เรื่องที่ 190 : ผลกระทบการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime on Sale of Goods)
ได้อ่านบทความเรื่องนี้แล้ว เห็นว่า น่าสนใจ และสามารถเชื่อมโยงกับการประกันภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime Insurance) ได้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
เรื่องนี้เป็นการซื้อขายกากเมล็ดทานตะวัน (sunflower meal) ข้ามประเทศ โดยมีบุคคลผู้เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกันสามฝ่าย ได้แก่
1) ผู้ขายอยู่ประเทศหนึ่ง ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า A
2) ผู้ซื้ออยู่อีกประเทศหนึ่ง ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า K
3) โดยมีนายหน้าเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลาง ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า V
สัญญาซื้อขายเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานของสมาคมการค้าธัญพืชและอาหารสัตว์ (Grain and Feed Trade Association (GAFTA)) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลผลประโยชน์ของผู้เข้าร่วมตลาดธัญพืช
ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายฉบับพิพาทได้กำหนดเงื่อนไขการชำระเป็นเงินสดผ่านทางธนาคารของผู้ซื้อ ต่อเมื่อได้รับสำเนาของเอกสารต้นฉบับต่าง ๆ รวมถึงใบกำกับสินค้าที่เกี่ยวข้องทางโทรพิมพ์ หรือด้วยการสแกนจากผู้ขายแล้วเท่านั้น
ครั้นเมื่อผู้ขาย A ได้จัดส่งสินค้าออกไป และได้จัดส่งใบกำกับสินค้านั้นทางอีเมลผ่านทางนายหน้า V เพื่อให้ส่งต่อไปถึงผู้ซื้อ K โดยที่ในใบกำกับสินค้านั้นให้รายละเอียดบัญชีของผู้ขาย A เป็นที่ธนาคารแห่งหนึ่ง สาขานิวยอร์ก พร้อมยอดเงินทั้งหมดที่จะต้องชำระ คือ 1,167,900 ดอลลาร์สหรัฐ
นายหน้า V ก็ทำหน้าที่ของตนด้วยการอีเมลส่งต่อ พร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นไปถึงผู้ซื้อ K
อย่างไรก็ตาม ปรากฏในการตรวจสอบภายหลัง เอกสารเหล่านั้นซึ่งผู้ซื้อ K ได้รับมา และเชื่อว่า ถูกนำส่งจากนายหน้า V กลับระบุรายละเอียดบัญชีของผู้ขาย A เป็นที่ธนาคารแห่งเดียวกัน แต่เป็นสาขากรุงลอนดอนแทน
เนื่องด้วยไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ใดควรต้องรับผิดชอบ แต่ข้อมูลที่ปรากฏนั้นมีความชัดเจนว่า เอกสารที่ถูกส่งผ่านทางอีเมลบางฉบับได้ถูกคนร้ายแอบแฮ็ก และเข้าไปแก้ไขปลอมแปลง หรือสลับเปลี่ยนบัญชีนั้นให้เป็นบัญชีของคนร้ายนั้นแทน
ถึงแม้ผู้ซื้อ K หลงเชื่อโดยสุจริต และได้สั่งจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดไปที่บัญชีปลอมนั้นแล้วก็ตาม แต่โชคดีที่ล่วงรู้ และสามารถสั่งระงับการสั่งจ่ายเงินจำนวนนั้นออกไปจากสาขากรุงลอนดอนได้อย่างทันท่วงที
เมื่อผู้ซื้อ K ได้ดำเนินการโอนเงินจำนวนนั้นกลับให้ไปเข้าสู่บัญชีที่ถูกต้องของผู้ขาย A ปรากฏยอดเงินขาดคงค้างอยู่อีกประมาณ 161,000 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องด้วยเหตุของการเปลี่ยนแปลงสกุลเงิน กล่าวคือ ยอดเงินที่จะต้องชำระทั้งหมดซึ่งเป็นสกุลดอลลาร์นั้นได้ถูกโอนไปเข้าสู่บัญชีปลอมของคนร้ายที่ประเทศอังกฤษเบื้องต้นแล้ว พอตรวจเจอความผิดปกติ และแก้ไขด้วยการโอนยอดเงินนั้นไปสู่บัญชีที่ถูกต้อง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จำต้องนำยอดเงินนั้นที่อยู่ประเทศอังกฤษไปแปลงค่าเงินจากสกุลเงินปอนด์กลับไปเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเสียก่อนเป็นรอบที่สอง
ทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นมาว่า จำนวนเงินที่ขาดหายจากการแปลงสกุลเงินดังกล่าว ผู้ใดควรจะต้องรับผิดชอบ?
ผู้ซื้อ K หรือเปล่า?
แน่นอน ผู้ซื้อ K ตอบปฏิเสธทันทีว่า ตนได้ทำหน้าที่ชำระยอดเงินที่จะต้องจ่ายอย่างครบถ้วนไปแล้วตามข้อตกลง ทั้งตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนร้ายรายนี้แต่ประการใด
ความโชคร้ายที่บังเกิดแก่ผู้ขาย A เนื่องด้วยจำนวนเงินที่ขาดหายจากการแปลงสกุลเงินดังกล่าว ผู้ขาย A จำต้องรับไปเอง หรืออาจไปเรียกร้องจากคนร้าย หากสามารถติดตามได้
ขณะที่ผู้ขาย A คงยืนกรานให้ผู้ซื้อ K ชำระยอดเงินที่ขาดหายไปให้ครบถ้วนตามภาระผูกพัน หรืออาจไปเรียกร้องจากคนร้าย หากสามารถติดตามได้
ข้อพิพาทนี้ได้ถูกนำสู่คณะอนุญาโตตุลาการขององค์การ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด
คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ว ไม่สามารถค้นหาได้ว่า เหตุแห่งการฉ้อฉลครั้งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ทำให้จำต้องมาพิจารณาถึงภาระผูกพันตามข้อสัญญาฉบับพิพาทเป็นเกณฑ์
ข้อสัญญาฉบับพิพาทระบุให้ผู้ซื้อ K มีหน้าที่ชำระยอดเงินตามที่ตกลงกันเข้าสู่บัญชีธนาคารของผู้ขาย A เมื่อผู้ซื้อ K ทำหน้าที่ชำระยอดเงินนั้นไปบ้างแล้ว แต่เมื่อยังไม่ครบถ้วน ก็จะต้องกระทำการชำระต่อไปให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป
ส่วนข้อโต้แย้งของผู้ซื้อ K ที่ว่า ตนได้ทำการชำระครบถ้วนผ่านทางธนาคารที่ผู้ขาย A กำหนดไว้แล้ว แต่ไม่รับรองว่า ธนาคารนั้นจะดำเนินการต่อไปจนถึงมือของผู้ขาย A เช่นไรต่อไปนั้น
คณะอนุญาโตตุลาการไม่รับฟัง เพราะในแนวทางปฏิบัติของการซื้อขาย เป็นไปไม่ได้ที่จะเพียงกล่าวอ้างว่า ได้สั่งจ่ายเงินถูกต้องแก่ธนาคารที่กำหนดแล้ว โดยปราศจากการตรวจทานถึงรายละเอียดบัญชีที่ถูกต้องกับตัวผู้รับชำระเงินที่ชัดเจนอีกชั้นหนึ่ง
ฉะนั้น การสั่งจ่ายยอดเงินโดยผิดเลขบัญชี จึงไม่ถือว่า ผู้ซื้อ K ได้กระทำหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว
วินิจฉัยให้ผู้ซื้อ K ชำระยอดเงินที่คงค้างนั้นให้แก่ผู้ขาย A จนครบถ้วนต่อไป
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากบทความ The Impact of Cybercrime on Sale of Goods Dispute โดย nicholas.wasler@gateleyplc.com)
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น