เรื่องที่ 198 : ค่าใช้จ่ายในการป้องกัน หรือการทุเลาความเสียหายชั่วคราว (Temporary Protection or Mitigation Costs) ผู้ใดควรต้องรับผิดชอบ?
เวลาเมื่อมีภัยคุกคามใกล้ตัวเข้ามา หรือเมื่อภัยนั้นได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ถ้าผู้เอาประกันภัยลงมือ
ก) กระทำการปกป้อง หรือป้องกันมิให้เกิดความเสียหายขึ้นมา หรือ
ข) กระทำการทุเลาลดความเสียหายที่เกิดขึ้นมาแล้ว มิให้ลุกลาม หรือขยายวงกว้างออกไป
ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่บังเกิดขึ้นในสองกรณีข้างต้น ทั้งก่อนเกิดความเสียหายกับหลังจากความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยจะสามารถเรียกร้องเอากับบริษัทประกันภัยของตนได้ไหม?
นับเป็นประเด็นปัญหาชวนปวดหัว และยังมีข้อถกเถียงกันไม่จบสิ้น
นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศอีกเรื่องหนึ่ง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) หรือเรียกง่าย ๆ คือ กรมธรรม์ประกันภัยงานก่อสร้าง/งานติดตั้ง (CAR/EAR) นั่นเอง
ผู้รับเหมาเจ้าหนึ่งรับจ้างเข้าทำโครงการแก้ไขปรับปรุงระบบระบายน้ำในหนองน้ำ (ponds) ที่อยู่ในสวนสาธารณะกับหน่วยงานรัฐ โดยมีทั้งการสร้างเขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราว (cofferdam) การจัดทำท่อลอดระบายน้ำใต้ดิน (culvert) เสริมเพิ่มเติม
ระหว่างการก่อสร้าง ได้มีฝนตกหนักลงมาส่งผลทำให้ระดับน้ำในหนองน้ำนั้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันมิให้เขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราวนั้นพังทลายลงจากแรงดันของน้ำ ตลอดจนเพื่อปกป้องมิให้บังเกิดความเสียหายลุกลามออกไปสร้างความเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินอื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ผู้รับเหมารายนี้จำต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน ทั้งการรีบสูบน้ำระบายออก รวมถึงการสร้างค้ำยันกั้นเสริมความแข็งแรงให้แก่ผนังเขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราวนั้นด้วย โดยที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นเงินกว่า 470,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือประมาณร่วม 12 ล้านบาท)
เนื่องด้วยผู้รับเหมารายนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) คุ้มครองงานตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวในส่วนที่หนึ่ง (Section I – Contract Works) และคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในส่วนที่สอง (Section II – Third Party Liability) กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งไว้อยู่แล้ว โดยมีเอกสารแนบท้ายเพิ่มเติมอีกสองฉบับแนบไว้ กล่าวคือ ฉบับแรกเป็นข้อยกเว้นเพิ่มเติมว่าด้วยการลดระดับน้ำ (Dewatering Exclusion Clause) และฉบับที่สองเป็นการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการป้องกันชั่วคราว (Temporary Protection Cost Extension Clause) สำหรับตัวงานก่อสร้าง
ครั้นเมื่อผู้รับเหมารายนี้ในฐานะผู้เอาประกันภัยได้ไปยื่นเรื่องต่อบริษัทประกันภัยของตน เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว คำตอบที่ได้รับกลับมา คือ บริษัทประกันภัยแห่งนั้นยินดีจะชดใช้ให้เพียงเฉพาะในส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดทำค้ำยันเท่านั้น ภายใต้การขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการป้องกันชั่วคราว แต่ส่วนที่เหลือได้ปฏิเสธไม่คุ้มครองให้ เนื่องด้วยตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นว่าด้วยการลดระดับน้ำ
ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล
ศาลชั้นต้นตัดสินให้ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยชนะคดี ด้วยเหตุผลดังนี้
1) ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เรียกร้องมานั้นได้บังเกิดขึ้นเพื่อป้องกันความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
2) งานที่ได้กระทำอย่างเร่งด่วนนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายลุกลามออกไป
ทั้งหมดนี้ล้วนเข้าข้อตกลงคุ้มครองที่เขียนว่า “ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายที่มีต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาการก่อสร้างจากสาเหตุใดก็ตาม ซึ่งมิได้ถูกยกเว้นไว้ในที่นี้”
และไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นเพิ่มเติมว่าด้วยการลดระดับน้ำ ซึ่งให้ความหมายถึงเพียงค่าใช้จ่ายโดยตรง เพื่อทำการลดระดับน้ำเท่านั้น
ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยแห่งนั้นยื่นอุทธรณ์คัดค้าน
ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยจำแนกประเด็นออกมาได้ ดังนี้
(1) ประเด็นข้อตกลงคุ้มครอง
ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น หมายความถึง งานถาวร และงานชั่วคราวที่ได้กระทำขึ้นตามสัญญาว่าจ้างนั้น
ทั้งความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหาย ในที่นี้ ก็เพียงหมายความถึง เฉพาะในส่วนที่เป็นทางกายภาพเท่านั้น โดยที่จะคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยตรงในการแก้ไขทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเช่นว่านั้นได้กลับคืนสู่สภาพทางกายภาพที่ดีดังเดิมเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในการป้องกันด้วยการสร้างค้ำยันกั้นเสริมผนังเขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราวนั้น ไม่ใช่มีลักษณะเช่นว่านั้น
ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในประเด็นนี้
(2) ประเด็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการป้องกันชั่วคราว
ซึ่งมีข้อความเขียนว่า
“การประกันภัยนี้จะขยายความคุ้มครองโดยอัตโนมัติถึงค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งได้เกิดขึ้นตามจำเป็น และตามสมควรแก่ผู้เอาประกันภัย หรือในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อ
(ก) จัดทำค้ำยัน (shoring up) ค้ำจุน (propping) เสริมฐานรองรับ (underpinning) หรือการป้องกันชั่วคราวอย่างอื่นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย....
(ข) ..............
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายที่มีแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันได้รับความคุ้มครอง ....”
ที่ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า กรณีไม่เข้าข่ายข้อความข้างต้น เพราะยังไม่ได้เกิดความเสียหายทางกายภาพใด ๆ แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ในที่นี้ คือ เขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราวเลยนั้น
ขณะที่มีพยานผู้เชี่ยวชาญกลับระบุว่า ได้ตรวจพบร่องรอยการรั่วซึมตรงผนังกำแพงบางจุด ส่งผลทำให้จำต้องรีบเร่งดำเนินการเบี่ยงทางน้ำอย่างเร่งด่วน ประกอบระดับน้ำล้นบางจุดก็ทำให้เกิดการเซาะกร่อนพื้นผิวด้านบนของเขื่อนกั้นไปบ้างแล้วด้วย
ศาลอุทธรณ์จึงเห็นต่างว่า ได้ปรากฏมีความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นขึ้นมาบ้างแล้ว ดังนั้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมฉุกเฉินนี้จึงอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองข้างต้น
(3) ประเด็นข้อยกเว้นเพิ่มเติมว่าด้วยการลดระดับน้ำ
ข้อนี้มีถ้อยคำเขียนกว้าง ๆ ว่า
“บริษัทประกันภัยจะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวข้องกับการติดตั้งอุปกรณ์การลดระดับน้ำกับการใช้อุปกรณ์การลดระดับน้ำใด ๆ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดในการดำเนินการลดระดับน้ำ”
ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยถกเถียงว่า การลดระดับน้ำนั้นมีความหมายทั่วไป คือ การนำเอาน้ำออกไปจากจุดหนึ่ง หรือสิ่งหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ก็มีลักษณะเช่นว่านั้น อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่ประการใด
แต่ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่า การเบี่ยงเบนเส้นทางน้ำ หรือการผันน้ำ (diversion) ออกไปอีกจุดหนึ่งนั้นมีความหมายกว้างกว่านั้น ด้วยเหตุนี้ ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่บังเกิดขึ้นนั้นจึงได้รับความคุ้มครอง และไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว
จึงพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Vero Insurance Ltd v. Australian Prestressing Services Pty Ltd [2013] NSWCA 181)
หมายเหตุ
คดีศึกษานี้ไม่ได้รับอนุมัติให้ไปต่อชั้นศาลฎีกา จึงสิ้นสุดแค่ชั้นศาลอุทธรณ์เท่านั้น โดยแนวทางตามหลักกฎหมายต่างประเทศทั่วไป มองว่า เป็นหน้าที่ตามปกติของผู้เอาประกันภัยอยู่แล้ว ในการปกป้อง/ป้องกันทรัพย์สินของตนเอง จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายเช่นว่านี้จากบริษัทประกันภัยได้ แต่บางศาลก็อาจตีความให้ได้บ้างเหมือนกัน คงต้องไปลุ้นเอา
ขณะที่หลักกฎหมายไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 บัญญัติว่า
“ผู้รับประกันภัยจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดั่งจะกล่าว ต่อไปนี้ คือ
(1) เพื่อจํานวนวินาศภัยอันแท้จริง
(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สิน ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ เพราะได้จัดการตามสมควร เพื่อป้องปัดความวินาศภัย
(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควร ซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สิน ซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ
อันจํานวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่ง เหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น
อนึ่ง จํานวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น”
เมื่อพิจารณาจาก ย่อหน้า (3) ข้างต้นเสมือนเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประเด็นนี้ด้วย โดยไม่จำเป็นที่จะต้องร้องขอขยายความคุ้มครองเรื่องนี้เป็นพิเศษเสียก่อน
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ ก็ยังมีบางกลุ่มมีความเห็นต่างอยู่นะครับ
แนะนำว่า ควรขอเผื่อไว้ ไม่น่าจะเสียหลาย ส่วนเวลาเกิดเหตุขึ้นมาจริง จะสามารถเรียกร้องได้เบิ้ลหรือเปล่านั้น ค่อยไปว่ากันครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น