วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 183 : เมื่อลูกระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่สองตามมาหลอกหลอนถึงทุกวันนี้?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ไม่ได้เปลี่ยนมาเขียนเรื่องราวลี้ลับเหนือธรรมชาตินะครับ คงยังเขียนบทความเกี่ยวกับการประกันภัยอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ล่าสุดได้อ่านพบตัวอย่างคดีศึกษาจากประเทศอังกฤษซึ่งเพิ่งมีคำพิพากษาออกมาไม่กี่เดือนนี้นี่เอง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหัวข้อข้างต้นที่สร้างความน่าฉงน และกระแสความน่าสนใจได้ไม่น้อยเลย

 

ตัวอย่างคดีศึกษานี้มีความเกี่ยวพันกับหลักการประกันภัย ข้อที่ 6 กล่าวคือ หลักสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause Insurance Principle) ซึ่งค่อนข้างยากลำบากในการทำความเข้าใจมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับหลักการอื่น ๆ อีกห้าข้อ

 

งั้นเรามาทบทวนถึงความหมายของสาเหตุใกล้ชิดอีกครั้งกันก่อนนะครับ   

 

จากคู่มือปฏิบัติงานสำหรับนายหน้าประกันวินาศภัยของสำนักงาน คปภ. บทที่ 2 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนายหน้าประกันวินาศภัย เรื่องที่ 2.6 หลักสาเหตุใกล้ชิด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หน้า 2-39 เขียนว่า

 

1. ความหมายของสาเหตุใกล้ชิด

คำว่า สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause)” หรือตามพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา (2560, น. 235) เรียกว่า เหตุใกล้ชิด (Proximate Cause)” หมายถึง ต้นเหตุโดยตรงหรือต้นเหตุหลักที่ก่อให้เกิดผลหรือความเสียหาย โดยไม่มีเหตุอื่นเข้ามาแทรกทาให้ขาดตอน ซึ่งหากไม่เกิดเหตุนี้ก็ไม่เกิดผล เช่น ในกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยที่คุ้มครองไฟไหม้ หากเกิดไฟไหม้ขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัย จึงมีการฉีดน้ำเพื่อดับไฟ ผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้มีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยบางส่วนเปียกน้ำ ความเสียหายจากการเปียกน้ำดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครองจากเหตุไฟไหม้ด้วย โดยไฟไหม้ถือเป็นเหตุใกล้ชิดของการที่ทรัพย์สินเปียกน้ำ


สาเหตุใกล้ชิด อาจหมายความถึง เหตุแห่งการกระทำที่เป็นจุดเริ่มต้นจนก่อให้เกิดผลติดตามมาโดยปกติอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมาในที่สุด


คำว่า สาเหตุใกล้ชิดอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยมุ่งเน้นไปถึงระยะทาง หรือระยะเวลาที่ใกล้ชิด แต่ในแง่ของกฎหมายเพียงเน้นถึง ความเป็นธรรมและความยุติธรรมเท่านั้น ทั้งจะต้องมิใช่เป็นสาเหตุที่ห่างไกลเกินไป

 

(สืบค้นจาก https://www.oic.or.th/sites/default/files/content/90853/04201-bththii-2-kdhmaaythiiekiiywkhngkabnaayhnaaprakanwinaasphay.pdf)

 

ถ้ามีผู้ใดตั้งคำถาม

 

ลูกระบิดที่ตกค้างตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจะสามารถส่งผลกระทบแก่ความคุ้มครองปัจจุบันได้บ้างไหม?

 

คุณจะเชื่อไหม และจะแสดงความคิดเห็นเช่นไรครับ?

 

ลำดับต่อไป ลองมาพิจารณาถึงตัวอย่างคดีศึกษานี้กันครับ

 

สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งกินระยะเวลายาวนานถึงเจ็ดปีระหว่างปี ค.ศ. 1939 - ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2482 – พ.ศ. 2488) มีจุดเริ่มต้น ณ ทวีปยุโรปก่อนแล้วค่อยขยายตัวบานปลายออกไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ได้สร้างความเสียหายอย่างมากมาย โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 15 ล้านคน และสร้างผลกระทบทางเศษฐกิจสูงถึงประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ลำพังทั่วภูมิภาคยุโรปแห่งเดียวมีการทิ้งลูกระเบิดเข้าใส่นับปริมาณหลายล้านตัน แต่เชื่อว่า มีจำนวนอยู่ประมาณร้อยละ 10 – 20 ที่ยังไม่ระเบิดออกมา ส่งผลทำให้ทุกวันนี้ สามารถค้นพบลูกระเบิดที่ตกค้างเหล่านั้นได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณที่มีโครงการก่อสร้าง หรือการปรับปรุงพื้นที่หลายแห่งในประเทศอังกฤษ โชคดีส่วนใหญ่แล้วสามารถกู้คืน เพื่อนำไปทำลาย ณ จุดที่ควบคุมแห่งอื่นได้อย่างปลอดภัย

 

แต่ก็มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

 

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 คนงานได้ขุดเจอลูกระเบิดที่ตกค้างจากสงครามโลกครั้งที่สองหนึ่งลูกขนาดน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ซึ่งมีชื่อเล่นเรียกว่า “เฮอร์มานน์” อันถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินของกองกำลังนาซีเยอรมัน เมื่อปี ค.ศ. 1942 ณ โครงการก่อสร้างใกล้กับอาณาเขตของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

 

ภายหลังจากการขุดกู้ตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการของภาครัฐ ได้ผลรายงานว่า ไม่อาจเคลื่อนย้ายลูกระเบิดนั้นออกไป เพื่อไปทำลายยังจุดควบคุมแห่งอื่นได้ จำเป็นจะต้องระเบิดทำลาย ณ สถานที่พบนั้นอย่างไม่มีทางเลือกอื่น จึงทำให้ต้องกั้นพื้นที่โดยรอบในรัศมี 400 เมตร พร้อมอพยพนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ตลอดจนผู้อยู่อาศัยที่อยู่รอบบริเวณนั้นทั้งหมดออกไปเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย

 

อนึ่ง เพื่อลดผลกระทบต่อแรงระเบิดที่อาจไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ภายในรัศมี ผู้ชำนาญการภาครัฐได้จัดสร้างกระบะใส่ทราย (Sand Box) ปริมาณ 400 ตันถมอัดเข้าไปโดยรอบจุดที่ตั้งลูกระเบิดนั้น พร้อมมีรั้วเหล็กกั้นยันไว้ รวมทั้งขุดร่องโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดแรงกระแทกของแรงระเบิดซึ่งอาจกระจายไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ตั้งอยู่โดยรอบบริเวณนั้นด้วย

 

อย่างไรก็ดี แม้จะได้พยายามวางมาตรการปกป้องดังกล่าวแล้วก็ตาม ผลของแรงระเบิดซึ่งถูกจุดทำลายด้วยระบบควบคุมทางไกล ณ เวลา 18.10 ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ยังสามารถสร้างความเสียหายให้บังเกิดขึ้นแก่บางอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ใกล้สุดอยู่ดี

 

เนื่องด้วยทางมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน และกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักเอาไว้อยู่แล้ว โดยมีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปีระหว่างวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2020 ถึงวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2021 จึงได้ทำการยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับความเสียหายที่บังเกิดขึ้นต่อบริษัทประกันภัยของตน

 

ณ วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 2021 บริษัทประกันภัยนั้นได้ตอบปฏิเสธความรับผิดอย่างเป็นทางการ ด้วยการหยิบยกข้อยกเว้นว่าด้วยภัยสงคราม (War Exclusion Clause) ที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาททั้งสองฉบับมากล่าวอ้าง

 

ส่งผลทำให้เกิดเป็นคดีข้อพิพาทขึ้นมาสู่ศาลเพื่อพิจารณาตัดสิน

 

ถึงตรงนี้ คุณจะเชียร์เข้าข้างฝ่ายใดครับ?

 

ลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อประมาณ 79 ปีก่อน โดยช่วงเวลานั้น ยังไม่ปรากฏมีบางอาคารสิ่งปลูกสร้างที่เอาประกันภัยนี้ ซึ่งได้รับความเสียหายอยู่ด้วยซ้ำไป จะยังสามารถส่งผลกระทบแก่ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทในปัจจุบันนี้ได้จริงหรือ?

 

ทั้งที่บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า สาเหตุใกล้ชิดจะต้องเกิดขึ้นในลักษณะต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน (unbroken chain of events)

 

แต่นี่ผ่านมาร่วมประมาณ 79 ปีแล้วนะ

 

อดใจรออ่านผลสรุปคดีนี้ ในสัปดาห์หน้าเช่นเคยครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น