วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 191 : บทเรียนราคา 38 ล้านเหรียญจากการประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องจากการขนส่ง (Marine Consequential Loss Insurance)

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

การประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องจากการขนส่ง (Marine Consequential Loss Insurance) นั้น หลายท่านอาจไม่ใคร่คุ้นหูนัก แต่ถ้าเอ่ยว่า “การประกันภัยการสูญเสียผลกำไรล่วงหน้า (Advance Loss of Profit Insurance) หรือการประกันภัยความล่าช้าในการดำเนิน (Delay In Start-Up Insurance)” อาจคุ้นมากกว่า

 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้ความหมายไว้ดังนี้

 

advance profits insurance การประกันภัยกำไรที่คาดว่าจะได้รับ คือ การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักประเภทหนึ่งซึ่งจะให้ความคุ้มครองความสูญเสียจากการขาดกำไรขั้นต้นที่คาดไว้ของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มกิจการใหม่ อันสืบเนื่องมาจากการที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากภัยที่คุ้มครอง (มีความหมายเหมือนกับ advance loss of profit (ALOP) และ delay in start up (DSU) การชักช้าในการเริ่มต้น)

 

โดยปกติ การประกันภัยประเภทนี้จะพบในประเภทการประกันภัยทางวิศกรรมอยู่บ่อยครั้ง แต่ประเภทการประกันภัยการขนส่งสินค้าก็สามารถจัดทำได้เช่นเดียวกัน เหมือนดั่งเช่นกรณีพิพาทของตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศเรื่องนี้

 

เจ้าของโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Electricity Generating Facility) รายหนึ่ง (ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า M) ซึ่งจะตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำสัญญาว่าจ้างแบบเบ็ดเสร็จกับผู้รับเหมารายหนึ่ง (ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า B) เพื่อให้ออกแบบ จัดหาเครื่องจักรกับอุปกรณ์ และทำการก่อสร้าง/ติดตั้งจนแล้วเสร็จสิ้นทั้งโครงการนั้น

 

ผู้รับเหมา B ได้ไปว่าจ้างผู้ผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นให้ทำการผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำกู้คืนความร้อน (Heat Recovery Steam Generators (HRSGs) เพื่อนำมาติดตั้งที่โครงการนั้น และให้ทำการจัดส่งเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ มาทางเรือจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศสหรัฐอเมริกา

 

เนื่องด้วยมูลค่าโครงการนี้ค่อนข้างสูง ผู้รับเหมา B จึงได้ไปขอให้บริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยเจ้าหนึ่งจัดทำประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องจากการขนส่งฉบับพิพาทให้ ซึ่งประกอบด้วยสองหมวดความคุ้มครอง อันได้แก่

 

หมวดที่ 1 จะคุ้มครองความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ในที่นี้ คือ สินค้าจำพวกเครื่องจักร อุปกรณ์ และส่วนประกอบต่าง ๆ ตลอดจนวัสดุอื่นใดที่เกี่ยวข้องนั่นเอง และ

 

หมวดที่ 2 จะคุ้มครองความสูญเสียสืบเนื่องทางการเงิน อันสืบเนื่องมาจากความคุ้มครองตามหมวดที่ 1 ตลอดจนถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยง หรือที่จะทุเลาความเสียหายสืบเนื่องทางการเงินดังกล่าว จนส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการเริ่มประกอบกิจการที่เอาประกันภัย (Delay In Start-Up) นั้นเอง

 

โดยที่มีข้อรับรอง (warranty) เพิ่มเติมในหมวดที่ 2 อีกด้วยว่า รายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งมีลักษณะความสำคัญ และมีความเสี่ยงภัยสูง (critical items) นั้นจะต้องถูกรับรองว่า ได้ผ่านการสำรวจตรวจสอบจากสมาคมการช่วยเหลือกู้ภัยแห่งกรุงลอนดอน (London Salvage Association) หรือผู้ได้รับมอบรายใด หรือผู้สำรวจภัยรายอื่นใดซึ่งบริษัทประกันภัยได้เห็นชอบเสียก่อน โดยมีขอบเขตหน้าที่ พอสรุปโดยสังเขป ดังนี้

 

(1) รับรองการทำงานของตัวเรือที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตัวเครื่องจักรกับอุปกรณ์ที่ใช้ในยก ตลอดจนการดำเนินงานทางด้านการขนถ่ายขึ้นลงด้วย

 

(2) รับรองบรรจุภัณฑ์ การขนขึ้นลง การจัดเก็บ และการจัดการดูแลรักษา

 

(3) ตรวจสอบ และรับรองทุกขั้นตอนการดำเนินการในระหว่างการขนส่ง

 

(4) รับรองการจัดการขนส่งตลอดช่วง และตลอดเส้นทาง

 

(5) รับรอง และกำหนดแนวปฏิบัติการรับมือต่อสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับช่วงการขนส่งนั้นด้วย

 

หรือข้อแนะนำอื่นใดที่จำเป็น ทั้งนี้ ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เอาประกันภัยเอง

 

รายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งมีลักษณะความสำคัญ และมีความเสี่ยงภัยสูงนั้นจะต้องถูกแถลงเอาไว้ด้วย

 

อนึ่ง รายงานการรับรองกับข้อแนะนำต่าง ๆ ทั้งหมดซึ่งสมาคมการช่วยเหลือกู้ภัยแห่งกรุงลอนดอน และ/หรือผู้สำรวจภัยที่แต่งตั้งได้จัดทำขึ้นมา จะต้องส่งมอบให้แก่บริษัทประกันภัยไว้เป็นหลักฐาน

 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไม่ปรากฏได้มีการจัดทำรายการทรัพย์สินที่สำคัญ และอ่อนไหวดังกล่าวขึ้นมาแนบประกอบกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทแต่ประการใด

 

วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 เรือที่ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้แล่นออกจากประเทศญี่ปุ่นมุ่งหน้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมิได้มีการสำรวจกับการรับรองใดบังเกิดขึ้นมาเลย

 

วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 เรือลำนั้นได้เผชิญหน้ากับพายุไต้ฝุ่นระหว่างทาง จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่ส่วนใหญ่ของสินค้าที่เอาประกันภัยนั้น

 

อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นยินดีจัดเปลี่ยนทดแทนสินค้าที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ก็ทำให้เกิดความล่าช้าที่ต้องรอคอยสินค้าใหม่มาเปลี่ยนทดแทนนานถึงประมาณหกเดือน  

 

เพื่อรองรับปัญหานี้ ผู้รับเหมา B จึงจำต้องปรับเปลี่ยนลำดับขั้นตอนการทำงาน และระดมผู้เชี่ยวชาญกับคนงานเสริมเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อมิให้งานของโครงการนั้นต้องล่าช้าออกไปจากหมายกำหนดการเดิม ท้ายที่สุด ความพยายามเช่นว่านั้นก็ประสบความสำเร็จ ผู้รับเหมา B สามารถดำเนินงานจนเสร็จสมบูรณ์ได้ตามหมายกำหนดการเดิมนั้น แต่ทั้งนี้ ก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสูงมากถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,404 ล้านบาท)

 

ลองทายกันดูสิครับว่า

 

ครั้นเจ้าของโครงการ M และผู้รับเหมา B แจ้งต่อบริษัทประกันภัยรายนั้น เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น พวกเขาจะได้รับคำตอบกลับมาเช่นใด?

 

อดใจรอดูคำตอบ และผลทางคดีนี้ในสัปดาห์หน้าเช่นเคยครับ

  

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น