วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 194 : ผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor) ซึ่งถูกว่าจ้างโดยตรงจากผู้ว่าจ้างเอง ถือเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) ได้หรือไม่?

 

(ตอนที่สอง)

 

ปีใหม่นี้ เรามาว่ากันต่อนะครับ

 

ขอทบทวนเรื่องราวอีกที

 

ผู้รับเหมาหลักได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโครงการให้ทำการก่อสร้างบ้านหลายหลัง และได้ไปจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) หรืออาจเรียกทั่วไปว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง (Contractor All Risks Insurance Policy (CAR)) โดยระบุให้ผู้รับเหมาหลักกับเจ้าของโครงการเป็นผู้เอาประกันภัยแบบระบุชื่อ นอกจากนี้ยังเขียนเพิ่มเติมอีกว่า และ/หรือผู้รับเหมาช่วงอื่น ๆ ให้ได้รับความคุ้มครองด้วยในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วมแบบไม่ระบุชื่อ

 

โครงการหมู่บ้านนี้มีลักษณะพิเศษ คือ เปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านแต่ละหลังสามารถออกแบบตกแต่งได้ตามใจชอบ

 

เจ้าของบ้านหลังหนึ่งได้ไปว่าจ้างผู้รับเหมาย่อยอีกรายมาทาสีบ้านของตนเอง โดยไม่ได้ผ่านผู้รับเหมาหลัก

 

ระหว่างทำงาน ผู้รับเหมาย่อยรายนี้กระทำผิดพลาดจนเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้บ้านหลังนั้นขึ้นมา

 

เมื่อผู้รับเหมาหลักได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวของตนแล้ว บริษัทประกันภัยแห่งนั้นก็ได้มาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้รับเหมาย่อยรายดังกล่าว เพื่อเรียกเงินที่ตนได้จ่ายไปแล้วคืนตามหลักของกฎหมายว่าด้วยการรับช่วงสิทธิ

 

ผู้รับเหมาย่อยรายดังกล่าวปฏิเสธโดยอ้างว่า ได้รับความคุ้มครองอยู่แล้วในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวในฐานะผู้รับเหมาช่วงเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อ ฉะนั้น บริษัทประกันภัยแห่งนั้นจึงไม่มีสิทธิมาไล่เบี้ยเอากับผู้เอาประกันภัยของตนเองได้

 

บริษัทประกันภัยแห่งนั้นร่วมกับผู้รับเหมาหลักจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยหยิบยกสัญญาว่าจ้างให้ก่อสร้างมากล่าวอ้าง และตอบโต้ว่า เนื่องด้วยข้อสัญญาข้อหนึ่งกำหนดให้ผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาหลัก) มีสิทธิควบคุมการปฏิบัติงานอย่างเบ็ดเสร็จ (complete control of the work)

 

ดังนั้น ในการว่าจ้างผู้รับเหมาช่วง/ผู้รับเหมาย่อยอื่น ๆ จะต้องผ่านการรับรู้ หรือการเห็นชอบจากผู้รับเหมาหลักเสียก่อนถึงจะได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วมที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้ สมดังชื่อของกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกเรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง” สัญญาว่าจ้างกับกรมธรรม์ประกันภัย (สัญญาประกันภัย) จะต้องล้อตามกันไป

 

ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องด้วย ตัดสินให้ฝ่ายผู้รับเหมาย่อยจำเลยชนะคดี

 

ฝ่ายผู้รับเหมาหลักกับบริษัทประกันภัยโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์มีความเห็นดังนี้

 

1) สัญญาว่าจ้างกับกรมธรรม์ประกันภัย (สัญญาประกันภัย) จะต้องล้อตามกันไปจริงไหม?

 

พิจารณาถึงลักษณะกรมธรรม์ประกันภัย (สัญญาประกันภัย) แล้วจะอยู่ในรูปแบบของสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งมีการกำหนดข้อบังคับกับเงื่อนไขต่าง ๆ โดยบริษัทประกันภัยเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเพียงยอมรับตามนั้น หรืออาจจะเจรจาปรับแก้ไขได้บ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

 

ขณะที่สัญญาว่าจ้างไม่เป็นเช่นนั้น สามารถจะปรับเปลี่ยนไปได้ตามลักษณะของงานก่อสร้างที่แตกต่างกันออกไป

 

กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเขียนคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันได้แก่ ทรัพย์สินที่ใช้ในการก่อสร้าง ติดตั้ง หรือก่อสร้างขึ้นมาใหม่ หรือซ่อมแซม ... ซึ่งรวมอยู่ใน และประกอบกันเป็นส่วนหนึ่งของงานโครงการก่อสร้างบ้านนั้นจนเสร็จสมบูรณ์ (the completed project)

 

ครั้นพิจารณาถึงขอบเขตการทำงานของผู้รับเหมาย่อยรายนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นในการทำให้งานโครงการนี้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ได้ เช่นนี้ ผู้รับเหมาย่อยรายนี้ถือเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้

 

นอกจากนี้ ไม่ได้มีข้อความตรงไหนในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวที่เขียนอย่างชัดแจ้งให้ความคุ้มครองเฉพาะเพียงแก่ “ผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาหลักเท่านั้น

 

ข้อความของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจึงให้ความหมายกว้างพอที่จะครอบคลุมถึงผู้รับเหมาย่อยรายนี้ด้วย

 

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทั้งสองสัญญาไม่จำเป็นจะต้องล้อตามกัน ประกอบกับในทางปฏิบัติ บริษัทประกันภัยเองก็ไม่ได้ใส่ใจจะอ่าน หรือนำสัญญาว่าจ้างมาประกอบรวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแต่ประการใด

 

2) ผู้รับเหมาย่อยรายนี้มีส่วนได้เสียในกรมธรรม์ประกันภัย (สัญญาประกันภัย) ฉบับดังกล่าวหรือไม่?

 

ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า คำถามที่ว่า

 

(ก) คู่กรณีเป็นผู้เอาประกันภัยหรือไม่? กับ

 

(ข) คู่กรณีมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยหรือไม่?

 

มีความแตกต่างกัน โดยศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ ดังนี้

 

(ก) คู่กรณีเป็นผู้เอาประกันภัยหรือไม่?

 

ได้ข้อสรุปข้างต้นแล้วตามข้อความของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

 

(ข) คู่กรณีมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยหรือไม่?

 

ส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยจำต้องพิจารณาตามข้อความจริงแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์สำคัญ

 

ในการที่จะทำให้งานโครงการก่อสร้างใดสำเร็จเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ได้นั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการเอง ผู้รับเหมาหลัก ผู้รับเหมาย่อย ตลอดจนบุคคลอื่นผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ล้วนต่างถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะสามารถเอาประกันภัยงานโครงการก่อสร้างนั้นได้ทุกคน เพราะผลสำเร็จของงานโครงการก่อสร้างนั้นจะเกิดขึ้นได้จำต้องอาศัยพึ่งพาผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันนำพาให้ประสบความสำเร็จกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับกรณีนี้ ผู้รับเหมาย่อยรายนี้ถือมีส่วนได้เสียอย่างชัดแจ้ง ในความสำเร็จสมบูรณ์ของงานโครงการก่อสร้างนี้อยู่ด้วย

 

ฉะนั้น ผู้รับเหมาย่อยรายนี้จึงมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยงานโครงการก่อสร้างนี้ได้

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ฝ่ายโจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ฝ่ายจำเลยได้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Duri Homes Ltd v Quest Coating Ltd, 2023 ABCA 276)

 

ข้อสังเกต

 

ดั่งที่เกริ่นไว้ในตอนแรก ในทางปฏิบัติไม่เคยพบเห็นการเขียนผู้เอาประกันภัยรองที่ไม่ระบุชื่อ (Unnamed Insured) อันได้แก่ ผู้รับเหมาช่วง ให้จำกัดความหมายเพียงเฉพาะผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาหลักเท่านั้นเลยนะครับ เพียงแค่แปลความหมายจำกัดไปเองเช่นว่านั้น

 

เชื่อว่า หากเกิดคดีพิพาทขึ้นสู่ศาลไทย ผลทางคดีน่าจะออกมาไม่แตกต่างจากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้นะครับ

 

ส่วนประเด็นเรื่องความเพียงพอของจำนวนเงินเอาประกันภัยหรือไม่นั้น? คงต้องไปแยกพิจารณาต่างหาก

 

ผู้อยู่ในธุรกิจประกันภัยอาจจำต้องเริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่กันได้แล้ว

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น