วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 191: บทเรียนราคา 38 ล้านเหรียญจากการประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องจากการขนส่ง (Marine Consequential Loss Insurance)

 

(ตอนที่สอง)

 

ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจเสียก่อน คำว่า “ข้อรับรอง หรือคำรับรอง” นั้นมีความหมายเช่นไร?

 

คำรับรอง (Warranty) หมายความถึง คำมั่นสัญญาของผู้เอาประกันภัยว่า จะกระทำ หรือไม่กระทำบางสิ่งบางอย่าง หรือจะปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริงโดยไม่ปิดบัง ทั้งหมดนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด เมื่อมีการผิดคำรับรอง ผู้รับประกันภัยมีสิทธิที่จะปฏิเสธความรับผิด เนื่องจากผู้รับประกันภัยหลุดพ้นจากความรับผิดนับแต่มีการฝ่าฝืนคำรับรอง (พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560)

 

นอกจากนี้ ธุรกิจประกันภัยยังจำแนกคำนี้ย่อยลงไปอีก อันได้แก่ คำรับรองโดยชัดแจ้ง (Express Warranty) กับคำรับรองโดยปริยาย (Implied Warranty) ซึ่งล้วนจะให้ผลลัพธ์อย่างเดียวกัน เพียงแต่ข้อแตกต่าง คือ จะทำเป็นแบบลายลักษณ์อักษรอย่างชัดแจ้งหรือไม่เท่านั้น

 

อนึ่ง แนวปฏิบัติสากลตามพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล ค.ศ. 1906 กำหนดว่า คำรับรองนั้นจะต้องได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

ผลลัพธ์การไม่ปฏิบัติตามคำรับรองจึงหนักหนาสาหัสมาก

 

ฉะนั้น อาจไม่จำเป็นต้องคาดเดาถึงคำตอบกลับเรื่องนี้ของทางฝั่งบริษัทประกันภัย แน่นอนครับว่า เขาตอบปฏิเสธไม่คุ้มครองให้ เพราะมีการทำผิดข้อรับรองเกิดขึ้น

 

กระนั้น ฝ่ายบริษัทประกันภัยชิงเป็นฝ่ายนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดรับรองคำตอบเช่นว่านั้นของตนอีกชั้นหนึ่ง เนื่องด้วยความที่มีวงเงินเดิมพันค่อนข้างสูงดังกล่าว

 

ผลทางคดียกแรก ศาลชั้นต้นพลิกล็อกด้วยการที่กลับตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

ยกสองชั้นอุทธรณ์จึงติดตามมา

 

โดยที่ศาลอุทธรณ์ได้พินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดของทั้งสองฝ่ายแล้ว ให้ความเห็นเป็นลำดับ ดังนี้

 

1) กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทมีถ้อยคำที่คลุมเครือไม่ชัดเจนหรือไม่?

 

ศาลอุทธรณ์อ่าน และเชื่อว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนี้ได้เขียนอย่างชัดเจนว่า การสำรวจจะบังเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อได้ปรากฏมีการจัดทำรายการทรัพย์สินที่สำคัญ และอ่อนไหว (list of critical items) ดังกล่าวขึ้นมาแนบประกอบแล้วเท่านั้น (critical items are to be surveyed as per warranty wording attached)

 

ข้อรับรองการสำรวจเองก็เขียนให้สมาคมการช่วยเหลือกู้ภัยแห่งกรุงลอนดอน (London Salvage Association) หรือผู้ได้รับมอบรายใด หรือผู้สำรวจภัยรายอื่นใดซึ่งบริษัทประกันภัยได้เห็นชอบมีหน้าที่สำรวจ และรับรองรายการทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ข้างล่าง โดยทิ้งช่องว่างให้ใส่รายการเหล่านั้นลงไว้ พร้อมเขียนกำกับอีกด้วยว่า หากจำเป็น รายการเหล่านั้นอาจถูกจัดทำอยู่ในตารางแยกต่างหากก็ได้

 

สำหรับใบสลักหลังสองฉบับ ซึ่งฝ่ายบริษัทประกันภัยใช้กล่าวอ้างว่า รายการทรัพย์สินที่สำคัญ และอ่อนไหวนั้นได้ถูกระบุไว้แล้ว กลับพบว่า

 

ฉบับแรกที่ออกมาก่อนวันที่เกิดเหตุนั้นเป็นเพียงปรากฏถ้อยคำสื่อสารระหว่างกันแสดงถึงข้อตกลงที่จะต้องให้มีการสำรวจกับการรับรองรายการทรัพย์สินดังกล่าว หากต้องการ แต่ฝ่ายผู้รับเหมา B ตอบกลับไปว่า ขณะนั้น ผู้รับเหมาช่วงยังไม่มีความต้องการเช่นว่านั้น

 

หลังจากนั้น กลับมิได้มีการติดตามทวงถามความคืบหน้าแต่ประการใด

 

ฉบับที่สองถูกจัดทำหลังจากเกิดเหตุแล้ว โดยนำส่งไปถึงบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัย (ฝ่ายผู้เอาประกันภัยอ้างว่า ไม่เคยได้รับรู้) เป็นการแจ้งรับทราบถึงคำบอกกล่าวเบื้องต้นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกับย้ำเตือนว่า สินค้าที่เสียหายนั้นจัดอยู่ในรายการทรัพย์สินดังกล่าวโดยยังมิได้ถูกสำรวจตามข้อรับรอง ฝ่ายบริษัทประกันภัยสงวนสิทธิต่าง ๆ ในการพิจารณา และจะแต่งตั้งผู้สำรวจเข้าไปดำเนินการเอง

 

ทั้งสองฉบับจึงไม่อาจแสดงได้อย่างชัดแจ้งว่า ได้มีการจัดทำรายการทรัพย์สินดังกล่าวขึ้นมาแล้วตามที่กล่าวอ้าง โดยเฉพาะฉบับหลังนั้นก็ไม่อาจมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้อีกด้วย

 

2) ความเสียหายสืบเนื่องฉบับพิพาทมีผลใช้บังคับเพียงแก่เจ้าของโครงการเท่านั้น มิใช่กับผู้รับเหมาด้วย

 

ตามหลักการปกติของการประกันภัยประเภทนี้ ผู้ที่จะเอาประกันภัยได้จะต้องมีเพียงเจ้าของโครงการ หรือผู้ว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง หากโครงการที่เอาประกันภัยนั้นบังเกิดความล่าช้าในการที่จะเริ่มต้นประกอบกิจการออกไปจากหมายกำหนดการที่วางไว้

 

นั่นคือ คำต่อสู้ของฝ่ายบริษัทประกันภัย

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ฝ่ายผู้รับเหมา B ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริงที่จะได้รับความคุ้มครองในหมวดที่ 2 ความสูญเสียสืบเนื่องทางการเงินนั่นเอง บางใบสลักหลังก็ได้ระบุเช่นนั้นอย่างชัดเจน

 

เพียงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะหมวดที่ 1 ความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้น

 

ฝ่ายผู้รับเหมา B โต้แย้งว่า ตนมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากหมวดที่ 2 ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย (Duty of Assured) ที่มีอยู่ในตัวกรมธรรม์ประกันภัยหลักฉบับพิพาทเอง ซึ่งเขียนว่า

 

เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย และบริวาร ตลอดจนตัวแทนทั้งหลายของผู้เอาประกันภัย ในกรณีอันเกี่ยวกับความเสียหายที่จะได้รับการชดใช้ในที่นี้ จะดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ตามแต่ความสมควรด้วยจุดประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยง หรือบรรเทาความเสียหายดังกล่าวนั้น ..... โดยที่ผู้รับประกันภัยจะชดใช้คืนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับค่าใช้จ่ายใดก็ตามที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง และอย่างเหมาะสมในการดำเนินการตามหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านั้น นอกเหนือจากความเสียหายใดอันจะได้รับความคุ้มครองในที่นี้ด้วย

 

อีกทั้งตรงหัวข้อชื่อผู้เอาประกันภัย ยังมีการระบุผู้เอาประกันภัยอย่างยาวเฟื้อยมากมาย แทบจะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ว่าได้ เช่น เจ้าของโครงการ และ/หรือกลุ่มบริษัทในเครือ และ/หรือผู้รับเหมาหลัก และ/หรือผู้รับเหมาช่วง เป็นต้น

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยตอบโต้ว่า ข้อกำหนดว่าด้วยหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยดังกล่าวหมายความถึงเพียงจำกัดให้เป็นหน้าที่ของตัวผู้เอาประกันภัย (เจ้าของโครงการ) เอง ซึ่งเป็นผู้จะได้รับความคุ้มครองในหมวดนี้เท่านั้น

 

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะถ้อยคำไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดแจ้งถึงขนาดนั้น แม้นการกระทำของฝ่ายผู้รับเหมา B ในการบรรเทาความเสียหายสืบเนื่องนั้นได้กระทำเพื่อประโยชน์ของตัวผู้เอาประกันภัย (เจ้าของโครงการ) เป็นเกณฑ์ก็ตาม แต่จะบอกว่า ฝ่ายผู้รับเหมา B ไม่มีหน้าที่เช่นนั้นอยู่ด้วยเลย ก็คงไม่ถูกต้อง เมื่อพิจารณาถึงฝ่ายผู้รับเหมา B ถูกระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมอยู่เช่นเดียวกัน

 

อนึ่ง ใบสลักหลังบางฉบับที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยอ้างอิงว่า ได้เขียนให้วงเงินความคุ้มครอง 88,506,000 เหรียญสหรัฐมีผลใช้บังคับในส่วนได้เสียของตัวผู้เอาประกันภัย (เจ้าของโครงการ) เท่านั้น ก็มิได้หมายความถึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความหมายของผู้เอาประกันภัยแต่ประการใด

 

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า ฝ่ายผู้รับเหมา B มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามหมวดที่ 2  เพราะมิฉะนั้นแล้ว ตัวผู้เอาประกันภัย (เจ้าของโครงการ) อาจจะได้รับความสูญเสียทางการเงินจากความล่าช้าอย่างมาก (ฝ่ายบริษัทประกันภัยอาจจ่ายมากกว่านี้ ก็เป็นได้)

 

3) การไม่จัดทำรายการทรัพย์สินที่สำคัญ และอ่อนไหว (list of critical items)

 

ส่วนประเด็นคำถาม ฝ่ายผู้รับเหมา B ควรต้องตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญ และความอ่อนไหวของรายการสินค้าที่เอาประกันภัย เมื่อพิจารณาถึงมูลค่ากับคุณประโยชน์ที่มีต่อโครงการนั้นเอง แล้วทำไมถึงไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

ศาลอุทธรณ์กลับมองว่า ข้อตกลงของข้อรับรองเช่นว่านั้นชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อฝ่ายบริษัทประกันภัยให้สาระสำคัญแก่ข้อรับรองนั้นมากขนาดถึงเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะพิจารณาตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ แล้วเสมือนหนึ่งผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้รับเหมา B ควรจะต้องกระทำฝ่ายเดียว ไม่น่าจะถูกต้องนัก ฝ่ายบริษัทประกันภัยเองควรจะต้องคอยหมั่นกำกับตรวจสอบให้มั่นใจด้วยเช่นเดียวกันว่า หน้าที่เช่นว่านั้นได้ถูกปฏิบัติตามอย่างถูกต้องเคร่งครัดแล้วหรือยัง?

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ให้ผู้รับเหมา B ชนะคดี

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Assicurazioni Generali v. Black & Veatch, 362 F. 3d 1108 – Court of Appeals, 8th Circuit 2004)

 

หมายเหตุ

 

ถึงมีแนวคำพิพากษาศาลต่างประเทศให้ต้องปฏิบัติตามคำรับรอง หรือข้อรับรองอย่างเคร่งครัดมาแล้วก็ตาม แต่คดีนี้ เข้าใจเป็นเรื่องการตั้งประเด็นข้อต่อสู้อีกแนว ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อแนวทางที่เคยรับรู้กันมานะครับ

 

จากการที่มีวงเงินเดิมพันค่อนข้างสูง ได้สร้างผลกระทบไปถึงเรื่องการประกันภัยต่อด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระหว่างบริษัทประกันภัยตรงกับบริษัทประกันภัยต่อ โชคดีที่รับทราบมาว่า สามารถตกลงประนีประนอมอย่างไม่เป็นที่เปิดเผยกันได้ในท้ายที่สุด

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น