เรื่องที่ 193 : ป้ายทะเบียนรถมีปัญหา?
(ตอนที่สอง)
ตามหลักกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีผลใช้บังคับเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทเรื่องนี้บัญญัติว่า รถที่นำมาใช้บนท้องถนนจะต้องจดทะเบียน และติดแผ่นป้ายทะเบียนให้ถูกต้องตามประเภท และเฉพาะกับรถคันนั้นเท่านั้น ขณะที่ป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขาย สำหรับตัวแทนจำหน่าย (หรือบ้านเรารู้จักในชื่อป้ายแดง) สามารถนำไปติดกับรถจำพวกเช่นว่านั้นหลายคันก็ได้ เช่นเดียวกับเรื่องการจัดทำประกันภัยก็จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามประเภท และตามทะเบียนของรถเหล่านั้นด้วยถึงจะได้รับความคุ้มครอง
อนึ่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า “ห้ามมิให้บุคคลติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขาย สำหรับตัวแทนจำหน่าย (Dealer’s Plate) กับรถยนต์คันใด นอกเหนือจากเป็นรถยนต์คันที่
(ก) เพื่อรอการขายโดยตัวแทนจำหน่าย หรือ
(ข) ใช้เพื่อส่งเสริมการขายโดยตัวแทนจำหน่าย หรือ
(ค) อยู่ในการดูแลรักษา และการควบคุมของตัวแทนจำหน่าย เพื่อทำการทดสอบ หรือการให้บริการ หรือเพื่อนำรถยนต์คันนั้นจากที่แห่งหนึ่งไปสู่ที่อีกแห่งหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์เกี่ยวข้องกับการทดสอบ หรือการให้บริการนั้นเอง”
หากโจทก์สามารถพิสูจน์ให้ศาลรับฟังได้ตามหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อดังกล่าว จะถือได้ว่า รถยนต์คันนั้นได้ทำประกันภัยไว้อย่างถูกต้องอันจะส่งผลทำให้มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง
ฉะนั้น ประเด็นแรก ป้ายทะเบียนรถได้ถูกติดอย่างถูกต้อง อันจะส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจำเลยควรให้ความคุ้มครองหรือไม่?
ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว มีความเห็น ดังนี้
(ก) เป็นรถยนต์คันที่รอการขายโดยตัวแทนจำหน่ายหรือเปล่า?
อันที่จริงแล้ว ผู้ใช้รถทั้งสองรายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น มีความสัมพันธ์เป็นสามีภรรยากัน โดยสามีเป็นตัวแทนจำหน่ายรถ (โจทก์ที่ 1) และได้ขายต่อให้ภรรยา (โจทก์ที่ 2) แต่ภายหลังได้มีการเปลี่ยนใจ ภรรยาจึงได้นำฝากให้สามีช่วยขายให้อีกทอดหนึ่ง ในลักษณะการขายฝาก
ณ วันที่เกิดเหตุ สามีได้ขับรถคันดังกล่าวพาภรรยากับลูกไปยังฟาร์มที่เกิดเหตุ เพื่อร่วมงานสังสรรค์ระหว่างญาติพี่น้อง ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมงครึ่ง และสุดท้าย โจทก์ร่วมยอมรับว่า เป็นการใช้รถยนต์คันนั้นด้วยจุดประสงค์ส่วนตัว มิใช่ในฐานะตัวแทนจำหน่าย ถึงแม้นจะมีความตั้งใจที่จะขายรถยนต์คันนั้นออกไปก็ตามก่อนหน้าวันที่เกิดเหตุ
ฉะนั้น แผ่นป้ายทะเบียนชั่วคราว เพื่อรอการขายนั้น จึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ณ วันที่เกิดเหตุ
(ข) ใช้เพื่อส่งเสริมการขายโดยตัวแทนจำหน่ายหรือเปล่า?
ก่อนหน้าวันที่เกิดเหตุ สามีได้รถพ่วงหนึ่งคัน และได้ขับรถบรรทุกคันพิพาทลากรถพ่วงคันนั้นไปจอดทิ้งไว้ที่ฟาร์มที่เกิดเหตุ โดยแจ้งประกาศขายตัวรถพ่วงคันนั้นไว้ทางออนไลน์ด้วย
การที่ขับรถบรรทุกคันพิพาทไปสู่ฟาร์มนั้น ณ วันที่เกิดเหตุ มีอีกจุดประสงค์ก็คือ เพื่อลากรถพ่วงคันนั้นกลับมา เนื่องด้วยมีผู้สนใจจะซื้อ ซึ่งศาลเชื่อ และรับฟังได้ว่า รถบรรทุกคันพิพาทนั้นเข้าหลักเกณฑ์เป็นการใช้งานเพื่อส่งเสริมการขาย แม้นจะเป็นการส่งเสริมการขายรถพ่วง มิใช่การขายรถบรรทุกคันพิพาทก็ตาม เพราะข้อกฎหมายดังกล่าวได้เขียนลอย ๆ ว่า เพื่อส่งเสริมการขาย จึงต้องแปลความหมายอย่างกว้าง ไม่จำกัดเพียงเฉพาะการส่งเสริมการขายของรถยนต์คันที่ติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น
กรณีข้อนี้จึงเป็นการติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ถูกต้องแล้ว ณ วันที่เกิดเหตุ
(ค) อยู่ในการดูแลรักษา และการควบคุมของตัวแทนจำหน่าย เพื่อทำการทดสอบ หรือการให้บริการ หรือเพื่อนำรถยนต์คันนั้นจากที่แห่งหนึ่งไปสู่ที่อีกแห่งหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์เกี่ยวข้องกับการทดสอบ หรือการให้บริการนั้นเองหรือเปล่า?
สามีกล่าวอ้างเพิ่มเติมด้วยว่า ได้ขับรถบรรทุกคันพิพาทไปสู่ฟาร์มนั้น ณ วันที่เกิดเหตุ เพื่อทำการเปลี่ยนลูกหมากคันชัก (tie rod end) ซึ่งชำรุด มิฉะนั้นจะเป็นปัญหาไม่ผ่านการตรวจรับรองความปลอดภัยตามกฎหมาย
คำกล่าวอ้างนี้ไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอ เพราะจะไปซ่อมที่แห่งใดก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาเดินทางนับหลายชั่วโมง เพียงเพื่อจะไปเปลี่ยนอะไหล่นั้น ณ ฟาร์มที่เกิดเหตุ ศาลจึงเชื่อว่า เป็นการขับขี่ไปเพื่อจุดประสงค์ส่วนตัวมากกว่า ด้วยเหตุนี้ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อนี้
ดังนั้น กรณีอุบัติที่เกิดขึ้นของคดีนี้เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวตามกฎหมายเพียงข้อเดียวเท่านั้น คือ เพื่อส่งเสริมการขาย อันส่งผลทำให้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท
ประเด็นที่สอง ถ้าจะคุ้มครอง ควรคุ้มครองเป็นจำนวนเงินเท่าใด?
สามีโจทก์ที่หนึ่ง แรกเริ่มได้ทำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยจำเลยเพียงลำพัง ทั้งที่ตนไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในรถบรรทุกคันพิพาทอีกต่อไปแล้ว มีสถานะเป็นเพียงผู้รับฝากขายเท่านั้น ณ เวลาที่เกิดเหตุ เพราะตนได้ขายไปให้แก่ภรรยาโจทก์ที่สองไปแล้ว แต่ต่อมา ได้มีการระบุชื่อภรรยาเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริงเพิ่มเติมเข้ามา
ฉะนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะมีเพียงภรรยาโจทก์ที่สองเท่านั้น ซึ่งจะได้รับชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง คำนวณออกมาได้ 25,000 ดอลลาร์แคนาดา เมื่อหักค่าเสียหายส่วนแรก 200 ดอลลาร์แคนาดากับค่าซากทรัพย์ 450 ดอลลาร์แคนาดาออกไปแล้ว จะคงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องชดใช้ให้ทั้งสิ้น 24,350 ดอลลาร์แคนาดา
ส่วนค่าเสียหายอื่น ๆ เป็นต้นว่า ค่าสูญเสียกำไรจากการขาย 6,550 ดอลลาร์แคนาดา ค่าสูญเสียรายได้ 32,095 ดอลลาร์แคนาดา และค่าลากรถ 5,140 ดอลลาร์แคนาดานั้น จะไม่ได้รับความคุ้มครอง อีกทั้งความเป็นจริง ค่าเสียหายเหล่านี้เกิดขึ้นแก่ตัวสามีโจทก์ที่หนึ่งมากกว่า
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี William Frank Ralph O/A Motorwerks et al. v. The Manitoba Public Insurance Corporation, 2023 MBKB 116)
ข้อสังเกต
คุณคิดว่า ประเด็นลักษณะเช่นว่านี้ จะมีโอกาสบังเกิดขึ้นที่บ้านเราได้บ้างหรือเปล่าครับ?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น