วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 194 : ผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor) ซึ่งถูกว่าจ้างโดยตรงจากผู้ว่าจ้างเอง ถือเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) ได้หรือไม่?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

เป็นที่รับรู้ และเข้าใจกันโดยหลักการทั่วไป

 

คำว่า “สัญญาว่าจ้าง (Contract Work)” ในที่นี้ จะหมายความถึง สัญญาจ้างทำของระหว่างผู้ว่าจ้าง หรือบางครั้งเรียกว่า “เจ้าของโครงการ (Principal)” กับผู้รับจ้าง หรือบางครั้งเรียกว่า “ผู้รับเหมาหลัก (Contractor or Main Contractor)

 

ส่วนผู้รับเหมาหลักนั้นจะทำงานที่ถูกว่าจ้างมานั้นเองทั้งหมด หรือจะแบ่งงานบางส่วนไปให้แก่ผู้รับเหมารายย่อยอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งจะเรียกว่า “ผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor)” โดยมีสถานะเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของผู้รับเหมาหลักนั่นเอง

 

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความรวมไปถึงผู้รับเหมารายอื่น ๆ ซึ่งผู้ว่าจ้างไปจัดทำสัญญาว่าจ้างงานอื่นอีกต่างหาก และจะต้องไปจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองแยกต่างหากจากกันออกไปอีกด้วย   

 

สัญญาจ้างทำของ ในที่นี้ ก็คือ งานว่าจ้างให้ก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง และ/หรือให้ติดตั้งเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ แล้วแต่กรณี โดยมีจุดประสงค์มุ่งเน้นที่ความสำเร็จของงานที่ถูกว่าจ้างนั้นเป็นสำคัญ โดยผู้รับจ้างจะต้องจัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เพื่อสามารถส่งมอบให้เป็นทรัพย์สินถาวร (permanent work) ของผู้ว่าจ้างต่อไป

 

ในทางปฏิบัติ เวลาจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้ บริษัทประกันภัยจะกำหนดรายการผู้เอาประกันภัยดังต่อไปนี้ลงไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย  

 

ก) ผู้เอาประกันภัยหลักที่ระบุชื่อ (Named Insured)

 

อันประกอบด้วยผู้เอาประกันภัยร่วมสองฝ่าย ได้แก่ ผู้ว่าจ้าง (ฝ่ายหนึ่ง) และ/หรือผู้รับจ้าง หรือในที่นี้ คือ ผู้รับเหมาหลัก (อีกฝ่ายหนึ่ง)

 

ข) ผู้เอาประกันภัยรองที่ไม่ระบุชื่อ (Unnamed Insured)

 

ในที่นี้ คือ ผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาหลัก สาเหตุที่ไม่จำต้องระบุชื่อกำกับไว้ เพราะ ณ เวลาจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยอาจไม่รับทราบได้ว่า ผู้รับเหมาหลักจะไปช่วงงานต่อให้ใครบ้าง?

 

ทั้งหมดถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยร่วมกันได้ อันจะได้รับความคุ้มครองร่วมกันด้วย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกันนี้เอง

 

นั่นคือ สิ่งที่รับรู้ และเข้าใจกันมาตลอด

 

จวบจนกระทั่งได้มีเรื่องมีราวดังต่อไปนี้บังเกิดขึ้น

 

ประมาณเดือนเมษายน ค.ศ. 2016 บ้านหลังหนึ่งของโครงการก่อสร้างหมูบ้าน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการก่อสร้างโดยผู้รับเหมาหลักอยู่ ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้สร้างความเสียหายขึ้นมา เมื่อผู้รับเหมาหลักได้รับการชดใช้ สำหรับความเสียหายดังกล่าวจากบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองแก่โครงการนี้แล้ว บริษัทประกันภัยแห่งนั้นก็ได้รับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่ตนได้จ่ายไปแล้วนั้น กลับคืนจากผู้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ในที่นี้ สืบพบว่า เป็นผู้รับเหมาอีกเจ้าหนึ่งซึ่งถูกว่าจ้างมาโดยตรงแยกต่างหาก เพื่อให้ทำงานทาสีบ้านหลังที่เกิดเหตุ โดยปราศจากความเกี่ยวข้อง หรือมีนิติสัมพันธ์กับผู้รับเหมาหลักรายนี้แต่ประการใด

 

ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาล เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้

 

1) ผู้รับเหมาทาสีบ้านหลังที่เกิดเหตุควรจะได้รับความคุ้มครอง ในฐานะผู้รับเหมาช่วงที่ไม่ระบุชื่อได้หรือไม่?  

 

2) บริษัทประกันภัยแห่งนั้นสามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยแก่ผู้รับเหมาทาสีบ้านหลังที่เกิดเหตุ ในฐานะบุคคลภายนอกผู้กระทำผิดได้หรือไม่?  

ขอฝากเป็นการบ้านทิ้งไว้ และคอยพบคำตอบในปีหน้านะครับ

 

ช่วงเทศกาลแห่งความสุขระยะเวลานี้ เชื่อว่า ทุกท่านล้วนต่างกำลังเฉลิมฉลอง และพักผ่อนให้ความสุขแก่ตนเอง บุคคลในครอบครัว และผู้ที่อยู่รอบตัวอยู่นะครับ

 

ฉะนั้น ผมขอถือโอกาสในวาระช่วงนี้ ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีแต่ความสุข ความเจริญ สุขภาพแข็งแรง และเดินทางด้วยความปลอดภัยกันถ้วนทั่วด้วยนะครับ

 

ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น