เรื่องที่ 192 : ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?
(ตอนที่สี่)
บางท่านอาจติดใจสงสัย ทำไมหยิบยกตัวอย่างคดีศึกษาเก่าจัง? ไม่มีของใหม่บ้างเลยหรือ?
อันที่จริง คดีแนวนี้มีมาตลอดตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน และอาศัยการอ้างอิงแนวคดีต้นแบบทั้งสองอยู่บ่อยครั้งกระทั่งในทุกวันนี้
ตอนนี้ เรามาพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษายุคปัจจุบันกันบ้าง ซึ่งมาจากประเทศแคนาดาที่รับองค์ความรู้หลากหลายจากทั้งสองฝากฝั่งโลกประกันภัย
ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องที่สาม
สามีภรรยาคู่หนึ่งได้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาห้าปีร่วมกันหนึ่งฉบับกลางปี ค.ศ. 1980 โดยกำหนดทุนประกันชีวิตไว้ที่ 200,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือประมาณห้าล้านกว่าบาท) ระบุผู้รับประโยชน์เป็นคู่สมรสผู้คงยังมีชีวิตอยู่ และมีเบี้ยประกันชีวิตคงที่ต้องชำระทุกปี ๆ ละ 712 ดอลลาร์แคนาดา (หรือประมาณหมื่นแปดพันกว่าบาท) นอกจากนี้ ยังมีการขยายความคุ้มครองสองเท่าเพิ่มเติมในส่วนของอุบัติเหตุอีกด้วย
ถัดมาอีกสองปีกับสองเดือน สามีฆ่าภรรยาตาย ต่อมาพบว่า ภรรยานั้นได้ทำพินัยกรรมระบุให้สามีเป็นผู้จัดการมรดก และเป็นผู้รับประโยชน์ลำดับแรก (prime beneficiary) ในกองมรดกของตนเอง เวลาเมื่อตนได้เสียชีวิตลงแล้ว พร้อมกับยังได้กำหนดผู้จัดการมรดกทางเลือก (alternate executor) เพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นลำดับที่สอง
สามีรายนี้ได้ยื่นเรียกร้องเงินผลประโยชน์ทั้งในส่วนความคุ้มครองของการประกันชีวิต และการประกันภัยอุบัติเหตุต่อบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้น มิใช่ในฐานะส่วนตัว แต่เป็นในฐานะของผู้จัดการมรดกตามพินัยของภรรยาผู้เสียชีวิต ครั้นเมื่อสามีรายนี้ต้องคำพิพากษาลงโทษฐานฆาตกรรมภรรยาของตน สิทธิในการเรียกร้องดังกล่าวจึงถูกโอนมายังผู้จัดการมรดกทางเลือก
คดีนี้ได้ถูกนำขึ้นสู่ศาล โดยมีคู่ความ คือ บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นกับผู้จัดการมรดกทางเลือก ซึ่งมีประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาหลัก ๆ อยู่สองประเด็น กล่าวคือ
1) กรมธรรม์ประกันชีวิตซึ่งประกอบด้วยผู้เอาประกันชีวิตสองคนร่วมกัน โดยระบุให้ผู้เอาประกันชีวิตอีกรายที่คงรอดชีวิตอยู่เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับนั้น หากสามี (ผู้เอาประกันชีวิตร่วมฝ่ายหนึ่ง) ฆ่าภรรยา (ผู้เอาประกันชีวิตร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง) ตาย จะส่งผลทำให้บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นปฏิเสธความรับผิดได้หรือไม่?
2) ถ้าไม่ได้ และจำต้องชดใช้ แล้วผลประโยชน์ความคุ้มครองสองเท่า ในส่วนอุบัติเหตุคงยังใช้บังคับแก่การฆาตกรรมนี้ได้หรือเปล่า?
ศาลชั้นต้นตัดสินว่า
1) บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นไม่สามารถหยิบยกหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาใช้ปฏิเสธความรับผิดได้ เนื่องด้วยตัวภรรยาผู้เสียชีวิตเองเป็นผู้เอาประกันชีวิตร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น ตัวภรรยาผู้เสียชีวิตเอง (หรือผู้จัดการมรดก) จึงถือว่า มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาท
2) ตามหลักการทั่วไป สำหรับการฆาตกรรมจะพิจารณาจากมุมมองของผู้ถูกฆาตกรรมเป็นสำคัญว่า ตนไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ตนเองต้องเสียชีวิต กรณีจึงจัดเป็นอุบัติเหตุอันจะได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นเดียวกัน
ครั้นเมื่อคดีถูกนำขึ้นสู่ศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแจกแจงในรายละเอียด ดังนี้
ก) การตีความกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาท
ข้อยกเว้นในส่วนความคุ้มครองประกันชีวิตระบุเพียงไม่คุ้มครองการฆ่าตัวตายของผู้เอาประกันชีวิต (ไม่ว่าโดยมีสติ หรือขาดสติก็ตาม) หากเกิดขึ้นในช่วงเวลาสองปีนับแต่วันที่เริ่มคุ้มครอง หรือวันที่ต่ออายุ แล้วแต่กรณี โดยบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นจะจ่ายเบี้ยประกันชีวิตที่ได้ชำระไปแล้วกลับคืนมาให้
โดยไม่ได้เอ่ยถึงการฆาตกรรมระหว่างผู้เอาประกันชีวิตด้วยกันเลย
ขณะที่ส่วนความคุ้มครองสองเท่าเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่คุ้มครองรวมถึง
…………….
(ข) การกระทำ การพยายามกระทำ หรือการยั่วยุให้มีการทำร้ายร่างกาย หรือความผิดทางอาชญากรรม
(ค) การแข็งข้อ ภัยสงคราม หรือการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ทุกชนิด หรือทุกการกระทำ ไม่ว่าผู้เอาประกันชีวิตจะเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ก็ตาม
(ง) การเข้าร่วมในการจลาจล หรือการก่อความไม่สงบของประชาชน
เมื่อพิจารณาจากมุมมองของผู้เอาประกันชีวิตทั้งสองคน การซื้อประกันชีวิตเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องจากไประหว่างระยะเวลาประกันภัย โดยยินยอมชำระเบี้ยประกันชีวิตตามที่กำหนดให้เป็นประจำทุกปี
ส่วนมุมมองของบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้น ตนได้รับชำระเบี้ยประกันชีวิตเป็นการต่างตอบแทน สำหรับความคุ้มครองดังกล่าว ซึ่งเบี้ยประกันชีวิตจำนวนนั้นได้ถูกคำนวณตามสถิติอัตราการเสียชีวิตไว้ล่วงหน้า โดยประเมินจากทุกสาเหตุการตายที่ให้ความคุ้มครอง ซึ่งรวมถึงการฆาตกรรมระหว่างผู้เอาประกันชีวิตด้วยกันเอง เพราะมิได้ถูกยกเว้นไว้ โดยนักคณิตศาสตร์ประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นเอง
อนึ่ง เป็นที่เห็นอย่างชัดเจนว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทมีความไม่ชัดเจน เพราะมิได้เขียนถึงกรณีการฆาตกรรมระหว่างผู้เอาประกันชีวิตด้วยกันเลย ทั้งที่บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นเป็นผู้ร่างกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทขึ้นมาเองแต่ฝ่ายเดียว โดยฝ่ายผู้เอาประกันชีวิตจำต้องยอมรับตามนั้นอย่างไม่มีทางเลือกเป็นอื่น ฉะนั้น ตามหลักการตีความจึงต้องยกประโยชน์แห่งความไม่ชัดเจนนั้นให้แก่ฝ่ายผู้เอาประกันชีวิต
นอกจากนี้ ไม่ว่าจะพิจารณาจากความประสงค์ หรือความมุ่งหวังอันสมควร ในการทำประกันชีวิตนี้ของฝ่ายผู้เอาประกันชีวิต ผลลัพธ์ก็คงไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ หากผู้เอาประกันชีวิตร่วมฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงตามความคุ้มครอง ในที่นี้ คือ ภรรยา บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นมีหน้าที่จะต้องชดใช้เงินผลประโยชน์ตามข้อตกลง ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง ในที่นี้ คือ สามี โดยยังไม่นำหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาพิจารณาประกอบ
อย่างไรก็ดี แม้จะหยิบยกหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาพิจารณาก็ตาม มิได้หมายความว่า จะให้บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นใช้อาศัยเป็นข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำหน้าที่ต่างตอบแทนของตนตามข้อตกลงของสัญญาประกันชีวิตฉบับพิพาทได้
บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นคงยังมีหน้าที่ต้องชดใช้อยู่เช่นเดิมแก่กองมรดก เนื่องด้วยตัวสามีผู้กระทำผิดได้ถูกเพิกถอนสิทธิที่จะได้รับชดใช้โดยหลักกฎหมายดังกล่าว นี่จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามความประสงค์ที่แท้จริงของคู่สัญญาประกันชีวิต
ข) แล้วใครคือผู้ควรมีสิทธิในการได้รับการชดใช้?
เมื่อตัวสามีผู้กระทำผิดได้ถูกเพิกถอนสิทธิที่จะได้รับชดใช้ แล้วกองมรดกของฝ่ายใดควรมีสิทธิได้รับชดใช้ระหว่าง
(1) กองมรดกของฝ่ายสามีผู้กระทำผิด/ผู้รับประโยชน์ที่คงมีชีวิตอยู่ หรือ
(2) กองมรดกของฝ่ายภรรยาผู้เสียชีวิตลง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สิทธิในการได้รับการชดใช้ควรตกแก่กองมรดกของฝ่ายภรรยาผู้เสียชีวิต
ค) ส่วนความคุ้มครองสองเท่าเนื่องจากอุบัติเหตุจะได้รับการชดใช้ด้วยหรือไม่?
ลำดับแรกที่จำต้องพิจารณา การเสียชีวิตของตัวภรรยาผู้เอาประกันชีวิตร่วมถือเป็นอุบัติเหตุตามเจตนารมณ์ของส่วนความคุ้มครองนี้หรือไม่?
ส่วนความคุ้มครองนี้เขียนว่า จะชดใช้ผลประโยชน์การเสียชีวิตของผู้เอาประกันชีวิต โดยอุบัติเหตุจากปัจจัยภายนอก (accidental means) อย่างรุนแรง และอย่างไม่เจตนา หรืออย่างไม่ได้มุ่งหวังของผู้เอาประกันชีวิต ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยตรง และโดยอิสระจากสาเหตุอื่นทั้งหลาย
การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยอ้างอิงถึงการตีความโดยอาศัยมุมมองของผู้ถูกฆาตกรรมตามแนวทางของคำพิพากษาอื่น ๆ เป็นเกณฑ์นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องด้วยกรณีตามแนวทางเช่นว่านั้น เกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น แต่ในคดีนี้ เป็นการฆาตกรรมผู้เอาประกันชีวิตร่วมฝ่ายหนึ่งด้วยเจตนาของผู้เอาประกันชีวิตร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง จึงไม่อาจเรียกว่า เป็นอุบัติเหตุตามเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ดังกล่าวได้ บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ส่วนความคุ้มครองนี้ให้แต่ประการใด
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Brissette Estate v. Westbury Life Insurance Co.,; Brissette Estate v. Crown Life Insurance Co., 1992 CanL II 32 (SCC), (1992) 3 S.C.R. 87)
ตอนหน้าจะเป็นแนวเทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาไทยกับบทสรุปเรื่องนี้
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น