วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 193 : ป้ายทะเบียนรถมีปัญหา?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ถ้ามีคำถามว่า รถคันที่ทำประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ประเภทหนึ่งเสียหายจากลมพายุ จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

เชื่อว่า ร้อยทั้งร้อยคน จะตอบด้วยความมั่นใจว่า คุ้มครอง เพราะอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาตินั้นไม่ได้ถูกเขียนยกเว้นเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับดังกล่าว

 

คงต้องขอบอกว่า อย่าเพิ่งมั่นใจถึงขนาดนั้นเลย

 

คุณจะเชื่อไหมครับ ถ้าผมจะบอกว่า ป้ายทะเบียนรถอาจส่งผลทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองได้?

 

มันเป็นไปได้อย่างไร? หลายท่านอาจจะนึกฉงนใจ?

 

งั้นเรามาลองติดตามตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศเรื่องนี้กัน

 

ก่อนอื่น เราควรมาทำความเข้าใจถึงความสำคัญของป้ายทะเบียนรถกันนะครับ

 

ตามหลักกฎหมายสากลจะมีการควบคุมรถที่นำออกไปวิ่งบนท้องถนน ด้วยการบังคับให้รถทุกคันจะต้องจดทะเบียนพร้อมกับปิดแผ่นป้ายทะเบียนให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย

 

เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ของบ้านเราซึ่งได้บัญญัติไว้ใน

มาตรา 6 ว่า

 

ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถ ดังต่อไปนี้

 

(1) รถที่ยังมิได้จดทะเบียน

(2) รถที่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน

(3) รถที่ยังมิได้เสียภาษีประจำปี

(4) รถที่แจ้งการไม่ใช้รถ

(5) รถที่ทะเบียนระงับ

 

เวลาผู้ใดซื้อรถยนต์คันใหม่ แน่นอนว่า จะยังไม่สามารถขอรับแผ่นป้ายทะเบียนตัวจริงได้ทันที จำต้องรอระยะเวลาช่วงหนึ่ง ฉะนั้น เพื่อปกป้องการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถคันใหม่นั้นเอง กรมการขนส่งทางบกจึงได้อนุโลมให้มีการออกป้ายทะเบียนชั่วคราว ซึ่งจะรู้จักทั่วไปในชื่อ “ป้ายแดง (Red Plate)” หรือภาษากฎหมายเรียกว่า “เครื่องหมายพิเศษที่มีไว้เพื่อขาย (Dealer’s Plate)” มอบให้ผ่านทางตัวแทนจำหน่ายรถ เพื่อส่งต่อให้แก่ผู้ซื้อรถใหม่ไปติดใช้งานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่รับรถคันนั้น โดยมีข้อจำกัดเพิ่มเติมเรื่องข้อห้ามมิให้ใช้รถในเวลากลางคืนกับข้อห้ามมิให้ใช้ข้ามจังหวัดกำกับไว้อยู่ด้วยตามความในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ประกอบกับระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.  2562 หมวดที่ 9 การออกใบอนุญาตขับรถยนต์ หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม พร้อมทั้งการออกเครื่องหมายพิเศษ และสมุดคู่มือประจำรถใช้กับเครื่องหมายพิเศษ

 

เรื่องราวของตัวอย่างคดีศึกษานี้ก็เป็นประเด็นเกี่ยวกับป้ายแดง หรือป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขาย สำหรับตัวแทนจำหน่าย (Dealer’s Plate) ซึ่งถูกติดอยู่กับรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย ณ เวลาถูกลมพายุพัดจนพังเสียหายโดยสิ้นเชิง โดยบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบอีกว่า ผู้ใช้รถคันที่เกิดเหตุ (ผู้ใช้รถรายที่ 1) ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ต่อมาประมาณกลางปี ค.ศ. 2017 ได้มีญาติ (ผู้ใช้รถรายที่ 2) มาซื้อรถบรรทุกคันดังกล่าว โดยมีการลงบันทึกการซื้อขายเอาไว้เป็นหลักฐาน แต่ก็มิได้บังเกิดการซื้อขายอย่างแท้จริงขึ้นมา เพราะรถบรรทุกคันนั้นยังคงอยู่ในการครอบครองของทั้งคู่ต่างสลับกันใช้งานขับขี่รถบรรทุกคันนั้น

 

ครั้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 2018 ผู้ใช้รถรายที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกคันนั้นไปที่ฟาร์มของผู้ใช้รถรายที่ 2 เพื่อร่วมงานสังสรรค์ระหว่างญาติพี่น้อง

 

โชคร้าย วันนั้นได้เกิดพายุทอร์นาโดพัดผ่านมาสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวาง รวมถึงความเสียหายโดยสิ้นเชิงแก่รถบรรทุกคันนั้นด้วย

 

ผู้ใช้รถรายที่ 1 ซึ่งได้เอาประกันภัยรถยนต์คันนั้นอยู่ จึงไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนมารับผิดชอบ แต่กลับได้รับการปฏิเสธ โดยอ้างว่า รถบรรทุกคันที่เสียหายนั้นยังคงติดป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขาย สำหรับตัวแทนจำหน่ายอยู่เลย

 

ผู้ใช้รถทั้งสองรายจึงเป็นโจทก์นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยมีประเด็นข้อพิพาทสองประเด็น กล่าวคือ

 

1) ป้ายทะเบียนรถได้ถูกติดอย่างถูกต้อง อันจะส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจำเลยควรให้ความคุ้มครองหรือไม่?

 

2) ถ้าจะคุ้มครอง ควรคุ้มครองเป็นจำนวนเงินเท่าใด?

 

ตอนหน้า เรามาพิจารณาดูผลทางคดีของเรื่องนี้กันนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น