วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 182 : ปัญหาความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ข้ามพรมแดน (Cross-border Motor Vehicles Insurance Coverage)

 

(ตอนที่สาม)

 

เมื่อเรื่องการยื้อยุดคดีถึงกรณีควรจะนำคดีพิพาทไปฟ้อง ณ ศาลแห่งประเทศมาเลเซียที่เกิดอุบัติเหตุดี หรือ ณ ศาลแห่งประเทศสิงคโปร์ที่ผู้เสียหายมีภูมิลำเนาอยู่ และใช้รักษาตัวกับซ่อมแซมความเสียหายตัวรถยนต์ของตนเองนั้นก็ดี (ซึ่งได้ใช้ฟ้องคดีไปแล้วด้วย) โดยที่ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้โยกคดีไปฟ้องที่ศาลมาเลเซียแทนนั้น ได้ถูกร้องอุทธรณ์ขึ้นมา

 

ศาลอุทธรณ์แห่งประเทศสิงคโปร์ได้พินิจพิเคราะห์ โดยสามารถจำแนกประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ ออกมาได้ ดังนี้

 

(ก) แม้นหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องละเมิดจะอ้างอิงถึงการให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่เกิดการละเมิด (the lex loci delicti) เป็นเกณฑ์ ในที่นี้ คือ หลักกฎหมายแห่งประเทศมาเลเซียนั่นเอง ในการพิจารณาถึงสิทธิ และความรับผิดต่าง ๆ ของคู่ความเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี หลักกฎหมายทั่วไปนั้นมิใช่จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และตามความเป็นธรรมที่ควรจะเป็น

 

(ข) ทั้งหลักกฎหมายเรื่องละเมิดระหว่างประเทศมาเลเซียกับประเทศสิงคโปร์มีความแตกต่างกันน้อย ส่วนใหญ่แล้วจะมีความคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก

 

(ค) ในประเด็นเรื่องของพยานหลักฐานอ้างอิงซึ่งถกเถียงกันว่า ฝ่ายโจทก์มีอยู่ห้าราย (ตนเอง แพทย์ผู้รักษาสองราย และช่างซ่อมกับผู้ประเมินวินาศภัยอย่างละหนึ่งราย) จำนวนมากกว่าฝ่ายจำเลยซึ่งมีอ้างอิงเพียงแค่ตนเองเท่านั้น

 

ปัจจุบันนี้ เรื่องความไม่สะดวกของการเดินทางข้ามประเทศไม่น่าจะมีอุปสรรคเหมือนดั่งเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลทำให้มีการนำสืบคดีด้วยระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (video conference) ทดแทน และแพร่หลายไปมาก แต่ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่พิจารณาคดีนั้น ๆ เป็นสำคัญด้วย

 

(ง) คดีนี้ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เพราะความรับผิดค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่อาจมีประเด็นเรื่องมูลค่าความเสียหายกันเท่านั้น

 

(จ) สำหรับคดีอุบัติเหตุทางท้องถนน ซึ่งมักจะมีข้อพิพาทในเรื่องมูลค่าความเสียหายนั้น ความไม่สะดวกในการเลือกที่จะนำคดีไปฟ้องที่ศาลแห่งใดนั้นดูจะไม่ใคร่แตกต่างกันนัก แต่ก็ควรที่จะมุ่งเน้นไปถึงความสะดวกแก่ผู้ได้รับความเสียหายมากกว่าผู้กระทำละเมิด เว้นเสียแต่ เมื่อพิจารณาแล้ว โอกาสที่ฝ่ายโจทก์จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

 

(ฉ) ส่วนประเด็นเรื่องมูลค่าความเสียหายนั้น อาจมองได้ ถ้านำคดีไปฟ้อง ณ ศาลแห่งประเทศมาเลเซียแล้ว ฝ่ายโจทก์อาจได้รับชำระด้วยสกุลเงินของประเทศมาเลเซีย ซึ่งดูแล้วจะมีจำนวนเงินที่น้อยกว่าที่จะได้รับชำระด้วยสกุลเงินของประเทศสิงคโปร์ อันเนื่องด้วยความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสองสกุลเงินนั้นเป็นสำคัญ และตนเองก็ได้ชำระมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้วล่วงหน้าด้วย

 

ทั้งหมดนี้ เนื่องด้วยฝ่ายจำเลยผู้ร้องอุทธรณ์มิได้แสดงให้ศาลอุทธรณ์ได้เห็น และยอมรับฟังได้อย่างชัดเจน และอย่างสิ้นสงสัยถึงความเหมาะสมที่ควรจะโอนคดีนี้ไปยังศาลแห่งประเทศมาเลเซียแทน ศาลอุทธรณ์จึงเห็นสมควรให้ศาลแห่งประเทศสิงคโปร์คงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ต่อไป ด้วยการกลับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นเหล่านี้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Teo Cher Teck v Goh Suan Hee [2008] SGHC 194; [2009] SGCA 52; [2010] 1 SLR 367])

  

ข้อสังเกต

 

สิ่งควรคำนึงต่อ หากฝ่ายโจทก์ชนะคดี แล้วจะไปบังคับคดีแก่ฝ่ายจำเลยซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างไร? หากพบว่า ฝ่ายจำเลยนั้นไม่มีทรัพย์สินอยู่เลยในศาลที่ตนชนะคดี

 

เช่นเดียวกับบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่รถยนต์ของฝ่ายโจทก์ เมื่อชดใช้ค่าซ่อมตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัยของฝ่ายโจทก์ไปแล้ว จะรับช่วงสิทธิของฝ่ายโจทก์ เพื่อไปไล่เบี้ยเอากับฝ่ายจำเลยยังต่างประเทศได้ไหม?

 

กรณีการเลือกใช้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศนี้ไม่จำกัดเฉพาะการประกันภัยรถยนต์เท่านั้น อาจเป็นประเด็นขึ้นมาก็ได้เช่นเดียวกันแก่การประกันภัยประเภทอื่น ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยเดินทาง การประกันภัยความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ หรือการประกันภัยอื่นใดที่ขยายอาณาเขตความคุ้มครองออกไปถึงต่างประเทศ แต่ถ้าไม่ปรากฏมีข้อพิพาทถึงขนาดต้องขึ้นศาล ก็แล้วไปครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น