เจ้าบ้านสามารถเอาประกันภัยบ้านที่ตนอยู่อาศัยมาทำประกันภัยได้หรือไม่ (2)
จากประเด็นความเห็นผู้อาศัยไม่สามารถที่จะเอาประกันภัยบ้านที่ตนอาศัยอยู่ได้นั้น
ยังมีข้อโต้แย้งว่า
1)
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่
4830/2537 วินิจฉัยว่า
ผู้ที่มีสิทธิเอาประกันภัยไม่จำกัดแต่ผู้มีกรรรมสิทธิ์เท่านั้น
ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับทรัพย์ หรือสิทธิ หรือผลประโยชน์ หรือรายได้ใด ๆ
ซึ่งหากเกิดวินาศภัยขึ้น จะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายทางการเงิน และ
2)
ในประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์
มาตรา 1402 บัญญัติรองรับไว้ว่า “บุคคลใดได้รับสิทธิอาศัยในโรงเรือน
บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้น โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า”
ฉะนั้น ผู้อาศัยมีกฎหมายรองรับ
และมีสิทธิที่จะนำเอาบ้านที่ตนเองอาศัยมาทำประกันภัยได้
ผมขออกตัวเสียก่อนว่า ผมมิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายแต่ประการใด
แม้ผมเคยได้เรียนจบกฎหมาย แต่ก็มิได้ปฎิบัติงานทางด้านกฎหมายเลย
เพียงแต่พยายามทำการศึกษาค้นคว้า และหามุมมองที่แตกต่างออกไปหลายมุม
ในมุมมองของผม สิทธิของผู้อาศัยนั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดสิทธิเอาไว้ค่อนข้างเยอะ เป็นต้นว่า
สามารถนำบุคคลในครอบครัวมาอยู่ด้วยก็ได้ (มาตรา 1405) หรือมีสิทธิเก็บดอกผลในสถานที่นั้นก็ได้
(มาตรา
1406) เว้นแต่จะระบุห้ามเอาไว้โดยชัดแจ้ง ประกอบกับมาตรา
1407
ยังได้ระบุอีกว่า
ถ้าผู้อาศัยได้ออกค่าใช้จ่ายในการทำให้ทรัพย์สินที่ตนอาศัยอยู่ดีขึ้น
ไม่อาจเรียกค่าใช้จ่ายนั้นคืนจากผู้ให้อาศัยได้ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองว่า
ผู้อาศัยตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ไม่น่าจะหมายความรวมถึงบุคคลในครอบครัวของเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสถานที่นั้นเอง
ดังเช่นตัวอย่างที่พวกผมซึ่งเป็นลูกอาศัยอยู่ในบ้านพ่อแม่
ไม่น่าถือเป็นผู้อาศัยในความหมายของกฎหมายดังกล่าว น่าจะมองเป็นลักษณะตัวแทนในการครอบครองแทนตัวการเจ้าของกรรมสิทธิ์มากกว่า
อย่างไรก็ดี ด้วยสิทธิที่มีอย่างจำกัดของผู้อาศัย
ผมก็ไม่คิดว่า ผู้อาศัยจะสามารถมีส่วนได้เสียที่จะบ้านที่ตนเองอาศัยอยู่ไปทำประกันภัยได้
ด้วยเหตุผล ดังนี้
ก) ถ้าสามารถทำได้ ผู้อาศัยเป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันภัย
ในฐานะผู้เอาประกันภัย โดยอาจกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามมูลค่าบ้าน
ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ต่อมา หากผู้อาศัยประมาทเลินเล่อทำให้เกิดไฟไหม้บ้านหลังนั้น
ผู้อาศัยในฐานะผู้เอาประกันภัยก็ไปขอรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
และเจ้าของบ้านตัวจริงจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร
จำต้องไปใช้สิทธิทางกฎหมายอื่นไปเรียกร้องจากผู้อาศัยกระนั้นหรือ
หากผู้อาศัยบ่ายเบี่ยงหรือหลบหนีไป หรือ
ข) ผู้อาศัยทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองบ้านที่ตนอาศัย
และระบุให้เจ้าของบ้านตัวจริงเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย กรณีนี้
อาจตอบโจทย์ข้างบนได้ แต่ผมก็ยังสงสัยว่า
ทำไมเจ้าของบ้านตัวจริงไม่ทำประกันภัยเสียเอง หรือ
ค) หากเกิดว่า
ทั้งผู้อาศัยกับเจ้าของบ้านตัวจริงต่างคนต่างทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองบ้านหลังเดียวกัน
โดยอาจไม่รู้กัน ถือเป็นการประกันภัยซ้ำซ้อน
ทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยจำต้องมาร่วมเฉลี่ยค่าเสียหายหรือไม่
ถ้าปราศจากประเด็นข้อโต้แย้งว่า ไม่ถือเป็นส่วนได้เสียอย่างเดียวกัน (สิทธิอาศัยกับกรรมสิทธิ์)
ทั้งสองฉบับก็จะต้องนำมาหารเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนกันตามส่วน หากสรุปว่า
เนื่องจากไม่ใช่ส่วนได้เสียอย่างเดียวกัน ใครมีส่วนได้เสียดีกว่า ก็ได้รับไป
เช่นนี้ กรมธรรม์ประกันภัยของเจ้าบ้านตัวจริงก็รับผิดชอบไปโดยลำพัง ประเด็นที่น่าสนใจต่อไป
บริษัทประกันภัยที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้น
สามารถสวมสิทธิไปไล่เบี้ยผู้อาศัยที่กระทำประมาทเลินเล่อนั้นได้หรือไม่
เนื่องด้วยส่วนได้เสียในการทำประกันภัยนั้น
สามารถจำแนกออกได้เป็นสามลักษณะ ดังนี้
(1)
ส่วนได้เสียในทรัพย์สิน
(2)
ส่วนได้เสียในชีวิตร่างกาย
(3)
ส่วนได้เสียในความรับผิดตามกฎหมาย
ดังนั้น หากผู้อาศัยสนใจจะทำประกันภัย
ผมจะแนะนำให้ไปทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายมากกว่าที่จะให้ไปทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองบ้านที่ตนอาศัยอยู่
เพราะจะสามารถมาเรียกให้ผู้รับประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของตนมาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทประกันภัยของเจ้าของบ้านดังกล่าวได้
ประกอบกับได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1742/2520 เคยวินิจฉัยเป็นแนวทางเอาไว้ว่า
โจทก์ผู้ครอบครองตึกของผู้อื่นในฐานะผู้อาศัย
ไม่มีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยตึกได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น