เรื่องที่ 197 : เมื่อการประกันภัยคุ้มครองการยกเลิกการเดินทางมีปัญหา (Trip Cancellation Insurance)? และสร้างความประหวั่นใจแก่บริษัทประกันภัยอย่างยิ่ง
กรมธรรม์ประกันภัยเดินทาง (Travel Accident Insurance Policy) ปัจจุบันได้มีการให้เลือกขยายความคุ้มครองเสริมเพิ่มเติมออกไปอย่างหลากหลาย เป็นต้นว่า การยกเลิก/การเลื่อน/การล่าช้าในการเดินทาง การลดจำนวนวันเดินทาง การพลาดต่อเที่ยวบิน กระเป๋าสัมภาระ/ทรัพย์สินส่วนตัว/เอกสารการเดินทาง ค่าโทรศัพท์ฉุกเฉิน ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ฯลฯ
อาจมีคำถามเกิดขึ้นได้ เวลาเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจริง จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้จริงแท้แค่ไหน?
ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้สามารถให้แนวคำตอบบางเรื่องได้
ในประเด็นปัญหาความคุ้มครองการยกเลิกการเดินทาง
นักเรียนรายหนึ่งได้เข้าร่วมโครงการเดินทางไปทัศนศึกษาต่างประเทศของโรงเรียน โดยได้ชำระค่ามัดจำ ค่างวด และค่าเบี้ยประกันภัยเดินทางไปแล้วบางส่วนก่อนวันเดินทางตามเงื่อนไข
ใกล้วันเดินทาง ปรากฏว่า นักเรียนรายนี้เริ่มมีอาการภาวะซึมเศร้า (depression) เป็นครั้งแรก ได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันอาการ ซึ่งแพทย์ได้ยืนยันผล และเริ่มเข้ารับการรักษานับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จากคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษากับมารดา นักเรียนรายนี้จึงตัดสินใจยกเลิกการเดินทางไปทัศนศึกษาดังกล่าวในท้ายที่สุด
มารดาในฐานะผู้ปกครองของนักเรียนรายนี้ได้ไปยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามข้อตกลงคุ้มครองนี้จากบริษัทประกันภัยของตน แต่กลับถูกปฏิเสธโดยอ้างว่า กรณีนี้ตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ซึ่งเขียนว่า
“ไม่คุ้มครอง เมื่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นเกิดขึ้นทั้งโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมมาจากอาการความเจ็บป่วยทางจิตใจ (mental illness)”
ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลพิเศษ (Victorian Civil and Administrative Tribunal (VCAT)) เพื่อพิจารณา
ระหว่างการพิจารณาคดี ไม่มีประเด็นข้อโต้แย้งถึงความหมายของอาการความเจ็บป่วยทางจิตใจ ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดคำนิยามเฉพาะอย่างชัดแจ้งว่า หมายความรวมถึงภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า?
โดยฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยได้ต่อสู้ว่า การกระทำของบริษัทประกันภัยนั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ (Disability Discrimination Act) ซึ่งคนพิการนั้น หมายความถึง ผู้มีความบกพร่องทั้งทางร่ายกาย หรือทางจิตใจ และได้เรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม ในส่วนของความเสียหายทางการเงิน (economic loss) และความเสียหายทางด้านจิตใจจากความอัปยศอดสู (humiliation)
ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า การปฏิเสธนี้ไม่ใช่ด้วยเหตุจากความพิการของผู้เอาประกันภัย แต่เป็นในเรื่องของข้อยกเว้นที่เขียนไว้
ศาลพิเศษวินิจฉัยว่า
ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยมีความผิดโทษฐานฝ่าฝืนหลักกฎหมายดังกล่าว และสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย ทั้งในส่วนของผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท และในส่วนของความเสียหายทางการเงินกับจิตใจด้วย
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Ingram v. QBE Insurance (Australia) Limited (Human Rights) [2015] VCAT 1936)
หมายเหตุ
คดีศึกษานี้ก่อให้เกิดคำถามอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อยกเว้นดังกล่าวก็ได้ผ่านการอนุมัติรับรองจากหน่วยงานกำกับควบคุมแล้ว
อันที่จริง หลักกฎหมายเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชนได้บัญญัติทางออกให้แล้วว่า จะต้องมีพยานหลักฐานทางด้านสถิติกับทางด้านคณิตศาสตร์มาประกอบยืนยันด้วย แต่ในคดีนี้ที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยแพ้คดี เนื่องด้วยไม่ได้นำเสนอพยานหลักฐานมาประกอบเพื่อโน้มน้าวให้ศาลรับฟังเชื่อถือได้
ทั้งผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายยังได้ช่วยลดความหวั่นวิตกของฝ่ายบริษัทประกันภัยอีกด้วยว่า คดีนี้เป็นคดีเฉพาะตัว มิได้หมายความถึงการกำหนดข้อยกเว้นเช่นนี้ล้วนถือเหมารวมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ฝ่ายบริษัทประกันภัยคงจำต้องใช้ความระมัดระวังอยู่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะก่อให้เกิดข้อพิพาททำนองนี้
สำหรับบ้านเรา ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้บัญญัติขึ้นมา แต่ก็ควรพึงระวังไว้บ้างก็ดีนะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น