วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 188 : การประกันภัยซ้ำซ้อนระหว่างการประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) กับการประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O))???

 

(ตอนที่สอง)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศที่จะถูกยกขึ้นมาเป็นแนวทางเปรียบเทียบมีอยู่สองคดีด้วยกัน โดยเป็นกรณีของสถาบันทางการเงินทั้งคู่

 

คดีแรก

 

กลางปี ค.ศ. 1999 กลุ่มลงทุนแห่งหนึ่งได้ถูกก่อตั้งขึ้นมา เพื่อลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งจะให้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร โดยมีบริษัทจัดการกองทุน (Fund Management Company) รายหนึ่ง (ต่อไปนี้ขอเรียกชื่อย่อว่า FMC) เป็นผู้จัดการบริหารดูแลอยู่ อันประกอบด้วยผู้บริหารสูงสุดกับคณะกรรมการรวมทั้งสิ้นเจ็ดคน

 

กลางปี ค.ศ. 2001 ทรัสตี (Trustee) ซึ่งทำหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์แก่นักลงทุนได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาตามหนังสือก่อตั้งทรัสต์ (Trust Deed) (ต่อไปนี้ขอเรียกชื่อย่อว่า TEL) และได้ว่าจ้างให้บริษัท FMC เข้าบริหารจัดการแทน โดยมีข้อกำหนดระบุให้บริษัท FMC มีหน้าที่นำส่งหนังสือรับรองการให้สินเชื่อ (Certificates) เป็นรายไตรมาส ลงนามโดยกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันสองราย มอบให้แก่ TEL เพื่อยืนยันว่า การให้สินเชื่อดังกล่าวทุกรายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการประกอบธุรกิจทุกประการ

 

กลางปี ค.ศ. 2008 กองทุนดังกล่าวประสบปัญหาทางการเงิน และท้ายที่สุดก็ตกอยู่ในสภาวะล้มละลายในต้นปีถัดมา

 

TEL จึงยื่นฟ้องเรียกร้องให้บริษัท FMC รวมทั้งผู้บริหารกับคณะกรรมการเข้ามารับผิดชอบในความสูญเสียทางการเงินที่บังเกิดขึ้น โทษฐานมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงตามหนังสือก่อตั้งทรัสต์ ประกอบกับข้อสัญญาอื่นที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าจ้างอีกด้วย

 

โชคดีที่บริษัท FMC ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O)) กับ

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance (PI)) เผื่อเอาไว้แล้วกับบริษัทประกันภัยเจ้าหนึ่ง ซึ่งทั้งสองฉบับนั้นได้มีข้อยกเว้นจำแนกข้อแตกต่างระหว่างกัน ดังพอสรุปได้ต่อไปนี้

 

1) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร

 

ซึ่งคุ้มครองความรับผิดอันเนื่องจากการกระทำผิดต่าง ๆ (wrongful acts) ของผู้ได้รับความคุ้มครอง

 

แต่ทั้งนี้ ไม่คุ้มครองถึง คำกล่าวหาอันเกิดขึ้นเนื่องมาจาก หรือมีมูลมาจาก หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท หรือการปฏิบัติงานในการให้บริการทางวิชาชีพของผู้ได้รับความคุ้มครองแก่บุคคลอื่นใด โดยมีค่าตอบแทน (fee) หรือตลอดจนถึงการการกระทำ ความผิดพลาด หรือการละเว้นการกระทำอื่นใดอันเกี่ยวข้องทั้งหลาย

 

วงเงินความรับผิดสูงสุดสองล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ

   

ซึ่งคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการประกอบวิชาชีพของผู้ได้รับความคุ้มครอง

 

แต่ทั้งนี้ ไม่คุ้มครองถึงความรับผิดใด อันเนื่องมาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อผู้ได้รับความคุ้มครองในสถานะเป็นกรรมการ (as a director) เจ้าหน้าที่บริหาร หรือผู้บริหารอื่นที่เทียบเท่ากัน

 

วงเงินความรับผิดสูงสุดหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ผู้เอาประกันภัย หรือผู้ได้รับความคุ้มครองมองว่า ตนควรได้รับความคุ้มครองจากทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัย เนื่องจากเข้าข่ายทั้งคู่

 

แต่บริษัทประกันภัยเจ้านั้นกลับเห็นว่า ควรตกอยู่ในความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพเพียงฉบับเดียว ด้วยเหตุผลว่า

 

การออกหนังสือรับรองการให้สินเชื่อจัดเป็นหน้าที่ของการให้บริการทางวิชาชีพตามที่ตกลงกันไว้ ประกอบกับในการปฏิบัติงานของผู้เอาประกันภัย หรือผู้ได้รับความคุ้มครองล้วนเป็นการกระทำโดยมีค่าตอบแทน (fee) ทั้งสิ้น

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยเจ้านั้นในฐานะจำเลยแห่งคดี

 

ผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์อุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารเข้ามารับผิดชอบแทน เนื่องด้วย

 

ก) ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพได้เขียนชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่คุ้มครองถึงการกระทำในสถานะเป็นกรรมการ

 

ข) ถ้าจะให้การกระทำของกรรมการเช่นว่านั้นเป็นเสมือนหนึ่งการให้บริการทางวิชาชีพด้วยแล้ว ยิ่งจะก่อให้เกิดความกำกวมในการตีความหมายระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ

 

ตามหลักกฎหมายแล้ว ถ้อยคำใดที่ไม่ชัดเจน ให้ยกผลประโยชน์ตกแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ไม่มีส่วนร่างข้อสัญญานั้นเอง

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Fund Managers Canterbury Limited v AIG Insurance New Zealand Limited (2017) NZCA 325)

 

ยังไม่ขอสรุปนะครับ จนกว่าจะได้อ่านคดีที่สองก่อนครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น