วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 192 : ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?

 

(ตอนที่ห้า)

 

จากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศสามกรณี พอสรุปได้ว่า

 

(1) ถ้ามีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง ให้พิจารณาไปตามนั้น

 

(2) ถ้ามีข้อกำหนดกับเงื่อนไขปรากฏอยู่ชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ก็ให้พิจารณาไปตามนั้น

 

(3) อย่างไรก็ดี พึงระลึกเสมอว่า สัญญาประกันภัย หรือสัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งฝ่ายผู้เอาประกันภัย/ผู้เอาประกันชีวิตมีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันภัย/เบี้ยประกันชีวิต ขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัย/บริษัทประกันชีวิตมีภาระผูกพันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน/จำนวนเงินตามที่ตกลงให้

 

การกระทำผิดหลักกฎหมาย หรือข้อกำหนดกับเงื่อนไขของฝ่ายผู้เอาประกันภัย/ผู้เอาประกันชีวิตอาจส่งผลทำให้ตนเองเสียสิทธิ (forfeit) ที่จะได้รับชดใช้นั้นไป แต่มิได้หมายความว่า จะทำให้ฝ่ายบริษัทประกันภัย/บริษัทประกันชีวิตไม่จำต้องปฏิบัติตามภาระผูกพันเช่นว่านั้นได้ คงยังต้องชดใช้ให้แก่ผู้มีสิทธิอื่น ๆ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ต่อไปดังเดิมตามข้อผูกพันของสัญญาประกันภัย หรือสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว

 

เสียดายที่ค้นไม่พบตัวอย่างคดีศึกษาประเด็นการกระทำผิดของผู้รับประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย/ผู้เอาประกันชีวิตโดยตรงดั่งเช่นของต่างประเทศ มีแต่แนวคดีใกล้เคียง หรืออาศัยการตีความส่วนตัวมาปรับใช้เท่านั้น

 

ย้อนกลับไปดูหลักกฎหมายในบทความตอนแรกของหมวดที่ 3 ว่าด้วยประกันชีวิตแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้

 

มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้น ในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

 

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัคร ภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

 

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

 

สังเกตเห็นว่า ในข้อที่ (2) ข้างต้น ผู้รับประโยชน์นั้นไม่ได้ถึงขนาดสูญเสียสิทธิของตนเองตามสัญญาประกันชีวิตโดยสิ้นเชิง ทายาทของบุคคลนั้นยังสามารถได้รับเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันชีวิตคืนอยู่ดี กรณีมีทายาทของผู้เอาประกันชีวิตรายนั้นอยู่หลายคน ได้มีการตีความว่า ทายาทผู้บริสุทธิ์รายอื่นควรได้รับชดใช้เงินตามส่วนจากสัญญาประกันชีวิตนั้นอยู่เช่นเดิม

 

ส่วนกรณีสัญญาประกันภัย/สัญญาประกันชีวิตลักษณะอื่นล่ะ ก็สามารถนำหลักกฎหมายเรื่องมรดกมาปรับใช้ได้ ถึงแม้อันที่จริงผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย/สัญญาประกันชีวิตนั้นจะได้มาหลังจากเจ้ามรดกตายแล้วก็ตาม  

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2558

ป.พ.พ. มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมทำให้การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิตนั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตาย อันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอก ซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับตามตารางกรมธรรม์ มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่า ให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตน หรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรง และต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ได้แก่ มาตรา 897 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตน โดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้" ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่างได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กันและเท่ากับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ศ. ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร

(สืบค้นมาจาก http://deka.supremecourt.or.th/search ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง)

 

อนึ่ง มีบทบัญญัติเขียนถึงการถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายไว้ด้วย ดังนี้

 

มาตรา 1606 บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

 

(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

(2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ

 

(3) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยา หรือผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

 

(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วน หรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

 

(5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วน หรือทั้งหมด

 

เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้ โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

 

มาตรา 1607 การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่า ทายาทนั้นตายแล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมรดกมาเช่นนี้ ทายาทที่ว่านั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการ และใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้นให้ใช้มาตรา 1548 บังคับโดยอนุโลม

 

ฉะนั้น การวิเคราะห์คำถามของบทความตอนที่หนึ่ง

 

โจทย์

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance Policy) ฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอยู่ที่ 900,000 บาท

 

ผู้เอาประกันภัยได้ระบุในช่องผู้รับประโยชน์ว่า “ทายาทตามกฎหมาย” ให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ซึ่งผู้เอาประกันภัยรายนี้มีลูกอยู่สามคน ส่วนสามีได้เสียชีวิตไปนานแล้ว

 

ต่อมาปรากฏว่า ผู้เอาประกันภัยได้ถูกลูกคนหนึ่งของตนฆ่าตาย

 

คำถาม

 

1) บริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองปฏิเสธไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์การเสียชีวิตทั้งหมดได้หรือไม่?

 

2) ถ้าจำต้องจ่ายให้แก่ทายาทที่สุจริตอีกสองคนที่เหลือ ควรจะจ่ายเท่าไหร่?

 

แนวคำตอบ

 

1) บริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองปฏิเสธไม่รับผิดไม่ได้

 

2) ถ้าจำต้องจ่ายให้แก่ทายาทที่สุจริตอีกสองคนที่เหลือ ควรจะจ่ายเท่าไหร่?

 

2.1) ถ้ามีทายาทที่สุจริตเหลืออยู่เพียงสองคนเท่านั้น ไม่ปรากฏทายาทอื่นใดอีก ก็ต้องจ่ายเงินตามทุนประกันภัยทั้งหมด 600,000 บาท ให้แก่ทายาททั้งสองคนนั้นไปจัดแบ่งกันเท่ากัน ๆ

 

2.1) ถ้าทายาทผู้ถูกกำจัดมีทายาทของตนอยู่ ก็ให้ทายาทของผู้นั้นได้รับชดใช้ตามส่วนหนึ่งในสาม เสมือนหนึ่งทายาทผู้นั้นได้ตายแล้วตามมาตรา 1607 ข้างต้น

 

นี่คือ มุมมองส่วนตัวของผม เพราะเคยอ่านเจอผู้รู้บางท่านอาจตีความแตกต่างออกไปได้ครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น