วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 181 : ข้อยกเว้นความเสียหายซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า (Loss disclosed on taking inventory) กับการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเบ็ดเสร็จคุ้มครองผู้ค้าอัญมณี (Jewellers’ Block Insurance Policy)

 

(ตอนที่สอง)

 

หลังจากได้รับแจ้งความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทประกันภัยเหล่านั้นได้จัดส่งทีมนักบัญชีเข้าไปทำการตรวจพิสูจน์รายการบัญชีสินค้าของผู้เอาประกันภัยรายนี้อย่างละเอียดหลายรอบ โดยใช้เวลานานนับกว่าหนึ่งปี ได้ผลสรุปออกมาว่า

 

รอบแรก วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1996 มียอดสินค้าขาดหายไปจำนวนรวม 12,814 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,892,412 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพบสูญหายไปโดยไม่สามารถอธิบายได้ในช่วงเวลาระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. 1995 จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1996 ที่ได้ตรวจนับยอดสินค้าค้างทั้งหมด

 

รอบที่สอง วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1997 ปรับปรุงแก้ไขยอดสินค้าที่ขาดหายเป็นจำนวนรวม 12,469 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,712,779 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นยอดที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้เรียกร้องเอากับบริษัทประกันภัยทั้งหมดของตน

 

บริษัทประกันภัยเหล่านั้นได้ตอบปฏิเสธไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ โดยมิได้บอกกล่าวเหตุผลกลับมา

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้นำเรื่องเป็นคดีขึ้นสู่ศาล

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยเหล่านั้นตั้งประเด็นโต้แย้ง ดังนี้

 

ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมิได้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตนได้รับความเสียหายเกินกว่าความเสียหายส่วนแรกที่มีอยู่ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงชั้นแรก (Primary Layer) และ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงชั้นส่วนเกิน (Excess Layer) สำหรับความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง ตามลำดับ

 

กล่าวคือ ค่าสินไหมทดแทนซึ่งโจทก์ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องมานั้น ประกอบด้วยจำนวนความเสียหายไม่ทราบกี่ครั้ง? หรือกี่เหตุการณ์กันแน่? ซึ่งอาจตกอยู่ภายใต้วงเงินความเสียหายส่วนแรกทั้งหมดก็เป็นไปได้

 

ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยได้ตอบโต้ในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่ตนได้เรียกร้อง คือ จำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเดียวเท่านั้น สำหรับความเสียหายที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า (unexplained loss, mysterious disappearance or loss or damage or shortage disclosed on taking inventory)

 

ส่วนกรณีฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมิได้แจ้งความเสียหายให้รับทราบมาก่อนนั้น ทางมิได้ถูกตั้งประเด็นขึ้นมา เพราะได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว

 

ระหว่างพิจารณาคดี ฝ่ายจำเลยในส่วนของบริษัทประกันภัยในช่วงชั้นแรกสามารถเจรจาประนีประนอมกับฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยด้วยการตกลงยอมรับกันได้ที่ตัวเลข 477,500 ดอลลาร์สหรัฐ (จากวงเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

 

ขณะที่ฝ่ายจำเลยในส่วนของบริษัทประกันภัยในช่วงชั้นส่วนเกินคงยืนกรานต่อสู้ประเด็นเดิมต่อในชั้นศาลอุทธรณ์ที่ว่า

 

ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมีภาระพิสูจน์ว่า ความเสียหายดังที่เรียกร้องมีจำนวนเงินเกินกว่าความเสียหายส่วนแรก 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง เนื่องด้วยฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยเองก็ไม่ทราบว่า

 

การขาดหายของสินค้านั้นเกิดมาจากสาเหตุใด?

ในลักษณะเดียวกันหรือเปล่า?

มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องคนเดียว หรือหลายคนกันแน่?

เพื่อสืบค้นหาจำนวนครั้งของการเกิดเหตุ?

และแต่ละครั้งมีกี่ชิ้นที่ขาดหายไปบ้าง?

 

เหล่านี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้เลย ถึงแม้ได้มีความพยายามตรวจพิสูจน์กันแล้วนานกว่าหนึ่งปีก็ตาม

 

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้นกระนั้น ความเสียหายที่บังเกิดขึ้นนั้นล้วนเป็นกรณีโดยไม่ทราบสาเหตุ และโดยไม่ปรากฏร่องรอยตามที่ฝ่ายจำเลยในส่วนของบริษัทประกันภัยในช่วงชั้นส่วนเกิน (และในช่วงชั้นแรก) ได้ตกลงรับประกันภัยเอาไว้ทั้งสิ้น ด้วยการออกใบสลักหลังยกเลิกข้อยกเว้นของถ้อยคำเหล่านี้ ส่วนเงื่อนไขที่บังคับให้ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนนั้น ก็ถูกปฏิบัติแล้วโดยปราศจากข้อโต้แย้งของฝ่ายจำเลยแต่ประการใด จนกระทั่งนำไปสู่การตรวจพิสูจน์บัญชีสินค้าในท้ายที่สุด

 

อนึ่ง การโต้แย้งถึงเรื่องที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหายไปกี่ชิ้น? กี่เหตุการณ์นั้น? เสมือนหนึ่งส่งผลทำให้เป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่เสริมเพิ่มเติมขึ้นไปจากเดิมอีกว่า “เว้นแต่ กรณีความเสียหายที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า” กำกับไว้อีกชั้นหนึ่งนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเมื่อฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยประสงค์จะยกเว้นไม่คุ้มครองสิ่งใดก็ตาม จะต้องใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องชัดเจน

 

นอกจากนี้ โดยหลักกฎหมาย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแบบเสี่ยงภัยทุกชนิด (สรรพภัย) ผู้เอาประกันภัยมิได้มีภาระในการพิสูจน์ถึงสาเหตุของความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีความเสียหายที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า เพราะมิฉะนั้น จะกลายเป็นว่า มิใช่เป็นการให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิด (สรรพภัย) ไป แต่เป็นให้ความคุ้มครองแบบระบุภัย ยกตัวอย่างเช่น กรมธรรม์ประกันภัยโจรกรรมแทน

 

จึงตัดสินให้ฝ่ายจำเลยในส่วนของบริษัทประกันภัยในช่วงชั้นส่วนเกินรับผิด สำหรับความเสียหายจำนวนเดียวรวมทั้งสิ้น 1,712,779 ดอลลาร์สหรัฐ อันเนื่องจากการขาดหายของสต็อกสินค้าที่เอาประกันภัยดังกล่าว

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Simplexdiam, Inc. v. Brockbank, 727 N.Y.S.2d 64, 68 (N.Y. Sup. Ct. 2001))

 

หมายเหตุ

 

ไม่ว่าจะคงยังมีข้อยกเว้นว่าด้วยความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้าอยู่หรือไม่ก็ตาม

 

ไม่ส่งผลทำให้ผลทางคดีข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก

 

โดยหลักกฎหมาย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแบบเสี่ยงภัยทุกชนิด (สรรพภัย) ผู้เอาประกันภัยมีภาระการพิสูจน์เบื้องต้นด้วยการแจ้งเหตุแห่งความเสียหายที่บังเกิดขึ้นเท่านั้น ต่อจากนั้น บริษัทประกันภัยจะมีภาระการพิสูจน์โต้แย้งว่า เหตุดังกล่าวนั้นมิใช่อุบัติเหตุ หรือตกอยู่ในข้อยกเว้น/ข้อจำกัดอื่นใด หรือกระทั่งเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง/ความจงใจของผู้เอาประกันภัย

 

ขณะที่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยแบบระบุภัย ผู้เอาประกันภัยมีภาระการพิสูจน์เบื้องต้นว่า เหตุแห่งความเสียหายที่บังเกิดขึ้นนั้นเกิดจากภัยที่คุ้มครอง แล้วบริษัทประกันภัยค่อยมีหน้าที่พิสูจน์โต้แย้งเป็นอย่างอื่น   

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น