้ถ้อยคำแปลที่แตกต่างนี้ ที่ผ่านมาก่อให้เกิดการตีความที่หลากหลาย เพราะสังหาริมทรัพย์มีความหมายที่ค่อนข้างกว่าทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ จนเกิดข้อโต้แย้งว่า เสาเหล็กกลางแจ้งที่ขันน้อตยึดติดกับพื้นปูน หรือช่อหลอดไฟที่ยึดติดกับผนังด้านนอกอาคาร ฯลฯ ถือเป็นทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้หรือไม่ มุมมองส่วนตัวไม่คิดว่า เจตนารมณ์ข้อยกเว้นนี้จะครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินที่ยึดติดกับพื้น หรืออาคารในลักษณะถาวรเช่นนั้น และทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้บางชนิด ถึงเวลาภัยดังกล่าวมาจริง ๆ มันมิได้เคลื่อนย้ายได้ง่าย ๆ อย่างที่คิด เพราะมากด้วยปริมาณ หรือขนาด ทั้งภัยบางภัยอย่างที่เคยไปดูงานที่หาดใหญ่คราวน้ำท่วมครั้งหลังสุด ได้รับฟังว่า น้ำมาเร็วมากจนตั้งตัวไม่ทัน และพื้นที่ท่วมกินบริเวณกว้างขนาดนั้น จะเคลื่อนย้ายไปไหน ขนาดตัวเองเกือบจะเอาตัวไม่รอดแล้ว

คำว่า "กลางแจ้ง (in the open)" หมายถึงอะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า "นอกร่มไม้ชายคา" ขณะที่คำภาษาอังกฤษเสมือนให้ความหมายถึงที่โล่งเปิดรับลม (open air) อาจอยู่ใต้ร่มไม้ หรือกันสาดก็ได้ แต่ความหมายของภาษาไทย ต้องไม่อยู่ภายใต้สิ่งใดเลย ดังนั้น ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ไปวางอยู่ใต้กันสาดภายนอกอาคาร ก็ไม่ถือว่าอยู่กลางแจ้งตามความหมายของพจนานุกรมดังกล่าว

สำหรับคำว่า "อาคารโปร่ง" และ "อาคารที่มีผนังด้านใดด้านหนึ่งเปิดโล่ง (open sided buildings)" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า "โปร่ง" หมายความถึง "มีลักษณะว่าง หรือเปิดเป็นช่อง ไม่ทึบ" "โล่ง" หมายความถึง "มีลักษณะว่าง เตียน ไม่มีอะไรกีดกั้น หรือปิดปัง หรือที่เปิดตลอด ไม่มีอะไรกีดกั้น หรือปิดบัง เช่น ห้องโล่ง" ส่วนคำว่า "อาคาร" ในแง่กฎหมาย หมายความถึง "ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่ หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เช่น อัฒจันทร์ เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ป้าย อู่เรือ"

เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์และความหมายของถ้อยคำแล้ว อาจเกิดคำถามขึ้นมาว่า หากทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ขณะอยู่กลางแจ้งนั้น ได้มีการปกป้องด้วยหีบห่อกันน้ำ หรือปกคลุมด้วยผ้าใบแล้ว ยังจะสามารถได้รับความคุ้มครองได้หรือไม่  คือตีความว่า เป็นการยกเว้นทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ที่มิได้มีการปกป้องอะไรไว้เลย โดยพิจารณาเทียบเคียงกับภัยที่กำหนดไว้ดังกล่าว เป็นต้นว่า ลมพัดมา อาจหอบทราย หรือฝุ่นมาด้วย หรือฝนตกลงมาสามารถสร้างความเสียหายได้ง่ายแก่ทรัพย์สินจำพวกนี้ที่ปราศจากการปกป้องดูแล

ข้อโต้แย้งนี้ ผู้เอาประกันภัยได้เคยมีการหยิบยกขึ้นมาในศาลต่างประเทศ แต่บังเอิญศาลต่างประเทศวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินจำพวกนี้จะมีหีบห่อหุ้มปกคลุมไว้หรือไม่ก็ตาม หากไปจัดวางอยู่กลางแจ้ง ล้วนตกอยู่ในข้อยกเว้นทั้งสิ้น (North Texas Construction Company v. United States Fire Insurance Company (1972))

หากนำทรัพย์สินจำพวกนี้ไปเก็บอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ (container) ล่ะ แต่พอเกิดน้ำท่วม น้ำยังสามารถแทรกซึมเข้าไปทำความเสียหายได้ จะถือว่า อยู่กลางแจ้งด้วยไหม 

คำตอบคงอยู่ที่ว่า ตู้คอนเทนเนอร์ มีความหมายเป็นอะไร ภาชนะ ตู้บรรจุสินค้า หรืออาคารหรือเปล่า  

สมัยทำงานประจำเป็นวิทยากร ผมเคยตั้งคำถามสองข้อแก่ผู้เข้าอบรมให้วิเคราะห์โดยอาศัยข้อยกเว้นนี้มาประกอบการพิจารณา

ข้อแรก เกิดไฟไหม้อาคาร ผู้เอาประกันภัยขนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยออกมาวางไว้กลางแจ้ง เพื่อหนีไฟ เวลาต่อมา มีฝนตกลงมาช่วยดับไฟ และสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ขนมาวางอยู่กลางแจ้งจนเปียกน้ำฝนด้วย

ข้อที่สอง กรณีคล้ายกับข้อแรก เพียงแต่ฝนตกลงมาในอีกสองวันต่อมา และทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ขนออกมากองอยู่กลางแจ้งเปียกน้ำฝนจนได้รับความเสียหาย

ท่านจะพิจารณาทั้งสองกรณีนี้อย่างไร

ผมขอทิ้งท้ายบทความเรื่องนี้ตอนที่หนึ่งไว้เพียงเท่านี้ เผื่อท่านที่มาอ่านเจอ จะได้ทดลองวิเคราะห์ไปด้วย

แล้วเจอกันครั้งต่อไปในตอนต่อของตอนที่หนึ่งครับ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น