วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 182 : ปัญหาความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ข้ามพรมแดน

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

โดยปกติ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บ้านเรา ทั้งภาคบังคับ และภาคสมัครใจจะถูกกำหนดอาณาเขตความคุ้มครองจำกัดอยู่เพียงภายในประเทศไทยเท่านั้น ด้วยการระบุเป็นข้อยกเว้นไม่คุ้มครองถึงการใช้รถนอกประเทศไทย

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ

 

หากผู้เอาประกันภัยประสงค์จะนำรถไปใช้นอกอาณาเขตประเทศไทยเป็นการชั่วคราว มีทางเลือกเดียว คือ จะต้องไปซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับฉบับใหม่ช่วงสั้นกับบริษัทประกันภัยที่มีอยู่ในประเทศนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

 

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ มีสองทางให้เลือก ได้แก่

 

ก) ขยายอาณาเขตความคุ้มครองเพิ่มเติม ตามเอกสารแนบท้าย รย. 04 หรือ

 

ข) ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจฉบับใหม่ช่วงสั้นกับบริษัทประกันภัยที่มีอยู่ในประเทศนั้น ๆ

 

ถ้าปฏิบัติตามแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรให้กังวลจริงไหม?

 

จริง ไม่จริง ลองมาพิจารณาเทียบเคียงจากตัวอย่างคดีศึกษาของเพื่อนบ้านเรากันดีกว่า

 

ประมาณต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 รถจดทะเบียนประเทศสิงค์โปร์ได้ประสบอุบัติเหตุในพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ผู้โดยสารในรถคันนั้นบาดเจ็บถึงขนาดอัมพาตบางส่วน

 

รถคันนั้นซึ่งถูกจัดทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ โดยระบุผู้เช่าซื้อเป็นผู้เอาประกันภัย แต่ขณะเกิดเหตุถูกขับขี่โดยผู้ขับขี่ซึ่งได้รับอนุญาต และมีอาณาเขตความคุ้มครองกำหนดไว้ว่า “ภายในพื้นที่ด้านตะวันตกของประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และบางพื้นที่ของประเทศไทยในรัศมี 50 ไมล์ระหว่างเขตแดนประเทศไทยกับด้านตะวันตกของประเทศมาเลเซีย

 

ผู้โดยสารเคราะห์ร้ายได้แจ้งดำเนินคดีต่อผู้ขับขี่กับผู้เอาประกันภัยเป็นลำดับแรก เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย โทษฐานกระทำการโดยประมาทเลินเล่อทำให้ตนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

 

ภายหลังศาลตัดสินให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้รับผิดชอบ โชคร้ายที่ปรากฏว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย

 

ผู้เสียหายจึงได้ฟ้องร้องคดีต่อบริษัทประกันภัยนั้น เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยรายดังกล่าวแทน แต่กลับได้รับคำปฏิเสธมาด้วยข้ออ้างดังต่อไปนี้

 

(1) กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้คุ้มครองไปถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย

 

(2) รถคันนี้ได้ถูกขายไปให้แก่บุคคลอื่นก่อนหน้านั้นแล้ว

 

(3) ผู้ขับขี่ขณะเกิดเหตุไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เอาประกันภัย

 

(4) ไม่ได้รับแจ้งถึงการดำเนินคดีแก่ผู้เอาประกันภัยมาก่อน

 

คดีนี้ได้มาถึงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องด้วยเป็นประเด็นในแง่มุมของกฎหมายว่าด้วยรถยนต์แห่งประเทศสิงคโปร์ (Motor Vehicles (Third-Party Risks and Compensation) Act 1960)

 

โดยศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นซึ่งตัดสินเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายโจทก์ สำหรับประเด็นข้อ (2) ถึงข้อ (4) เพราะไม่ได้ส่งผลต่อการพิจารณาคดีมากนัก

 

ส่วนประเด็นข้อ (1)  ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับถ้อยคำที่เขียนว่า “ความรับผิดดังกล่าวใด ๆ ตามที่ได้กำหนดให้คุ้มครองโดยกรมธรรม์ประกันภัย” หมายความถึง กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งคุ้มครองความรับผิดในกรณีการเสียชีวิต หรือการบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลใด อันมีสาเหตุมาจาก หรือเกิดขึ้นเนื่องมาจากการใช้รถยนต์ แม้คำว่า “การใช้” นั้นไม่ได้ถูกเขียนอย่างชัดเจนว่า จำกัดเฉพาะท้องถนนในประเทศสิงคโปร์ แต่ก็จำต้องแปลความให้หมายความถึงท้องถนนในประเทศสิงคโปร์เท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นสามารถใช้บังคับแก่ท้องถนนใดทั่วโลกก็ได้ ซึ่งจะขัดกับหลักอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศไป ฝ่ายผู้เสียหายโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยได้ตามข้อกฎหมายดังอ้าง

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับอ้างอิงได้ขยายอาณาเขตความคุ้มครองไว้เช่นนั้น ถือได้เป็นข้อตกลงพิเศษระหว่างคู่สัญญาประกันภัยให้แตกต่างจากข้อกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายผู้เสียหายโจทก์จึงมีสิทธิตามข้อสัญญาดังกล่าวในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยตรงจากฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลย อันเนื่องจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัยได้ ตราบเท่าที่ผู้เอาประกันภัยนั้นคงยังมีสถานะทางการเงินเป็นปกติ

 

เนื่องด้วยในกรณีนี้ ตัวผู้เอาประกันภัยนั้นตกเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้ว ฉะนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่จะถูกชดใช้จากฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยจำต้องถูกนำไปร่วมเฉลี่ยแก่เจ้าหนี้รายอื่นของผู้เอาประกันภัยนั้นด้วยตามกฎหมายล้มละลาย

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Nippon Fire & Marine Insurance Co Ltd v Sim Jin Hwee [[1998] 2 SLR 806])

 

ยังมีต่ออีกตอนนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น