ข้อยกเว้นสังหาริมทรัพย์/ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ขณะอยู่กลางแจ้ง
ฯ มีผลใช้บังคับได้จริงหรือ?
(ตอนที่สอง)
(ตอนที่สอง)
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจะแบ่งรูปแบบความคุ้มครองออกเป็นสองแบบ
คือ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไปกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย
โดยต่างใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันในประเด็นเรื่องนี้ ดังนี้
ก) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป
พูดถึงประเด็นนี้ไว้เฉพาะในภัยที่ต้องซื้อเพิ่มเติมสามภัยด้วยกัน ได้แก่ ภัยลมพายุ
ภัยน้ำท่วม และภัยลูกเห็บ โดยระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายของภัยดังกล่าวว่า ถึงแม้จะได้มีการซื้อภัยเหล่านี้ไว้แล้วก็ตาม
แต่ก็ยังจะไม่คุ้มครองถึงความเสียหายที่เกิดแก่
“ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้
ซึ่งเก็บอยู่ในอาคารโปร่งหรืออาคารที่มีผนังด้านใดด้านหนึ่งเปิดโล่งหรือเก็บอยู่กลางแจ้ง
ไม่ว่าจะมีการปกคลุมด้วยผ้าใบ หรือวัสดุปกคลุมใดๆ หรือไม่ว่าจะอยู่ภายในเต็นท์ก็ตาม”
ข) ส่วนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
เดิมทีก็ระบุประเด็นนี้ไว้ภายใต้ภัยที่ต้องซื้อเพิ่มเติมสามภัยดังกล่าวเช่นกัน
จนล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้มีการแก้ไขใหม่ ให้รวมถึงภัยธรรมชาติไว้สี่ภัย
อันได้แก่ ภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด และภัยลูกเห็บ
ซึ่งมีเพียงภัยลมพายุกับภัยน้ำท่วมเท่านั้น ที่ยังระบุไม่คุ้มครองในประเด็นนี้
แต่ใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันตรงคำที่ขีดเส้นใต้ว่า
“ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เคลื่อนย้ายได้
ซึ่งเก็บอยู่ในอาคารโปร่ง หรืออาคารที่มีผนังด้านหนึ่งเปิดโล่ง
หรือเก็บอยู่กลางแจ้ง ไม่ว่าจะมีการปกคลุมด้วยผ้าใบ หรือวัสดุปกคลุมใด ๆ
หรือไม่ว่าจะอยู่ภายในเต็นท์ก็ตาม”
สังเกตเห็นได้ว่า
ในถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยระบุค่อนข้างชัดกว่ากรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ไม่ว่าจะได้มีการนำผ้าใบ หรือวัสดุใดมาปกคลุมทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้
ขณะเก็บอยู่ในอาคารโปร่ง หรืออาคารที่มีผนังเปิดโล่ง หรืออยู่กลางแจ้ง ล้วนไม่คุ้มครองทั้งนั้น
แต่ก็ยังไม่ใคร่ชัดเจนว่า
อาคารที่มีผนังด้านหนึ่งเปิดโล่ง
จะหมายความรวมถึงอาคารในลักษณะที่มีแต่หลังคากับเสา โดยปราศจากผนังด้านนอกทั้งสี่ด้าน
(หรือมากกว่าหนึ่งด้าน) ด้วยไหม โดยเฉพาะกรณีของเต็นท์มักจะอยู่ในลักษณะเช่นว่านี้
ดังนั้น คำว่า “อาคาร” กับ “เต็นท์” จะใช้บังคับต่างกันหรือเหมือนกัน และถ้าอาคารเปิดหลังคาอย่างเช่นในคดีต่างประเทศที่อ้างถึงในตอนที่แล้ว
จะเรียกเป็นอาคารเปิดโล่ง หรือโปร่งได้ไหม
อนึ่ง
การจัดเก็บทรัพย์สินจำพวกนี้ไว้ในลัง หีบห่อ หรือตู้คอนเทนเนอร์จะถือว่า
ตกอยู่ในข้อยกเว้นนี้ด้วยหรือไม่
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การใช้ถ้อยคำถึงทรัพย์สินจำพวกนี้ที่แตกต่างกันในทั้งสามกรมธรรม์ประกันภัยว่า
1) "สังหาริมทรัพย์" ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
2) "ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้" ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป และ
3) "ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เคลื่อนย้ายได้" ภายใต้กรมธรรม์ประกัน
อัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยรวมภัยธรรมชาติ
ท่านคิดว่า จะส่งผลต่อการใช้บังคับข้อยกเว้นนี้หรือไม่
เราจะมาคุยกันต่อในตอนที่สาม บทสรุปของเรื่องนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น