วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 192 :ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

สัปดาห์ก่อนมีคำถามให้ชวนคิด พอจับประเด็นได้ ดังนี้

 

โจทย์

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance Policy) ฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอยู่ที่ 900,000 บาท

 

ผู้เอาประกันภัยได้ระบุในช่องผู้รับประโยชน์ว่า “ทายาทตามกฎหมาย” ให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ซึ่งผู้เอาประกันภัยรายนี้มีลูกอยู่สามคน ส่วนสามีได้เสียชีวิตไปนานแล้ว

 

ต่อมาปรากฏว่า ผู้เอาประกันภัยได้ถูกลูกคนหนึ่งของตนฆ่าตาย

 

คำถาม

 

1) บริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองปฏิเสธไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์การเสียชีวิตทั้งหมดได้หรือไม่?

 

2) ถ้าจำต้องจ่ายให้แก่ทายาทที่สุจริตอีกสองคนที่เหลือ ควรจะจ่ายเท่าไหร่?

 

แม้นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลสามารถเลือกซื้อหาความคุ้มครองได้จากทั้งบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัยก็ได้ แต่เนื่องด้วยมีลักษณะให้ความคุ้มครองแก่ชีวิต ร่างกาย โดยมีวงเงินกำหนดแน่นอนตายตัว จึงถูกแปลความให้จัดอยู่ในหมวดการประกันชีวิต (ยกเว้นค่ารักษาพยาบาลที่จัดเป็นประกันวินาศภัย)

 

แนววิเคราะห์เบื้องต้น

 

ในการพิจารณาค้นหาคำตอบ เบื้องต้นคงจำต้องอาศัยหลักกฎหมายในหมวดที่ 3 ว่าด้วยประกันชีวิตแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้

 

มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้น ในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

 

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัคร ภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

 

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

 

หากอ้างอิงตามกฎหมายข้างต้น ในข้อที่ (2) บริษัทประกันภัยรายนั้นสามารถใช้สิทธิปฏิเสธความรับผิดของตนได้

 

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลคงไม่มีประเด็นเรื่องให้คืนเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัย

 

แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต ให้คืนเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันภัยนั้น (ผู้เอาประกันภัยคงไม่น่ามีชีวิตอยู่แล้ว) เท่านั้น ก็จบเรื่องเลยใช่หรือเปล่า?

 

ถ้างั้น นี่คือ แนวคำตอบสำหรับคำถามข้อแรกจริงไหม?

 

แล้วทายาทสุจริตที่เหลืออีกสองรายล่ะ? จะทำเช่นไร?

 

ส่วนตัวได้ให้แนวคำตอบคร่าว ๆ ไปแล้ว

 

แต่ไม่แน่ใจผู้รับฟังจะคล้อยตามบ้างไหม?

 

สัปดาห์หน้าลองมาดูกันครับ แนวคำตอบของผมมีที่มาอย่างไร?

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น