วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 188 : การประกันภัยซ้ำซ้อนระหว่างการประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) กับการประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O))???

 

(ตอนที่สาม)

 

ต่อไปนี้ เรามาดูตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศกรณีของสถาบันทางการเงินเรื่องที่สองกันครับ

 

คดีที่สอง

 

ปี ค.ศ. 2015 บริษัทผู้ประกอบกิจการผลิตนมยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการปรับโครงสร้างเงินทุนขนานใหญ่ ด้วยการก่อตั้งกองทรัสต์ของตน (ซึ่งต่อไปเรียกว่า MGUT) ขึ้นมา เพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนภายนอก พร้อมกับได้จัดตั้งบริษัทในเครืออีกรายหนึ่งให้เป็นทรัสตี (Trustee) ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ (ซึ่งต่อไปเรียกว่า MGRE)

 

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 แรกเริ่มการเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นการดำเนินการนอกตลาดแก่สมาชิกโดยเฉพาะเจาะจงไปก่อน

 

ณ วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 ภายหลังจากเมื่อได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์แล้ว จึงได้เสนอขายแก่สาธารณชนทั่วไป

 

ณ วันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O)) หนึ่งฉบับผ่านทางนายหน้าประกันวินาศภัยให้แก่กลุ่มบริษัทเหล่านี้ โดยระบุวันที่คุ้มครองย้อนหลัง (retroactive date) เป็นวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 เพื่อให้ตรงกับวันที่ได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์ (date of listing) นั้นเอง

 

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารฉบับดังกล่าวได้มีการขยายความคุ้มครอง ข้อ ค (Side C Coverage) ซึ่งให้ความคุ้มครองถึงความรับผิดอันเนื่องมาจากหลักทรัพย์ของบริษัทผู้เอาประกันภัย (Entity Securities Coverage) เองด้วย

 

ต่อมาได้มีนักลงทุนสองกลุ่มได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เรียกร้องให้กลุ่มบริษัทผู้เอาประกันภัยเหล่านี้รับผิดชอบ โทษฐานความผิดว่าด้วยการแถลงข้อความอันเป็นเท็จ และการไม่เปิดเผยข้อความจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับถ้อยแถลงการณ์เปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Product Disclosure Statement (PDS)) ตามกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับควบคุมตลาดหลักทรัพย์ของรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ (Continuous Disclosure Obligations)

 

แม้เรื่องคดีความของส่วนกลุ่มนักลงทุนจะจบลงด้วยการประนีประนอมยอมความไปแล้ว

 

แต่ในส่วนของความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารกลับถูกปฏิเสธความรับผิดจากบริษัทประกันภัยเจ้านั้น ทำให้บังเกิดเป็นคดีความระหว่างกลุ่มบริษัทผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเจ้านั้นขึ้นมาอีกคดีหนึ่ง

 

ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์ข้อโต้แย้งของบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลย ในสองประเด็นดังนี้

 

1) หน่วยลงทุน (Units) ไม่ถือเป็นหลักทรัพย์ (Securities) ใช่หรือไม่?

 

บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ในข้อตกลงคุ้มครอง ข้อ ค (Side C Coverage) เขียนว่า จะชดใช้ความเสียหาย อันเนื่องมาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับหลักทรัพย์ (Securities Claim) ใด ๆ โดยให้คำจำกัดความของหลักทรัพย์กำกับไว้ด้วย หมายความถึง

 

หลักทรัพย์ใด ๆ ซึ่งแสดงถึงส่วนของหนี้สิน (debt) หรือส่วนของผู้ถือหุ้น (equity interest) ที่มีอยู่ในบริษัทที่คุ้มครองรายใด

 

แต่กรณีนี้ หน่วยลงทุนไม่ใช่หลักทรัพย์ตามคำจำกัดความข้างต้นแต่ประการใด

 

ประเด็นนี้ ศาลชั้นต้นไม่คล้อยตาม โดยเห็นว่า หน่วยลงทุนดังกล่าวก็คือส่วนของผู้ถือหุ้นตามความหมายปกติทั่วไปที่ได้เขียนไว้นั่นแหละ อีกทั้งในคำจำกัดความของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทยังอ้างถึง “กองทรัสต์ (Trust)” ว่าอยู่ในความหมายของ “บริษัทที่คุ้มครอง” อีกด้วย ฉะนั้น การฟ้องคดีแบบกลุ่มดังอ้างอิงล้วนตกอยู่ภายใต้คำจำกัดความของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้นเอง

 

อนึ่ง ศาลชั้นต้นยังได้นำข้อมูลการติดต่อระหว่างนายหน้าประกันวินาศภัยในฐานะตัวแทนของกลุ่มบริษัทผู้เอาประกันภัยฝ่ายโจทก์กับบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยมาประกอบการพิจารณาเสริมเพิ่มเติม เพื่อค้นหาเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการทำประกันภัยนี้ ตรงจุดที่ได้มีการตกลงให้ระบุวันที่คุ้มครองย้อนหลังตรงกับวันที่ได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์นั้น ซึ่งทำให้บังเกิดการชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มสูงขึ้น เพื่อสะท้อนถึงการขยายความคุ้มครองไปถึงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น ยิ่งทำให้มีเหตุผลสนับสนุนถึงข้อสงสัยว่า ได้มีการขยายความคุ้มครองถึงประเด็นเรื่องหลักทรัพย์ด้วยจริงหรือเปล่า?

 

น้ำหนักพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์จึงมีความเชื่อถือมากกว่า

 

2) กรณีจะตกอยู่ในกลุ่มข้อยกเว้นว่าด้วยการให้บริการทางวิชาชีพ (Professional Services Exclusions) ใช่หรือไม่?

 

ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องกับข้อโต้แย้งประเด็นนี้ของบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลย เนื่องด้วย

 

(1) การให้บริการของทรัสตี MGRE ไม่ได้มีการให้บริการลักษณะทางวิชาชีพทั่วไป ทั้งบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยก็มิได้ขยายความถึงคำว่า “วิชาชีพ” มาประกอบให้เห็นภาพอย่างชัดเจนด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมิใช่เป็นการให้บริการแก่บุคคลภายนอกแต่ประการใด เพราะเป็นเพียงการให้บริการแก่กลุ่มบริษัทเดียวกันเอง ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมอยู่ในที่นี้เช่นกัน

 

(2) ข้อยกเว้นซึ่งเขียนไม่คุ้มครองกรณีใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจาก มีมูลฐานมาจาก มีส่วนมาจากการเสนอขายซึ่งได้ถูกกระทำขึ้นมาตามถ้อยแถลงการณ์เปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์กับหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน

 

ควรแยกแยะออกเป็นสองกรณี ดังนี้

 

กรณีแรก

 

การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการฟ้องคดีแบบกลุ่มดังกล่าวเป็นกรณีของหน่วยลงทุนซึ่งได้มาตามถ้อยแถลงนั้น ก่อนหน้าวันที่ได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์นั้นถึงจะตกอยู่ในข้อยกเว้นดังอ้างอิง ทั้งยังได้บังเกิดก่อนหน้าวันที่คุ้มครองย้อนหลังอีกด้วย

 

กรณีที่สอง

 

ส่วนกรณีนี้เป็นภายหลังวันที่ได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์นั้นแล้ว เมื่อข้อยกเว้นนี้มิได้จำแนกระหว่างการซื้อขายในตลาดแรก (Primary Market) กับตลาดรอง (Secondary Market) ออกมาอย่างชัดเจน จึงตีความได้ว่า ข้อยกเว้นนี้มีจุดมุ่งหมายไม่คุ้มครองถึงการซื้อขายนอกตลาด (off-market) เสียมากกว่า

ฉะนั้น การซื้อขายในตลาดทั้งในตลาดแรกกับตลาดรองที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาความคุ้มครองดังกล่าว บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยจำต้องรับผิด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Murray Goulburn Co-operative Co Limited v AIG Australia Limited (2021) FCA 288)  

 

ข้อสังเกต

 

คดีอ้างอิงที่สอง ขณะที่เขียนไม่มีข้อมูลว่า คู่ความนี้จะมีการยื่นอุทธรณ์หรือเปล่านะครับ

 

แต่ที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงเทียบเคียงสองคดี เพื่อตั้งข้อสังเกตการแปลความหมายของคำว่า “การให้บริการวิชาชีพ” ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครอง หรือข้อยกเว้นก็ตาม ยังมีความผันแปร หาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้จากแนวคำพิพากษาที่กล่าวอ้าง หรือแนวคดีอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน เอาไว้คราวหน้า จะหยิบยกตัวอย่างของวิชาชีพอื่นมาให้เห็นภาพด้วย

 

ส่วนการจำแนกข้อแตกต่างระหว่างความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O)) กับ

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance (PI)) ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ต่อไปนะครับ

 

ข้อนำแนะแก่ผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ ให้ลองสอบถามความชัดเจนจนพึงพอใจเสียก่อนจะตกลงซื้อก็แล้วกันนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น