วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 182 : ปัญหาความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ข้ามพรมแดน

 

(ตอนที่สอง)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาตอนที่แล้ว เป็นกรณีรถคันที่จดทะเบียน และเอาประกันภัยในประเทศสิงคโปร์ ไปเกิดอุบัติทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บ ณ ประเทศมาเลเซีย ก่อให้เกิดประเด็นคำถามไม่มากนัก เพราะทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลสัญชาติเดียวกัน  และได้กลับมาฟ้องคดีในประเทศภูมิลำเนาของตนเอง

 

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่า ความคุ้มครองของการประกันภัยรถยนต์ของประเทศสิงคโปร์ สามารถไปคุ้มครองถึงการเกิดอุบัติเหตุนอกประเทศได้หรือไม่?

 

ณ เวลาที่ฟ้องคดีนั้น ในแง่กฎหมายขณะนั้นไม่อาจทำได้ เพราะทุกประเทศต่างมีหลักกฎหมายของตนเองใช้บังคับอยู่ (หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับแล้ว)

 

แต่ในแง่ข้อตกลงพิเศษระหว่างคู่สัญญาประกันภัยสามารถกระทำได้ และมีผลใช้บังคับได้ เพราะศาลมองว่า เป็นการนำรถยนต์ไปใช้ตางประเทศชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น ขณะที่การใช้รถยนต์คันดังกล่าวตามปกติคงใช้อยู่ภายในประเทศที่จดทะเบียนเป็นหลักอยู่เช่นเดิม

 

ส่วนการฟ้องร้องคดีนั้น ถ้าไม่มีข้อตกลงถึงการเลือกใช้กฎหมาย (Choice of Law) เป็นกรณีพิเศษ โดยหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องละเมิดแล้ว จะอาศัยหลักกฎหมายของสถานที่เกิดละเมิด (lex loci delicti) เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการใช้บังคับกฎหมาย (กรณีข้ามพรมแดน) มากกว่าหลักกฎหมายของศาลที่พิจารณาคดี (lex fori)

 

โชคดี คดีนี้ไม่มีผู้ใดมาร้องคัดค้านอำนาจการพิจารณาคดีของศาล

 

แต่ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลต่างสัญชาติกันล่ะ จะคงยังยึดถือหลักกฎหมายข้างต้นหรือเปล่า?

 

ดั่งเช่นตัวอย่างคดีศึกษาอีกเรื่องหนึ่ง

 

รถคู่กรณีซึ่งเป็นรถจดทะเบียนในประเทศมาเลเซีย และมีผู้ขับขี่เป็นชาวมาเลเซีย (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า “(รถ) คู่กรณี”) ขับไปชนท้ายรถคันหน้าซึ่งจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ และขับขี่โดยชาวสิงคโปร์ (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า “(รถ) ผู้เสียหาย”) จนทั้งรถและผู้ขับขี่ชาวสิงคโปร์นั้นได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินกับร่างกาย อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย ผู้ขับขี่รถคู่กรณีชาวมาเลเซียยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อของตนเอง และได้ถูกลงโทษปรับตามกฎหมายจราจรแห่งประเทศมาเลเซีย

 

ต่อมา ผู้เสียหายได้นำคดีแพ่งขึ้นฟ้องร้องต่อศาลประเทศสิงคโปร์ เพื่อเรียกร้องให้คู่กรณีนั้นมารับผิด สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวแก่ตน

 

บริษัทประกันภัยของรถยนต์คู่กรณีได้เข้ามาต่อสู้คดีแทน โดยลำดับแรกได้ร้องคัดค้านขอให้นำคดีไปฟ้องร้อง ณ ศาลแห่งประเทศมาเลเซียแทนตามหลักกฎหมายว่าด้วยการขอโอนคดีไปยังศาลที่สะดวกกว่า (forum non conveniens) ด้วยเหตุผลว่า

 

(1) สถานที่เกิดเหตุละเมิดนั้นได้อุบัติขึ้น ณ ประเทศมาเลเซีย

 

(2) จำเลยผู้กระทำผิด (คู่กรณี) มีสัญชาติ และภูมิลำเนาอยู่ในประเทศมาเลเซีย

 

อันสอดคล้องกับหลักกฎหมายของสถานที่เกิดละเมิด (lex loci delicti)

 

โจทก์ (ผู้เสียหาย) ตอบโต้ว่า

 

เนื่องด้วยการบาดเจ็บทางร่างกาย และความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของโจทก์ไม่ร้ายแรงนัก จึงได้กลับมายังประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาดูแลอาการบาดเจ็บ และให้อู่ดำเนินการซ่อมแซมความเสียหายดังกล่าว ซึ่งส่งผลทำให้ตนมีพยานบุคคลพร้อมเข้ามาให้การสนับสนุนการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงการสูญเสียรายได้กับค่าขาดประโยชน์อื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 5 ราย ประกอบด้วยแพทย์สองราย และช่างซ่อมรถ ผู้ประเมินความเสียหาย กับตนเองอีกรายละหนึ่ง

 

ขณะที่ฝ่ายจำเลย เท่าที่รับทราบ ไม่ปรากฏมีพยานอื่นใดนอกจากตนเองเท่านั้น

 

ฉะนั้น การจะให้ฝ่ายโจทก์ (พร้อมกับพยานต่าง ๆ) เดินทางไปขึ้นศาลประเทศมาเลเซียนั้น จะส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มเติม และก่อให้เกิดความไม่สะดวกอีกมากมาย

 

ศาลแห่งประเทศสิงคโปร์จึงเป็นศาลที่มีความเหมาะสม และความสะดวกแก่ฝ่ายโจท์มากกว่า

 

ศาลชั้นต้นได้พิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ แล้วมีความเห็นพ้องกับคำร้องขอดังกล่าวของฝ่ายจำเลย ด้วยเหตุผลดังนี้

 

(1) ฝ่ายจำเลยมีสัญชาติมาเลเซีย

 

(2) อุบัติเหตุแห่งการละเมิดเกิดขึ้น ณ ประเทศมาเลเซีย

 

(3) หลักกฎหมายที่ใช้บังคับแก่สิทธิและหน้าที่ของผู้กระทำผิดควรเป็นของประเทศมาเลเซีย (โดยเฉพาะได้มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรแห่งประเทศมาเลเซียลงโทษผู้กระทำผิดไปแล้วด้วย)

 

ส่วนข้อตอบโต้ที่อ้างถึงเรื่องค่าใช้จ่ายกับความไม่สะดวกในการเดินทางนั้น ประกอบการกลับมาเข้ารับการรักษาพยาบาลในบ้านเกิดของฝ่ายโจทก์นั้น ไม่ปรากฏเหตุผลเพียงพอในการรับฟังได้เป็นอย่างอื่น จึงตัดสินเห็นควรให้โอนคดีไปฟ้องที่ศาลแห่งประเทศมาเลเซียแทน

 

ฝ่ายโจทก์ (ผู้เสียหาย) ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

 

ถึงตรงนี้ คุณมีความคิดเห็นเรื่องนี้เช่นไรบ้างครับ? โดยเฉพาะหากนึกจินตนาการตามไปด้วย ถ้าสมมุติเปลี่ยนให้ตัวโจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทยแทน

 

แล้วค่อยไปรับฟังผลการอุทธรณ์สัปดาห์หน้ากันครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น