วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 196 : นกอีแร้งเกาะหลังคา โชคดีหรือร้าย ถ้าร้าย บริษัทประกันภัยจะว่าอย่างไร?

 

เรามักได้ยินว่า ถ้ามีนกแสก หรือนกอีแร้งบินมาเกาะหลังคาบ้านใคร ถือเป็นลางบอกเหตุที่ไม่ดีแก่บ้านหลังนั้น

 

นั่นเป็นเรื่องลางบอกเหตุอัปมงคลตามความเชื่อ

 

แต่ถ้ามีนกอีแร้งมาเกาะบนหลังคาศูนย์การค้าแห่งหนึ่งล่ะ และมิใช่เพียงบินมาเกาะเฉย ๆ แต่มาสร้างความเสียหายแก่หลังคาศูนย์การค้านั้นด้วย

 

ก่อให้เกิดคำถามว่า กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินของศูนย์การค้าแห่งนั้น ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิดจะสามารถให้ความคุ้มครองแก่ความเสียหายที่บังเกิดขึ้นนั้นได้ไหม?

 

คุณคิดเห็นเช่นไรครับ?

 

ประเด็นนี้ได้ก่อให้เกิดข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลในต่างประเทศแล้วครับ

 

มาลองพิจารณาดูด้วยกันนะครับ ผลสรุปของเรื่องนี้จะออกมาเช่นไร?

 

เจ้าของศูนย์การค้าแห่งหนึ่งได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยของตนเป็นจำเลย เรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ของตน อันมีสาเหตุมาจากนกแร้งไก่งวง (turkey vultures) ซึ่งนอกจากมาจิก กัดแทะ ปล่อยมูลแล้ว แต่เนื่องด้วยความที่มีขนาดตัวใหญ่กับมีด้วยกันอยู่หลายตัว แค่บินมาเกาะเฉย ๆ ก็สามารถทำให้สิ่งตกแต่ง อุปกรณ์ หรือระบบท่อ/รางที่ติดตั้งเอาไว้ หักหลุดเลื่อนออกมา และส่งผลทำให้เกิดน้ำรั่วซึมเข้าไปสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายในอาคารนั้นได้อีกด้วย

 

บริษัทประกันภัยจำเลยต่อสู้คดีโดยกล่าวอ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ตกอยู่ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ซึ่งเขียนว่า

 

บริษัทจะไม่ชดใช้ให้ สำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหาย อันมีสาเหตุมาจาก หรือเป็นผลมาจากกรณีใดดังต่อไปนี้

 

ง. (5) การวางรัง หรือการบุกรังควาน (infestation) หรือการทิ้ง หรือการปลดปล่อยผลิตภัณฑ์ หรือสารคัดหลั่งที่เป็นของเสียของสัตว์จำพวกแมลง นก สัตว์ที่มีฟันแหลมคม หรือสัตว์อื่น ๆ 

 

ผลลัพธ์ที่บังเกิดขึ้นเหล่านี้อยู่ในความหมายของข้อยกเว้น ตรงคำ “การบุกรังควานของสัตว์จำพวกนก” ดังที่กำหนดไว้ กรณีจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองแต่ประการใด

 

ฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่า ถ้อยคำจุดนั้นมีความหมายกำกวม ไม่ชัดเจนว่า การบุกรังควานนั้นหมายความถึงอะไรกันแน่? จะต้องมีสัตว์จำนวนกี่มากน้อย?

 

ฝ่ายจำเลยตอบโต้กลับว่า ฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้ขยายความเพิ่มเติม ที่ว่าไม่ชัดเจน และมีหลายความหมายนั้น คืออะไรบ้าง?

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายจำเลย และตัดสินให้ชนะคดี

 

ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว

 

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์จากคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญ

 

นกแร้งเหล่านี้มีจำนวนนับได้หลายสิบตัว รวมกันเป็นฝูง ไม่ได้บินมาเกาะทุกวันอย่างสม่ำเสมอ อาจมาบ้าง ไม่มาบ้าง จำนวนที่บินมาก็เช่นเดียวกัน อาจมาไม่กี่ตัว หรือมาหลายตัวก็ได้ ไม่แน่นอนเสมอไป

 

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดกับพฤติกรรมของสัตว์ด้วยเหมือนกัน

 

ครั้นเมื่อพิจารณาความหมายตามพจนานุกรมประกอบ ต่างให้ความหมายอย่างหลากหลายด้วยเช่นกัน

 

บ้างก็ให้ความหมายการบุกรังควานนั้นจะต้องมากันเป็นฝูง บ้างก็ไม่ได้เอ่ยถึงขนาดนั้น

 

แม้นความหมายของการบุกรังควานดูเสมือนมีหลายนัยก็ตาม แต่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่า ควรจะต้องมีอยู่จำนวนหนึ่งที่มากพอในการสร้างความเสียหายขึ้นมาได้ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

 

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ให้ฝ่ายจำเลยไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Mitchellville Plaza Bar LP v. The Hanover American Insurance Company, No. 22-2089 [4th Cir. 2024])

 

หมายเหตุ

 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมาย “รังควาน” หมายความถึง รบกวนทำให้รำคาญหรือเดือดร้อน เช่น คนพาลชอบรังควานคนอื่น

 

กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ฉบับมาตรฐานบ้านเรา เขียนไว้ในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้น ข้อ ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ดังนี้

 

1. ความเสียหาย อันเกิดจาก

 

…………………

1.5 การกัดกร่อนหรือการผุกร่อน การเกิดสนิม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น ความแห้ง การบูดเน่า การขึ้นรา การหดตัว การระเหยหรือการระเหิด การสูญเสียน้ำหนัก มลพิษหรือมลภาวะ การปนเปื้อน การเปลี่ยนแปลงของสี รส กลิ่น องค์ประกอบสสาร หรือผิววัตถุ การทำปฏิกิริยาของแสง การกัดแทะของแมลงหรือสัตว์ (vermin, insects) การเป็นตำหนิ การขีดข่วนผิววัตถุ

 

เมื่อลองนำไปปรับใช้เทียบเคียงกับกรณีข้างต้น

 

คุณเห็นว่า ผลทางคดีจะออกมาเหมือนกัน หรือต่างกันบ้างไหม หรืออย่างไรครับ?

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น