วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559



ข้อยกเว้นสังหาริมทรัพย์/ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ขณะอยู่กลางแจ้ง ฯ มีผลใช้บังคับได้จริงหรือ

(ตอนที่หนึ่ง) (ต่อ)

เนื่องด้วยข้อยกเว้นนี้ในต่างประเทศเอง มีปัญหาในการตีความด้วยเช่นกัน จึงทำให้เนื้อหาของบทความนี้ อาจจะยืดยาวออกไป เพื่อให้ได้มุมมองที่แตกต่างกันออกไป หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็น่าสนใจมากว่า ศาลไทยจะมีความเห็นเป็นอย่างไร 

คำถามต่าง ๆ ที่ฝากไว้พิจารณาในบทความนี้ ขออนุญาตเฉลยตอนท้ายสุดของบทความนะครับ

อนึ่ง ผมมีคำถามเพิ่มเติมอีกว่า ภายหลังไฟไหม้หลังคาจนเปิดเป็นช่อง ผู้เอาประกันภัยยังคงทรัพย์สิน (เคลื่อนย้ายได้) ที่เอาประกันภัย ซึ่งอยู่ภายในอาคารทิ้งไว้ดังเดิม ต่อมามีฝนตกลงมาทำให้ทรัพย์สินเหล่านั้นเสียหาย จะเกิดผลต่อความคุ้มครองอย่างไรบ้าง หากว่า
1) ผู้เอาประกันภัยปล่อยทรัพย์สินเหล่านั้นทิ้งไว้ โดยไม่ทำอะไรเพื่อปกป้องเอาไว้เลย
2) ผู้เอาประกันภัยนำแผ่นไม้มาปิดช่องหลังคาที่เปิด ต่อมาลมฝนพัดแผ่นไม้นั้นหลุดลอยไป ทำให้น้ำฝนไหลเข้ามาทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินเหล่านั้น
3) ผู้เอาประกันภัยนำผ้าใบกันน้ำ หรือแผ่นพลาสติกมาปิดคลุมทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ แต่ลมฝนพัดเข้ามาจนทำให้ผ้าใบ หรือแผ่นพลาสติกหลุดเลื่อนไป น้ำฝนจึงไปทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินเหล่านั้น

ฝากเป็นการบ้านด้วยนะครับ 

ครั้งที่แล้ว ผมอ้างอิงคดี North Texas Construction Company v. United States Fire Insurance Company (1972) ซึ่งศาลตีความค่อนข้างเคร่งครัดว่า ทรัพย์สินที่เก็บอยู่กลางแจ้ง ไม่ว่าจะมีอะไรปกคลุม หรือห่อหุ้มไว้ หรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์หรือไม่ก็ตาม ล้วนถือเป็นทรัพย์สินขณะอยู่กลางแจ้งทั้งสิ้น

เมื่อพิจารณาจากคำถามข้างต้น มิได้เป็นทรัพย์สินที่เจตนาจัดเก็บไว้กลางแจ้ง แต่เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในอาคารปิด ที่กลายสภาพมาเป็นอาคารเปิดโล่งบางส่วน จะยังตกอยู่ในข้อยกเว้นนี้ได้ไหม ซึ่งได้ระบุว่า “ที่เก็บอยู่ในอาคารโปร่ง หรืออาคารที่มีผนังด้านใดด้านหนึ่งเปิดโล่ง  (in open sided buildings) 

จากพจนานุกรม ผมจินตนาการว่า อาคารโปร่งจะเป็นอาคารที่มีช่องเปิดรับลม ในลักษณะทำเป็นช่องลม หรือทำเป็นผนังภายนอกอาคารสูงเพียงครึ่งเดียว ส่วนอาคารเปิดโล่งนั้น ประกอบด้วยหลายความหมาย อาจหมายถึงอาคารปิด แต่ข้างในเปิดโล่ง เช่น โกดัง หรือปราศจากผนังภายนอกอาคารหนึ่งด้าน สองด้าน หรือทุกด้าน คือ มีแต่หลังคากับเสาก็ได้ ส่วนคำว่า “อาคารที่มีผนังด้านใดด้านหนึ่งเปิดโล่ง” นั้น อ่านดูแล้ว รู้สึกไม่มั่นใจว่าจะหมายความรวมถึงอาคารที่ปราศจากผนังทั้งสี่ด้านด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับคำว่า “ผนัง” ไม่ชัดเจนว่า หมายถึง ผนังภายในกั้นห้อง หรือเป็นผนังภายนอกอาคาร จึงน่าสนใจว่า ข้อยกเว้นนี้เมื่อใช้พิจารณาประกอบคำถามแล้ว จะเข้าข่ายอยู่กลางแจ้ง อาคารโปร่ง หรือเปิดโล่งได้หรือไม่อย่างไร

เรามาลองพิจารณาเทียบเคียงกับคดีต่างประเทศอีกคดีหนึ่ง Victory Peach Group, Incorporated v. Greater New York Mutual Insurance Company (1998) เรื่องโดยสรุปมีอยู่ว่า หลังคาอาคารของผู้เอาประกันภัยเกิดรอยรั่ว จึงได้จ้างช่างมาทำการซ่อมแซมหลังคา การทำงานไม่สามารถทำเสร็จสิ้นได้ภายในหนึ่งวัน ช่วงเลิกงาน จึงจำต้องทำการป้องกันเอาไว้ด้วยการนำเอาผ้าใบกันน้ำกับแผ่นไม้มาตอกตะปูยึดปิดช่องหลังคาที่เปิดค้างไว้ ในคืนวันนั้น มีลมฝนมาพัดมาอย่างแรงจนผ้าใบกันน้ำกับแผ่นไม้หลุดลอยไป และน้ำฝนก็ไหลเข้าไปทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งอยู่ภายในอาคารได้รับความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยจึงได้ไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตน แต่ได้รับการปฎิเสธว่าอยู่ในข้อยกเว้นความเสียหายจากน้ำฝนต่อทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ขณะอยู่กลางแจ้ง ผู้เอาประกันภัยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากขอพึ่งอำนาจศาล ซึ่งศาลพิจารณาว่า เนื่องจากคำว่า "in the open" มิได้มีคำนิยามกำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จึงต้องอาศัยความหมายจากพจนานุกรมมาเทียบเคียง โดยให้ความหมายถึง "the open air or the outdoors" ประกอบกับความหมายของ "open" หมายถึง "being left exposed to the elements (ขอแปลโดยสรุปว่า วางไว้รับสภาพผันแปรของอากาศ เป็นต้นว่า ลม แดด ฝน)" กรณีนี้ ทรัพย์สินที่เสียหายมิได้อยู่ในความหมายเช่นว่านี้เลย บริษัทประกันภัยจึงจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

อีกคดีหนึ่ง Roger Twenhafel d/b/a Consolidated Services v. State Auto Property and Casualty Insurance Company (2009) ผู้เอาประกันภัยผลิตตู้ไม้ โดยเก็บสินค้าตู้ไว้ภายนอก แต่มีผ้าใบกันน้ำวางคลุม และมีก้อนอิฐบล็อคกับท่อนไม้ขนาดใหญ่วางทับกันปลิวไว้อีกที ก็ยังไม่อาจป้องกันลมฝนที่พัดมาได้ สินค้าตู้เปียกน้ำฝนจนเสียหาย จึงได้มาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย ซึ่งเมื่อถูกปฎิเสธ ก็ได้นำเรื่องมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลว่า คำว่า "กลางแจ้ง" ควรหมายความถึง ไม่มีอะไรมาปกคลุม หรือป้องกันอยู่เลย ซึ่งศาลในคดีนี้มีความเห็นพ้องกับผู้เอาประกันภัย ทำให้บริษัทประกันภัยประชดว่า งั้นต่อไปแค่จะเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาปิด ก็ได้กระนั้นหรือ ศาลเลยแย้งกลับว่า คนธรรมดาทั่วไปคงไม่ได้มองแบบนั้นแน่

แนวทางการวินิจฉัยของศาลต่างประเทศในประเด็นนี้ เสมือนยึดแนวทางคดีนี้เป็นเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการปกป้องของผู้เอาประกันภัยมิให้สูญเปล่า มากกว่าที่จะยึดถือถ้อยคำของตัวหนังสืออย่างเคร่งครัดดั่งในคดีแรก

แล้วท่านมีความเห็นประเด็นเรื่องนี้เป็นอย่างไร

ครั้งต่อไป จะเริ่มตอนที่สองของบทความเรื่องนี้ต่อไป โดยพิจารณาจากถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น