วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 192 : ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?

 

(ตอนที่สาม)

 

โลกแห่งประกันภัยสามารถแบ่งออกเป็นสองค่ายใหญ่ ๆ ได้แก่ ค่ายฝั่งยุโรปซึ่งเริ่มต้นมาก่อน โดยมีประเทศอังกฤษเป็นแกนสำคัญ และบ้านเราเองก็ได้อาศัยความรู้กับแนวปฏิบัติมาใช้ยึดถือเป็นต้นแบบ ส่วนค่ายที่สองทางฝั่งอเมริกาซึ่งแม้อาศัยต้นแบบจากฝั่งยุโรปมาเช่นกัน แต่ได้พยายามพัฒนาสร้างความแตกต่างจนเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ในที่สุด

 

ฉะนั้น การศึกษาทำความเข้าใจอย่างกว้างขวางจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้ทั้งสองค่ายเป็นเกณฑ์ประกอบไปด้วย

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องแรกที่ผ่านมาเป็นของทางฝั่งอเมริกา

 

ทีนี้ เราลองมาพิจารณาเทียบเคียงกับฝั่งยุโรปกันดูบ้างนะครับ

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องที่สอง

 

คดีนี้ก็ย้อนกลับประมาณปี ค.ศ. 1892 ภรรยาได้วางยาพิษฆ่าสามีตนเองจนเสียชีวิต และได้ถูกตัดสินให้มีความผิดจากการกระทำดังกล่าว ต่อมา ภรรยารายนั้นได้ไปยื่นเรียกร้องเงินผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตของสามีตนเองกับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง แต่ได้ถูกปฏิเสธโดยอ้างหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (public policy)

 

ตัวภรรยารายนั้นจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาท

 

ศาลชั้นต้นยกคำร้องดังกล่าว และมีคำสั่งให้เงินผลประโยชน์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ทายาทตามกฎหมายรายอื่นต่อไป

 

ตัวภรรยารายนั้นอุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์มีมติเป็นเอกฉันท์ยืน โดยวินิจฉัยว่า เป็นการขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่จะยินยอมให้ผู้กระทำผิดสามารถเรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำความผิดของตนได้

 

กระนั้นก็ตาม เงินผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทนั้นเอง คงถือเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นมีหน้าที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้กระทำการแทนเพื่อจัดสรรกองมรดกนั้นให้แก่ทายาทตามกฎหมายรายอื่นต่อไปอยู่ดี เนื่องด้วยสิทธิที่มีอยู่เดิมของตัวภรรยารายนั้นในฐานะผู้รับประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทนั้น ได้ถูกเพิกถอนไปโดยผลของหลักกฎหมายดังกล่าว

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Cleaver v. Mutual Reserve Fund Life Association (1892) 1 QB 147, 156)

 

เหลือตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศอีกแค่หนึ่ง แล้วค่อยมาหยิบยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาบ้านเรามาเทียบเคียงเป็นแนวสรุปกันนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น