เฉพาะทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เมื่อเสียหายจากภัยที่เอาประกันภัย ถึงจะได้รับความคุ้มครองใช่หรือไม่?
จากหลักการของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน เฉพาะทรัพย์สินที่ระบุเอาประกันภัยไว้เท่านั้น เมื่อเสียหายจากภัยที่ระบุเอาประกันภัย ถึงจะได้รับความคุ้มครอง ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้เอาประกันภัยอาจจะมีทรัพย์สินอยู่หลายอย่าง แต่ประสงค์จะเลือกเอาประกันภัยไว้เฉพาะบางอย่างก็ได้ บริษัทประกันภัยก็จะคำนวณเบี้ยประกันภัยเฉพาะกับทรัพย์สินที่เลือกเอาประกันภัยไว้เท่านั้น ครั้นเมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากภัยที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยก็จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นการต่างตอบแทนที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัย ส่วนทรัพย์สินอื่นของผู้เอาประกันภัยที่มิได้ระบุเอาประกันภัย บริษัทประกันภัยไม่จำต้องคุ้มครองให้ เนื่องจากมิได้รับเบี้ยประกันภัยเป็นการตอบแทนแต่ประการใด
ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ผู้เอาประกันภัยเลือกเอาประกันภัยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโกดังไว้เท่านั้น โดยไม่ได้กำหนดให้สต็อกสินค้าที่เก็บอยู่ภายในโกดังเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วย บริษัทประกันภัยจะคิดเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระจากมูลค่าของตัวโกดังเท่านั้น
ต่อมา หากเกิดไฟไหม้ตัวโกดัง และลุกลามไปไหม้สต็อกสินค้าที่อยู่ภายในได้รับความเสียหายทั้งหมด เช่นนี้ บริษัทประกันภัยก็จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยเฉพาะในส่วนของตัวโกดังที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ซึ่งเป็นภัยที่กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยคุ้มครองเท่านั้น ส่วนสต็อกสินค้าที่เสียหายนั้น เนื่องจากมิได้เอาประกันภัยไว้ จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อกำหนดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่ระบุว่า
"คำจำกัดความ
คำว่า "ความเสียหาย" หมายความถึง การสูญเสียหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเกิดจากภัยที่ได้รับความคุ้มครองที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
ความคุ้มครอง
เพื่อเป็นการตอบแทนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยต้องชำระให้แก่บริษัทในการเอาประกันภัยทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ บริษัทให้สัญญาต่อผู้เอาประกันภัยว่า หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย เนื่องจาก :-
1) ไฟไหม้ ........
.......................
4) ความเสียหายเนื่องจากภัยเพิ่มพิเศษ ที่ระบุไว้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัย"
หลักการนี้ เราสามารถยึดถือได้ตลอดไปจริงหรือไม่ ขอให้ลองมาพิจารณาถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในภัยเพิ่มพิเศษของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ภายใต้ภัยลมพายุ (แบบ อค. 1.17) ที่เขียนว่า
"เนื่องจากบริษัทได้รับเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม จึงเป็นที่ตกลงกันว่า
การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ขยายความคุ้มครองถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ อันเกิดจากภัยลมพายุ ทั้งนี้รวมถึง
1.1 ความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากน้ำในทะเล ทะเลสาบ หรือมหาสมุทร ซึ่งถูกพัดหรือหอบมาพร้อมกับลมพายุ แล้วทำให้เกิดคลื่นซัดเข้าท่วมชายฝั่ง
1.2 ความเสียหายของทรัพย์สินภายในตัวอาคารที่ได้เอาประกันภัยไว้ เนื่องจากน้ำฝน น้ำค้างแข็ง หิมะ ทราย หรือฝุ่นละอองที่ผ่านเข้าไปภายในอาคารตามร่องแตกร้าวของอาคารสิ่งปลูกสร้างซึ่งได้รับความเสียหายอันเกิดจากลมพายุโดยตรงเท่านั้น"
สมมุติจากโจทย์ข้างต้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ทำประกันภัยเฉพาะตัวสิ่งปลูกสร้างโกดังไว้เท่านั้น โดยมิได้รวมสต็อกสินค้าที่เก็บภายในด้วย หากผู้เอาประกันภัยได้ซื้อภัยลมพายุเพิ่มเติม ครั้นเมื่อลมพายุฝนฟ้าคะนองพัดมาหลังคาโกดังนี้เปิดเป็นช่อง น้ำฝนที่ไหลเข้ามาสร้างความเสียหายให้แก่สต็อกสินค้าที่อยู่ภายในด้วย ผู้เอาประกันภัยจะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับ
1) ความเสียหายของหลังคาโกดังอย่างเดียว หรือ
2) ยังสามารถเรียกร้องความเสียหายของสต็อกสินค้าที่อยู่ภายในได้ด้วย
คุณคิดว่าอย่างไร??
เมื่อพิจารณาประกอบถ้อยคำภายใต้ภัยลมพายุ แบบ อค. 1.17 ตรงข้อความที่ขีดเส้นใต้ในข้อ 1.1 ใช้คำอย่างชัดเจนว่า "ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย" ขณะที่ในข้อ 1.2 ใช้คำว่า "ทรัพย์สิน" เฉย ๆ ส่วนข้อความติดกันเขียนว่า "ภายในตัวอาคารที่ได้เอาประกันภัยไว้"
คุณคิดว่า
(1) คำว่า "ที่ได้เอาประกันภัยไว้" นั้น ขยายเฉพาะคำว่า "อาคาร" ที่อยู่ติดกันอย่างเดียว หรือขยายรวมถึง คำว่า "ทรัพย์สิน" ก่อนหน้านั้นด้วย
(2) ทั้งคำว่า "ทรัพย์สิน" นี้จะสื่อความหมายเหมือนเป็นเช่นเดียวกับคำว่า "ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย" ในข้อ 1.1 หรือเปล่า หรือจะอยู่ในความหมายปกติที่ว่า หมายความถึงทรัพย์สินทั่วไป ไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็ได้ เพราะมิได้เขียนเจาะจงชัดแจ้งไว้เลย
อนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับถ้อยคำภายใต้ภัยลมพายุที่ถูกปรับปรุงใหม่ของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยรวมภัยธรรมชาติ ในข้อ 2.7 ที่ระบุว่า
"2.7 ภัยลมพายุ ให้หมายความรวมถึง
2.7.1 ความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากน้ำในทะเล ทะเลสาบ หรือมหาสมุทรซึ่งถูกพัดหรือหอบมาพร้อมกับลมพายุ แล้วทำให้เกิดคลื่นซัดท่วมชายฝั่ง
2.7.2 ความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยภายในตัวอาคารที่ได้เอาประกันภัยไว้ เนื่องจากน้ำฝน น้ำค้างแข็ง หิมะ ทราย หรือฝุ่นละอองที่ผ่านเข้าไปภายในอาคารตามร่องแตกร้าวของอาคารสิ่งปลูกสร้างซึ่งได้รับความเสียหาย อันเกิดจากลมพายุโดยตรงเท่านั้น"
คุณสังเกตเห็นความแตกต่างของถ้อยคำที่ขีดเส้นใต้ระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยสองฉบับไหมครับ
กรณีโกดังที่เอาประกันภัยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว โดยขยายภัยลมพายุไว้ด้วยนั้น เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว แต่ปรากฏว่า บริษัทประกันภัยจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับสต็อกสินค้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำฝนที่ไหลเล็ดรอดเข้าไปด้วย ทั้งที่ตนเองมิได้รับชำระเบี้ยประกันภัยในส่วนนี้เลย เนื่องจากมิได้ถูกระบุเอาประกันภัยไว้ตั้งแต่แรก
คุณคงรู้แล้วใช่ไหมว่า ทำไม???
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น